|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในหมู่บ้านจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัย: กรณีบ้านโนนสะอาด ต.ทุ่งคลอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
นีรนาท วิลาศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, ประทุมมาศ ไชยสุนทร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ,คณะ ทีมผู้เรียน DHML ตำบลทุ่งคลอง |
ปี : 2559 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
การมีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำพาประชาชนในสังคมให้สามารถดำรงชีวิต ได้อย่างปกติสุข หากร่างกายและจิตใจอ่อนแอทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มกำลังความ สามารถ ความมั่นคงของรายได้จะลดลง เกิดหนี้สินเพราะนำรายได้ไปชำระเป็นค่ารักษาสุขภาพ การพัฒนาสุขภาพคนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาสุขภาพดีเน้นการดูแล ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสิ้นอายุขัย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มวัยให้มีความพร้อมทั้งร่างกายจิตใจสติปัญญามี ระเบียบวินัย มีจิตสำนึก ดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามและรู้คุณค่าความเป็นไทยมีโอกาสได้แสดงความสามารถและ เรียนรู้ตลอดชีวิตมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังทางสังคมในการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ประชากรไทยสามารถจัดกลุ่มวัยออกเป็น 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน
วัยผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งแต่ละกลุ่มวัยมีสถานการณ์และปัญหาสุขภาพและความต้องการในการแก้ไขที่แตกต่างกัน
กลุ่มสตรีมีสาเหตุการเสียชีวิตจากสาเหตุทางตรง (Direct cause)ที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 56.6 (สรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข, 2558) อัตราส่วนการตายของมารดา ในปี 2555 เท่ากับ 17.6 ต่อการเกิดมีชีพแสนคนและเพิ่มขึ้น ในปี 2556 เท่ากับ 22.3 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน(ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์)ซึ่ง สูงกว่าเป้า หมายให้ลดอัตรามารดาตาย เหลือ 18 ต่อการเกิดมีชีพแสนคนใน พ.ศ. 2558 ซึ่งแสดงว่าแม่ตายยังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ
เด็ก 0 –5 ปี พบว่า พัฒนาการเด็กไม่สมวัย พบว่า เด็กแรกเกิด–2ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 22 และเด็กอายุ 3–5ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 34หรือ 1ใน3 อุบัติเหตุ 23.16 ต่อแสนประชากร(สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2557)
เด็กไทยอายุ 6 -14ปี มีความฉลาดทางอารมณ์เท่ากับ 45.12 ซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ(50 -100)ใน พ.ศ. 2554
พบว่าเชาวน์ปัญญา (IQ) เด็กไทยอายุ 6 -12 ปี มีคะแนนสติปัญญาเฉลี่ยเท่ากับ 98.6 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลเล็กน้อย (IQ=100) เด็กนักเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้น พบว่า เป็นโรคอ้วน จากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม นักเรียนมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์(เตี้ย)ซึ่งมีผลกระทบทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย ป่วยนานและมีความรุนแรง เตี้ยยังมีผลต่อการพัฒนาสมองทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ ความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา
วัยรุ่น (15-21ปี) เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม จากสภาพแวดล้อมทางสังคม ครอบครัวและเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 เท่าของทุกปีมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่อายุ 14 ปี ร้อยละ 9.5 มีมารดาอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงร้อยละ 16.6 เท่าของทุกกลุ่มอายุจะเห็นแนวโน้มของสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอีกมากมาย
วัยทำงาน(15-59ปี)ประชาชนวัยนี้ ป่วยและตายด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น อัตราตายด้วยโรค NCDs สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลอดเลือดหัวใจ 27.83 ต่อแสนประชากรโรคเบาหวานและ ความดันโลหิตสูง 17.93 และ 10.95 ต่อแสนประชากรภาระโรค NCDs ทำให้การสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs เพิ่มขึ้น ตลอดจนประชาชน ชุมชนภาคส่วนต่างๆ เช่น อปท. เอกชน ยังขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาสุขภาพเพื่อการพึ่งตนเองอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน
ผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป) อัตราผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จำนวน 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.57 ของประชากรไทยทั้งหมด จากการสำรวจภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทย ปี 2556 พบว่า ผู้สูงอายุ มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ร้อยละ 26 (ค่าเป้าหมาย 30) มีภาวะอ้วน สูงถึงร้อยละ 50 ในเพศหญิง เนื่องจากการขาดการออกกำลังกาย ซึ่งให้ให้เกิดภาวะพึ่งพิง ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำสูงถึงร้อยละ 20.88 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
กลุ่มผู้พิการถือเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งควรได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดำเนิน ชีวิตให้มากที่สุด เช่นกิจวัตรประจำวัน อาชีพซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้พิการ และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการมีความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิต อย่างมีคุณค่า
หน่วยงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิมีบุคลากรให้บริการประชาชน 7 คน คิดเป็นอัตรา 1: 1,346 คน มีสุขศาลาในเขตรับผิดชอบ 13 แห่ง รับผิดชอบประชากรตำบลทุ่งคลอง ประชากรทั้งสิ้น 9,428 คน แบ่งเป็น กลุ่มเด็กเล็ก 0-5 ปี จำนวน 669 คนคิดเป็นร้อยละ 7.09 วัยเรียน 6-14 ปี จำนวน 899 คน คิดเป็นร้อยละ 9.53 วัยรุ่น จำนวน 948 คน คิดเป็นร้อยละ 10.05 วัยทำงาน 5,899 คน คิดเป็นร้อยละ 62.56 วัยผู้สูงอายุ 886 คน คิดเป็นร้อยละ 9.39 และผู้พิการ 167 คน คิดเป็นร้อยละ 1.77 (ฐานข้อมูลโรงพยาบาลคำม่วง, 2558)มีการจัดบริการสุขภาพที่เพียงพอแต่ยังขาดศักยภาพการให้บริการและการ เข้าถึงบริการที่คลอบคลุมภาวะสุขภาพทุกกลุ่มวัย ระบบบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชนเป็นบริการด่าน หน้าที่ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายภาคีต่างๆในชุมชนและเชื่อมต่อกับบริการระดับ ทุติยภูมิ ตติยภูมิระบบสุขภาพระดับอำเภอโดยเน้นการพัฒนาทีมหมอครอบครัว (Family Care Team)ให้มีครอบคลุม สามารถให้บริการช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุม
การจัดการสุขภาพ มีกระบวนการสร้างสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบทบาทภาคประชาชน ท้องถิ่นและทุกภาคส่วนในท้องถิ่นบูรณาการร่วมกัน ช่วยกันค้นหาหรือกำหนดปัญหาสุขภาพกำหนดอนาคต ดำเนินกิจกรรมพัฒนาสุขภาพและมาตรการทางสังคม รวมทั้งนวัตกรรมต่างๆได้ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ เต็มใจ มีจิตสำนึกสาธารณะ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพดีตาม กลุ่มวัยจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ให้ประชาชนชุมชน หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นภาคีเครือข่ายเป็นเจ้าของสุขภาพและเข้ามามีส่วน ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะชุมชนอย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนให้ประชาชน ทุกกลุ่มวัยมีความรู้พฤติกรรม สุขภาพดี พึ่งพาตนเอง และส่งผ่านกลุ่มวัยต่อไปอย่างมีคุณภาพได้และถือเป็นหน้าที่ของตนเอง
|
|
วัตถุประสงค์ : |
เพื่อพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในหมู่บ้านจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัย |
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้
1 พื้นที่ บ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
2.ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดประชากรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่
2.1 ประชากรบ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 2 จำนวน 146 หลังคาเรือน เป็นเพศชาย จำนวน 296 คน และหญิง จำนวน 331 คน รวมประชากรทั้งสิ้น จำนวน 627 คน
2.2 ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ นายก อบต. รองนายก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ประธาน อสม. สมาชิก อบต. อสม.ผู้นำ และแกนนำชุมชน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในการจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการสุขภาพชุมชน
|
|
เครื่องมือ : |
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
ประยุกต์ใช้แนวคิด UCCARE ได้แก่ U: Unity สมาชิกทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันC: Community ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางการทำงาน A: Appreciation ผ่านกระบวนการชื่นชม ยกย่องให้เกียรติ เสริมกำลังใจให้กันและกันR: Resource sharing การพัฒนาร่วมกันที่มีการแบ่งบันทรัพยากรร่วมกัน E: Essential Care เน้นสิ่งที่เป็นปัญหาสุขภาพ ในบริบทของพื้นที่
เครื่องมือที่ใช้และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษา
1. แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง เป็นการสนทนาแบบไม่เป็นทางการ คำถามเป็นปลายเปิด
2. แบบจดบันทึก เป็นการจดบันทึกพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น ตามสภาพที่เป็นจริง
3. การใช้วิดีทัศน์ บันทึกพฤติกรรมทั้งภาพและเสียง จากสิ่งที่ได้ค้นพบทุกขั้นตอน
4. การใช้สังคมมติ เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงสังคม ผ่านเวทีประชาคมประชาชนทุกกลุ่มวัย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงในการวางแผนต่อไป
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
วิธีดำเนินการศึกษา
1.การวางแผน(Planing) เริ่มต้นด้วยการทำทีม(Unity)สมาชิกทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน สำรวจค้นหาปัญหาชุมชน โดยเน้นสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จิงตามสภาพของชุมชน และรวมวิเคราะห์ระหว่างผู้ศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง(Community & Customer focus) กระบวนการชื่นชม ยกย่องให้เกียรติ เสริมกำลังใจให้กันและกัน(Appreciation) การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมโดยใช้ทรัพยากรและบริการสุขภาพที่มีคุณภาพที่มี ตามบริบท (Resource sharing & Essential Care)
2.การลงมือกระทำจริง(Action) นำแนวคิดที่กำหนดในขั้นตอนการวางแผนมาดำเนินการตามสภาพปัญหาที่ค้นพบ และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงมือกระทำตามแผน โดยแผนมีความยืดหยุ่น ปรับได้ตามบริบทของพื้นที่
3.การสังเกต(Observation) เป็นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการสังเกตการลงมือปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติ ทั้งด้านการมีส่วนร่วมของทีม ประชาชนตามกลุ่มวัย ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่คาดหวังและไม่คาดหวัง โดยใช้เครื่องมือในการศึกษาที่กำหนดไว้ตามบริบทของกลุ่มเป้าหมาย
4.การสะท้อนผลปฏิบัติ(Reflecting) ตลอดจนการปรับปรุงแผน (Re-planning) ผู้ศึกษาทำการประเมินและตรวจสอบกระบวนการแก้ไขปัญหา สิ่งที่เป้นข้อจำกัด อุปสรรค ต่อการปฏิบัติ โดยวิเคราะห์ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการประชุม อภิปรายผล การประเมินโดยกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงวงจรใหม่ต่อไป
วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
1. การทบทวนหลังปฏิบัติ(After action review: AAR) ระหว่างผู้ศึกษา ทีมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อถอดบทเรียน ประสบการณ์ สิ่งที่สังเกต ความรู้สึก ก่อนและหลัง เสร็จกระบวนการแต่ละกิจกรรม
2. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ความถี่ วิเคราะห์เชิงเนื้อหา ข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูล
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
1. ข้อมูลทั่วไป
บริบทองค์กรและพื้นที่
ตำบลทุ่งคลอง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 9,428 คน เป็นตำบลที่ตั้งของอำเภอคำม่วงและสถานที่ราชการต่างๆ ลักษณะสังคมเป็นสังคมชนบทกึ่งเมืองครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนจึงประกอบอาชีพหลากหลาย ได้แก่ทำนา ทำไร่อ้อยปลูกผัก ยางพารามันสำปะหลังทำสวนผลไม้ เช่นพุทรา มะม่วง ฯลฯ มีอาชีพเสริม ได้แก่งานหัตถกรรม ทอผ้าไหมแพรวาผ้าขิตจักสานและอาชีพรับจ้างเป็นต้น จึงมีเศรษฐกิจดีคนในชุมชนดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายมีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีมีบ้านที่มั่นคง มีรถยนต์ใช้และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีร้านค้าสะดวกซื้อมากขึ้น
ชุมชนตำบลทุ่งคลอง มีทุนทางสังคมมากมายทั้งด้านภูมิปัญญา แหล่งประโยชน์ ภูมิประเทศที่ดี ศักยภาพผู้นำชุมชน อสม.การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่าย/หน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชน ได้แก่ โรงเรียน โรงงานน้ำตาลอีสาน วัด สำนักงานเกษตร การศึกษานอกโรงเรียน ความคิดความเชื่อที่ปฏิบัติตามกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หากใครว่าดี ก็จะปฏิบัติตามกัน ครอบครัวประชาชนส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาพุทธมีการทำบุญตามประเพณีและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่ อย่างเคร่งครัดด้านภาษา ชาวตำบลทุ่งคลอง มีภาษาใช้ในท้องถิ่น 2 ภาษา คือ ภาษาไทยอีสานและภาษาภูไท มีความเชื่อและพิธีกรรมผสมผสานศาสนาพุทธกับความเชื่อด้านภูตผีวิญญาณมีสถาน ที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายแห่ง
บริบทองค์กร: โรงพยาบาลคำม่วง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 84 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ระดับทุติยภูมิ 2.1 สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้บริการจริง 54 เตียง บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 350 คน/วัน ผู้ป่วยในเฉลี่ย 40 คน/วัน รับผิดชอบประชากรในเขตการปกครองของอำเภอคำม่วงทั้งหมด 6 ตำบล
71 หมู่บ้าน โรงพยาบาลคำม่วง มีเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 7 แห่ง สุขศาลาจำนวน 71 แห่ง
ข้อมูลสถิติชีพตำบลทุ่งคลอง2 ปี(พ.ศ.2557-2558) มีอัตราเกิดต่อพันประชากร คิดเป็น 8.24 และ 6.49 อัตราตายต่อพันประชากร คิดเป็น5.71 และ 8.30 ตามลำดับสาเหตุการตายของประชากร อันดับ อันดับ 1โรคหัวใจและโรคไหลเวียนโลหิตอื่น ๆคิดเป็น 35.91 อันดับ 2โรคเบาหวาน คิดเป็น 16.67ตำบลทุ่งคลอง มีข้อมูลประชากรจำแนกตามกลุ่มวัย กลุ่มเด็ก จำนวน 669 คน ร้อยละ 7.1 กลุ่มสตรีมีครรภ์ จำนวน 38 คน ร้อยละ 0.4 กลุ่มวัยเรียน จำนวน 889 คนร้อยละ 9.5 กลุ่มวัยรุ่น จำนวน 948 คน ร้อยละ 10 กลุ่มวัยทำงานจำนวน 5899 คนร้อยละ 62.6 กลุ่มวัยสูงอายุ จำนวน 1085 คน ร้อยละ11.5 กลุ่มพิการ จำนวน 167 คน ร้อยละ 1.7ปี พ.ศ.2558 อัตราป่วยผู้ป่วยนอก อันดับที่ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง 6271.3 ต่อประชากรแสนคนอันดับที่ 2 โรคเบาหวาน มีอัตราป่วย 4109.9 ต่อประชากรแสนคน อันดับ 3 คือ สุขภาพจิตจากสารเสพติด มีอัตราป่วย 2204.0 ต่อประชากรแสนคน ข้อมูลการเจ็บป่วยผู้ป่วยใน อันดับ 1 โรคท้องเสีย(Gastroenteritis and colitis) 530.3 9ต่อประชากรแสนคน อันดับ 2 คือ โรคเบาหวาน อัตราป่วย 318.21 ต่อประชากรแสนคน และอันดับ 3 คือ Dyspepsia มีอัตรา 222.74 ต่อประชากรแสนคน
ข้อมูลพื้นที่บ้านโนนสะอาด หมู่ ที่ 2 ตำบลทุ่งคลอง อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งคลอง( อบต.) มีจำนวน 146 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 627 คน เป็นชาย 296 คน คิดเป็นร้อยละ 47.21 เป็นเพศหญิง จำนวน 328 คน คิดเป็นร้อยละ 52.79 เมื่อจำแนกตามกลุ่มวัย แบ่ง เป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็ก จำนวน 37 คนร้อยละ 5.9 กลุ่มสตรีมีครรภ์ จำนวน 2 คน ร้อยละ 0.3 กลุ่มวัยเรียน จำนวน 57 คนร้อยละ 9.09 กลุ่มวัยรุ่น จำนวน 63 คน ร้อยละ 10.04 กลุ่มวัยทำงานจำนวน 326 คน ร้อยละ 51.99 กลุ่มวัยสูงอายุ จำนวน 87 คน ร้อยละ13.8 กลุ่มพิการ จำนวน 28 คน ร้อยละ 4.46 ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำไร่ รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษา ข้อมูลการสำรวจปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่แบ่งตามกลุ่มวัย ได้ดังนี้
เด็ก 0-5 ปี ขาดสารอาหาร จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 29.7 เด็กวัยเรียน น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จำนวน 4 คน ร้อยละ 11.76 เตี้ย จำนวน 12 คน ร้อยละ 35.29 ผอม จำนวน 18 คน ร้อยละ 52.94 และอ้วน จำนวน 4 คน ร้อยละ 11.76 วัยรุ่น ส่วนใหญ่เรียนไม่จบ ติดสารเสพติด จำนวน 10 คน ร้อยละ1.59 มีพฤติกรรมก้าวร้าว ขับขี่รถอันตราย จำนวน 12 คน ร้อยละ 1.91 และท้องอายุต่ำกว่า 17 ปี จำนวน 1 คน ร้อยละ 0.16 วัยทำงานมีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป เดิมเคยนำมาจากสวนที่ปลูกรับประทานเองเป็นซื้อรับประทานเพื่อความสะดวกและ เร่งรีบแต่มีที่น่าสังเกตสำหรับชุมชนนี้ คือ ประชาชนมีความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆบ่อยๆ จากข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้ป่วยนอก พบว่า คนในชุมชนเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 46 คน มีอัตราป่วย 73.36 ต่อประชากรพันคน อันดับที่2 โรคเบาหวาน อัตราป่วย 41.5 ต่อประชากรพันคน กลุ่มเสี่ยงความดัน จำนวน 60 คน ร้อยละ 26.6 กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน จำนวน 3 คน ร้อยละ 1.3 เสี่ยงหลอดเลือดสมอง จำนวน 58 คน ร้อยละ 25.7 ผู้สูงอายุ มีข้อจำกัดทางสุขภาพมากขึ้น ติดเตียงจำนวน 3 ราย ติดบ้าน จำนวน 11 ราย มีความเสื่อมตามวัย ด้านการมองเห็น จำนวน 9 คน ร้อยละ11.25 ด้านการได้ยิน จำนวน 9 คน ร้อยละ 11.25 สุขภาพปากและฟัน จำนวน 47 คน ร้อยละ 58.7 เข่าเสื่อม จำนวน 10 คน ร้อยละ 12.50 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จำนวน 20 คน ร้อยละ 25 เสี่ยงหกล้ม จำนวน 11 คน ร้อยละ 13.7และมีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคตับ เพิ่มมากขึ้น ผู้ด้อยโอกาส ขาดผู้ดูแล 6 ครอบครัวจากข้อมูลภาวะสุขภาพ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปัญหาสุขภาพที่จะนำไปสู่ความอ่อนแอและเกิดภาวะพึ่ง พาเพิ่มมากขึ้นในชุมชน ซึ่งชุมชนควรหันกลับมาให้ความสำคัญและร่วมกันวางแผนการดูแลแต่ละกลุ่มวัยใน ชุมชน
2.การมีส่วนร่วมของชุมชน
1.1 ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของการวางแผน(Planing) โดยผู้ศึกษา ได้เริ่มต้นการสร้างทีมสุขภาพในชุมชนบ้านโนนสะอาด (Unity Team) ผลพบว่า มีเครือข่ายทีมสุขภาพ ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน อสม.ในหมู่บ้าน สอบต. ครู ประธานอสม. และพยาบาลประจำหมู่บ้าน รวม 15 คน เรียกชื่อ “ทีมสุขสำราญ โมเดล” ในการประชุมทุกครั้งทีมสุขภาพมีการแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ วางแผน ออกแบบกิจกรรม จนเกิดแนวคิดการพัฒนาสุขภาพของชุมชนขึ้น และประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ในเป้าหมาย " โนนสะอาดชุมชน 4 ดี (คนดี สุขภาพดี รายได้ดี สิ่งแวดล้อมดี) มีความสุขแบบพอเพียง ในปี 2560 และมี ข้อตกลง 6 หัวข้อสำคัญ ได้แก่
ข้อตกลงที่ 1 ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทุกวันที่ 15 ของเดือน
ข้อตกลงที่ 2 หญิงตั้งครรภ์และมารดา ใส่ใจตนเองและลูกหลานร่วมสร้างสายใยรักแห่งครอบครัว
ข้อตกลงที่ 3 นักเรียนแก้มใส อนามัยดี๊ดี
ข้อตกลงที่ 4 วัยเรียนและเยาวชนสดใส อนามัยดี มีจิตอาสา
ข้อตกลงที่ 5 ประชาชนและผู้นำชุมชน เป็นต้นแบบ
ข้อตกลงที่ 6 คนโนนสะอาด เอื้อาทร ช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งกัน”
1.2 ชุมชนร่วมค้นหาปัญหาและสามารถสังเคราะห์ ปัญหาสุขภาพรายกลุ่มวัยได้ (Customer Focus) ผลการศึกษา พบว่า ทีมสุขภาพได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบการศึกษาชุมชนและพฤติกรรมสุขภาพตามกลุ่มวัย ค้นหาปัญหาที่แท้จริงของบุคคล ครอบครัวและชุมชน นำไปสู่การประชาคม มีตัวแทนประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้าร่วมกิจกรรม พบ ประเด็นปัญหา ได้แก่ ความยากจน ถนนมืด ไฟไม่สว่าง ขาดแคลนน้ำ ขาดความสามัคคี ราคาพืชตกต่ำรายได้ต่ำ ฯลฯ เด็กป่วยบ่อยและขาดสารอาหาร เยาวชนวัยรุ่นไม่มีเหตุผล ไม่มีภูมิคุ้มกัน เรียนไม่จบ ติดสารเสพติด เพศหญิงตั้งครรภ์ไม่กล้าแสดงตัว ครอบครัวกังวล เพศชายก้าวร้าว รุนแรง ผู้สูงอายุเหงา เจ็บป่วย น้อยใจ ไม่เคยมีกีฬาในชุมชน ฯลฯ เมื่อรับทราบปัญหา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับในชุมชนโนนสะอาด ได้เข้ามาร่วมกันจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนที่ค้นพบ มีการแบ่งหน้าที่เจ้าภาพในการทำงานตามขอบเขตความรับผิดชอบแต่ละด้าน
1.3 ชุมชนร่วมลงมือปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา(Community participation)สุขภาพตามกลุ่มวัย ผลพบว่า
ข้อตกลงที่1.) หลังคาเรือนร่วมปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปลูกพืชผักสวนครัว ทำความสะอาดพื้นที่บ้านของตน
ข้อตกลงที่ 2.) หญิงตั้งครรภ์และมารดา ใส่ใจตนเองและลูกหลาน ผลพบว่า 1 เดือนหลังการเข้าเรียนรู้ เด็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำกว่าเกณฑ์ 11 คน ลดลงเป็น 5 คน ผู้ปกครองเล่าว่า “ เอาความรู้ไปใช้ บ่ป้อนขนม หาอาหารที่ดีให้ ลูกกินได้ดีขึ้น” ปัจจุบันเด็กยังขาดสารอาหาร 5 คน เนื่องจาก เด็กอาศัยอยู่กับยายและความผิดปกติทางพันธุกรรม
ข้อตกลงที่ 3.) นักเรียนแก้มใส อนามัยดี๊ดี ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ประกาศนโยบายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ บูรณาการกิจกรรม 4 ดี เพิ่มเวลารู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการสุขภาพเบื้องต้น เรื่อง การควบคุมโรคไข้เลือดออก การควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ พบว่า มีนักเรียนอาสาสมัครเป็นแกนนำสุขภาพให้บริการในชุมชน ได้แก่ นวดเท้าผู้สูงอายุ สำรวจลูกน้ำยุงลายร่วมกับอสม. เป็นแกนนำป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับให้ความรู้ผู้ปกครอง
ข้อตกลงที่ 4) วัยเรียนและเยาวชน ร่วมกันจัดกิจกรรมกีฬาโนนสะอาดสัมพันธ์ ต้านยาเสพติด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 โดยมีประชาชนทุกกลุ่มวัยมาร่วมแข่งกีฬา และเวทีการประชุมครอบครัวอบอุ่น หลักสูตรบูรณาการ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 มีกลุ่มเสี่ยงวัยรุ่น จำนวน 25 คนเข้าร่วมประชุม ผลพบว่า เกิดกลุ่มออกกำลังกายเพิ่มขึ้นในชุมชน ได้แก่ กลุ่มตะกร้อ มวยไทย วิ่ง ฟุตบอล วอลเลย์บอล เปตองในผู้สูงอายุ เป็นต้น
ข้อตกลงที่ 5) ประชาชนและผู้นำชุมชน เป็นต้นแบบสุขภาพดี ผลการติดตาม 3 เดือน พบว่า กลุ่มเสี่ยงจำนวน 63 คน เข้าร่วมกิจกรรมปรับเปลี่ยน จำนวน 15 คน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก รอบเอว ค่าดัชนีมวลกาย
ข้อตกลงที่ 6) คนโนนสะอาด เอื้ออาทร ช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งกัน วันที่ 12 มีนาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้คัดเลือกผู้ด้อยโอกาส จำนวน 6 คน และร่วมวางแผนการดูแลโดยการจัดตั้งทีมหมอครอบครัวชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. ประธานอสม. ร่วมออกเยี่ยมดูแล ช่วยเหลือ ให้กำลังใจผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง พบว่า ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ทำให้มีอาการดีขึ้น ในครอบครัวและชุมชนได้รับบริการติดตามดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่บ้าน การแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุทางการเคลื่อนไหว โภชนบำบัด โดยการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้ดูแลและอผส. และสามารถขอรับคำปรึกษาในกรณีซับซ้อนจากทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาล
1.4 ชุมชนร่วมประเมินผลและร่วมชื่นชมผลงาน (Appreciation and engagement) พบว่า ผู้นำชุมชนได้เสริมสร้างกำลังใจ เชิดชู ตามกลุ่มวัย ได้แก่ การมอบของขวัญรางวัลแก่สตรีและมารดา ที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จและมีภาวะโภชนาการปกติ การมอบของขวัญในวันสำคัญ การจัดพิธีสำคัญทางศาสนาเพื่อขอขมาและอวยพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ พร้อมมอบรางวัล เกียรติบัตรแก่บุคคลต้นแบบ
ทีมสุขภาพ กล่าวยกย่องและเชิดชูผู้นำชุมชนในเวทีการคืนข้อมูลระดับตำบล และอำเภอ ส่งผลให้บ้านโนนสะอาดได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาเป็นหมู่บ้าน 3 ดี และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านโนนสะอาดเกิดความมีคุณค่าและเป็นที่ชื่นชมในระดับตำบล
1.5 ชุมชนร่วมจัดการดูแลสุขภาพ ผลพบว่า ภาวะสุขภาพโดยรวมของประชาชนดีขึ้น ประชาชนร่วมจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในสุขศาลา รวมถึงารปรับปรุงอาคารสถานที่และการให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมส่งเสริม สุขภาพ ผู้นำชุมชน อสม.มีความเข้าใจและใส่ใจ สามารถสังเกตเห็นพฤติกรรมสุขภาพที่ผิดปกติของประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหา ส่งต่อการรักษาได้อย่างเหมาะสม ครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้องรัง ผู้สูงอายุ ให้ความร่วมมือในการควบคุมอาการกำเริบ จนสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข
การอภิปรายผล
การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัยต่างๆเพื่อ นำไปใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่พบมากขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้น การได้รับความรู้ การมีส่วนร่วมในการคิดวางแผน ค้นหาปัญหาของชุมชน ลงมือปฏิบัติ ประเมินผลและ สะท้อนผลการปฏิบัติ โดยนำข้อมูลปัญหาชุมชน ที่จำเป็นมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจและร่วมรับผิดชอบ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วมของ ชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืนได้ ผู้ศึกษาอภิปรายผลได้ดังนี้
1.การวางแผนแบบมีส่วนร่วมของทีมสุขภาพ ก่อนการศึกษาไม่สามารถวางแผน/โครงการได้เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลปัญหาที่แท้ จริงของชุมชนเมื่อได้เข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทีมในรูปแบบการศึกษาดู งาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประชุมกลุ่ม การคืนข้อมูล การร่วมคิดวิเคราะห์ปัญหา จึงนำไปสู่การวางแผน ร่วมคิดแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความรู้และเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลที่มาจากการปัญหาและความต้องการของชุมชนที่แท้ จริงและทีมสุขภาพได้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองมีความรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง จึงเกิดความร่วมมือของสมาชิกทีมทำให้ผลการศึกษามีคุณค่าและคุณภาพเกิด ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและชุมชน ซึ่่งการวิจัยของธงชัย พุ่มชลิต(2547) พบว่าการให้ความสำคัญในการวางแผน ปฏิบัติ ปรับปรุง ประเมินผลในระดับมากทุกด้าน ส่งผลต่อคุณภาพของงานระดับมาก
2.การร่วมลงมือปฏิบัติ และสะท้อนผลการปฏิบัติ ของประชาชนบ้านโนนสะอาด เริ่มจากได้รับข้อมูล ความรู้ จึงเกิดความเป็นเจ้าของปัญหาเพิ่มขึ้น จากการสะท้อนปัญหาด้านต่างๆตามกลุ่มวัย ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการร่วมแสดงความคิดเห็น วางแผน ฝึกปฏิบัติ ตรวจสอบ สะท้อนความรู้สึก ซึ่งองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพแต่ละกลุ่มวัยมีความแตกต่างกันตาม ปัญหาที่ค้นพบ เมื่อความรู้ ถูกต้องกับปัญหา จึงนำไปสู่ความร่วมมือในการนำไปใช้อย่างถูกต้อง ผลที่ดีจึงเกิดต่อสุขภาพประชาชน ที่ดีขึ้น ดังการศึกษาของเสกสันติ์ จันทนะ(2551) พบว่า การประยุกต์การจัดการสุขภาพโดยใช้วงจรคุณภาพ P-D-C-A กระบวนการกลุ่ม ให้คำแนะนำแบบมีส่วนร่วม การติดตามเยี่ยมบ้าน มีผลเพิ่มการรับรู้โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน การรับรู้ความรุนแรง การรับรู้ประโยชน์เพิ่มขึ้น และมีผลให้มีพฤติกรรมสุขภาพทีดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคได้ดีขึ้น.
3.การร่วมประเมินผลของชุมชน มีการวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน การกำกับ ติดตาม ประเมิน การให้คุณค่า เชิดชู เครือข่ายจึงเกิดการมีส่วนร่วม ดำเนินการโดยชุมชนมีการวางแผนร่วมกัน โดยใช้ช่องทางเวทีประชาคม ประชุมกลุ่ม ฝึกปฏิบัติการ ปรึกษาหารือ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในการร่วมแก้ไข ชุมชนเกิดความเข้าใจต่อบทบาทของตนเอง จึงเข้ามาร่วมและให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตามบริบทที่สามารถทำได้ การศึกษาของสมเกียรติ ออกแดง(2554) พบว่าการมีส่วนร่วมของแกนนำภาคีเครือข่ายสุขภาพในการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพ เมื่อได้รับความรู้ แนวคิดการพัฒนา แรงจูงใจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพจึงเพิ่มขึ้นจากก่อนการ ศึกษา
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
1. การศึกษารูปแบบการพัฒนาการมีส่วนร่วมนี้ ควรประกอบด้วยกระบวนการวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนการปฏิบัติ เพื่อให้เห็นข้อปรับปรุงในการนำมาพัฒนาในวงล้อต่อไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องกระทำเวียนซ้ำๆจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่มุ่งหมาย โดยเน้นการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติเตียนของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลภายนอก แล้วนำมาพัฒนา เพราะเป็นข้อค้นพบที่สำคัญของการศึกษาพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด
2.ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและประชาชนในการ จัดการสุขภาพ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับท้องถิ่นและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องค้นหาแนวทางในการ แก้ไขและพัฒนาส่วนขาด ด้วยความจริงใจ มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและยั่งยืน การประกาศนโยบาย การคืนข้อมูล การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติ ประเมินผล สะท้อนการปฏิบัติ เป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ตลอดจนการยอมรับ ชื่นชม ยกย่อง ในผลงานที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสพัฒนาให้เกิดความรู้ และทักษะ ในการคิดและร่วมลงมือของชุมชน
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ไม่มีเอกสารแนบ
|
|
|
|
|