ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาแนวทางการดูแลเกษตรกรผู้มีสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกายด้วยการดื่มชาชงรางจืดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้แต่ง : นางสาวจุฑามาศ ภูนีรับ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : จากการศึกษาและคัดกรองเกษตรกรในเขตพื้นที่ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร นิยมปลูกข้าว ปลูกอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง นิยมใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้พบสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกายของเกษตรกรสะสมเพิ่มมาขึ้นทุกปี อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ภาวะสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกาย สามารถตรวจพบด้วยการตรวจระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในซีรัมด้วยกระดาษทดสอบพิเศษ (reactive paper) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่มีความจำเพาะเฉพาะสารเคมีในกลุ่มคาร์บาเมตและออร์กาโนฟอสเฟตเท่านั้น ซึ่งสารสองกลุ่มนี้เป็นสารที่นิยมในมาใช้ในการกำจัดแมลงของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรได้รับสารพิษตกค้างของสารเคมีกลุ่มนี้สะสมเรื้อรัง จะทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในร่างกายลดลง ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป ร่างกายของคนเราจะสามารถปรับสภาพให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเวลา 30 วันหากไม่ได้รับสารพิษเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามสมุนไพรรางจืด เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณเด่นในด้านการถอนพิษเบื่อเมา หากสามารถนำมาช่วยขับล้างสารพิษในเกษตรกรได้ก็จะช่วยลดภาวะสารกำจัดแมลงตกค้างในเกษตรกรได้ และเร่งการขับสารพิษออกจากร่างกายให้เร็วขึ้น หากนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้และการป้องกันตนเองจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกร ก็น่าจะสามารถช่วยลดปริมาณและระยะเวลาในการสะสมสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกายได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นแนวคิดในการจัดทำแนวทางการดูแลเกษตรกรที่มีสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกายด้วยการดื่มชาชงรางจืดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อให้ทราบแนวทางการดูแลเกษตรกรที่มีสารกำจัดแมลงตกค้างของประชากรในเขตตำบลนาจำปาและขยายไปสู่ประชากรในอำเภอดอนจาน 2. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของชาชงรางจืดในการขับล้างสารกำจัดแมลงออกจากร่างกาย นำไปสู่การส่งเสริมการปลูกสมุนไพรรางจืดและการนำไปใช้ที่ถูกต้อง  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรในเขตตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านการคัดกรองด้วยแบบคัดกรองความเสี่ยงการสัมผัสสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ในกลุ่มมีความเสียงสูงและกลุ่มมีความเสี่ยงสูงมาก ตรวจเลือดวัดระดับโคลีนเอสเตอร์เรสด้วยกระดาษทดสอบพิเศษ (reactive paper) มีผลอยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย มีคุณสมบัติอื่นๆดังต่อไปนี้ 1. อายุ 20-60 ปี 2. ไม่มีโรคประจำตัว 3. ไม่ได้รับประทานยาใดประจำ 4. ไม่มีการย้ายถิ่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 5. สมัครใจเข้ารับการศึกษา 6. ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 7. ไม่มีประวัติแพ้รางจืดหรือสาระสำคัญในรางจืด  
เครื่องมือ : การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาในประชากรในเขตตำบลนาจำปาที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผ่านการคัดกรองและอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและสูงมาก มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์การคัดเข้าและสมัครใจเข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ ไม่มีโรคประจำตัวหรอรับประทานยาประจำและไม่มีความเสี่ยงอื่นๆที่เป็นปัญหาในการรับประทานชาชงรางจืดเพื่อขับล้างสารกำจัดแมลงตกค้างในร่างกาย จำนวนทั้งหมด 60 ราย แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 ราย กลุ่มที่ 1 รับประทานชาชงรางจืดขนาด 3 กรัม (ขนาดตามที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ฉบับ 4 2556) ชงในน้ำเดือดนาน 5 นาที วันละสามครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น นาน 21 วัน กลุ่มที่สอง รับประทานรางจืดด้วยขนาดและวิธีเดียวกัน แต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีร่วมด้วย ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการตรวจเลือดวัดระดับเอนไซม์ โคลีนเอสเตอรเรสทุกวันที่ 0, 7, 14, และวันที่ 21ของการศึกษา และทำแบบติดตามอาการข้างเคียงจากการรับประทานชาชงรางจืดตลอดการศึกษา  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. คัดกรองเกษตรกรผู้มีความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีในเขตตำบลนาจำปา จำนวน 500 คน ด้วยแบบคัดกรองจากกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับการตรวจวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส 2. แจ้งผลการตรวจให้กับเกษตรกรทราบ 3. ประชาสัมพันธ์และรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมการศึกษา 4. คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 60 คน สอบถามความสมัครใจและขอความยินยอมเข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้ 5. ขออนุมัติจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการศึกษาวิจัยในมนุษย์โรงพยาบาลดอนจาน 6. ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง ติดตามผลจนสิ้นสุดระยะเวลาการศึกษา 7. เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล 8. สรุปรายงานการศึกษา 9. แจ้งผลการศึกษา ผลการตรวจเลือดให้กับอาสาสมัคร คืนข้อมูลให้ชุมชน 10. จัดทำแนวทางการดูแลเกษตรกรที่มีสารกำจัดแมลงตกค้างของตำบลนาจำปา และขยายไปสู่อำเภอดอนจาน  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง