ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : คุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นฤชล วิชัยโย นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ, ประทุมมาศ ไชยสุนทร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ประเทศไทยมีเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จำนวนมาก ถ้ามองจากมุมการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิของเด็กผู้หญิงเหล่านี้ถูกปฏิเสธทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ การศึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว เช่น การเติบโตของสังคมเมืองและสังคมคนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางเลือกและการพัฒนาสื่อทางเทคโนโลยีต่างๆมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เด็กและวัยรุ่นกลับไม่ได้รับความรู้อย่างเหมาะสมกับวัยของพวกเขาอย่างเพียง พอเพื่อให้สามารถรับมือและป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ บทเรียนเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาที่ไม่ได้รับการปฏิรูป ทัศนคติเชิงลบต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานโดยไม่ให้ทางเลือกอื่นกับเด็ก วัยรุ่น ผู้ปกครองไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาเรื่องเพศให้กับลูกๆได้ หรือความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นบางแห่งที่เห็นว่าเด็กหญิงวัยรุ่นมีหน้าที่ แต่งงานสร้างครอบครัวแทนที่จะเรียนหนังสือ หรืออิทธิพลของกระแสวัตถุนิยมที่ทำให้เด็กวัยรุ่นบางคนใช้ความสัมพันธ์ทาง เพศเพื่อการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ตนต้องการโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงผล กระทบที่ตามมาจากการไม่มีความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ตลอดจนขาดความตระหนักและไม่รู้ว่าตนต้องการความรู้ การบริการ และการช่วยเหลือทางสังคมและสุขภาพอย่างไร ปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยทางด้านครอบครัว การศึกษาตลอดจนบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จำนวนมาก วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งอาจทำแท้ง จากสถานการณ์ที่บังคับ ส่วนหนึ่งอาจเลือกตั้งครรภ์ต่อไปจนคลอดกลายเป็น “แม่วัยใส” ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็ตาม รายงานวิจัยจำนวนมากยืนยันตรงกันว่าวัยรุ่นยังเป็นวัยที่ไม่พร้อมสำหรับการ ตั้งครรภ์และการเป็นแม่ ดังนั้นการเป็นแม่วัยใสจึงถือว่าเกิดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเพราะแต่งงานหรือตั้งใจจะตั้งครรภ์ก็ตามการเปลี่ยนบทบาทจากวัย รุ่นมาเป็นแม่วัยใส ล้วนทำให้โอกาส ของตัววัยรุ่นเอง ครอบครัว สังคม สูญเสียไป ไม่สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่เกิดขึ้นต่อวิถี การดำเนินชีวิต คุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจได้ วัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่ตั้งครรภ์และเป็นแม่วัยใส มักต้องแยกทางกับคู่ในที่สุดทำให้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาตามลำพัง เกิดสภาวะความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทำให้เครียดและอาจมีภาวะซึมเศร้า เด็กผู้หญิงหลายคนต้องปกปิดเรื่องการตั้งครรภ์ต่อผู้ปกครองและคนรอบตัว จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตและเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์และคลอด รวมทั้งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทารก ถ้าน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน คลอดก่อนกำหนด ทารกมีภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตหลังคลอด จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลคำม่วงจึงได้ศึกษาคุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึง ประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นและทำให้ทราบบริบทของหญิงวัยรุ่นในตำบล ทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 30 คน เป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 12 -17 ปี ที่ตั้งครรภ์และมารับบริการที่คลินิกฝากครรภ์โรงพยาบาลคำม่วง ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2558- เดือนตุลาคม 2559 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือหญิงวัยรุ่นอายุ 12 -17 ปี ที่ตั้งครรภ์และมารับบริการที่คลินิกฝากครรภ์โรงพยาบาลคำม่วง ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2558 – เดือนตุลาคม 2559 ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (purposive) จำนวน 10 ราย โดยผู้ที่ให้ข้อมูลแบบคัดเลือกแบบจำเพาะเจาะจง โดยพิจารณาจาก 1. ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงข้อมูล 2. ความเต็มใจของการให้ข้อมูล 3. ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ  
เครื่องมือ : เครื่องมือการวิจัย ผู้วิจัยเป็นผู้สัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์คำถามแบบปลายเปิด (Open end questions)  
ขั้นตอนการดำเนินการ : วิธีดำเนินการ 1.ศึกษาข้อมูลและเอกสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้อง 2. เก็บข้อมูลภาคสนามโดยผู้วิจัยสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้ที่จะทำการศึกษา และใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง (Simi-Structured Interview) ซึ่งมีการวางแผนและกรอบคำถามในการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นตอน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ผู้วิจัยสามารถตั้งคำถามขึ้นมาขณะที่ทำการสัมภาษณ์ โดยยึดสาระสำคัญของแต่ละประเด็นคำถามที่เตรียมไว้ และเนื่องจากการสัมภาษณ์เป็นเรื่องปกปิด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวช่วยทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่ลำบกใจ ในการสนทนา 3. เมื่อได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบกว้าง จากนั้นจะใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการสัมภาษณ์รายบุคคล (Individual Interview ) โดยคำถามที่ใช้จะเชื่อมโยงเข้าสูประเด็นที่ต้องการ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ลึกขึ้น นอกจากนี้ยังใช้วิธีการสังเกต (Observation) ร่วมด้วย เช่น การสังเกตสีหน้า ท่าทางของผู้ถูกสัมภาษณ์ 4. รวบรวมข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงกับประเด็นที่ต้องการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ มีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (triangulation)  
     
ผลการศึกษา : คุณภาพชีวิตที่ดีนั้นประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1) ด้านร่างกาย ได้แก่ โครงสร้างทางร่างกายและสุขภาพร่างกาย รวมถึงด้านบุคลิกภาพด้วย จากการศึกษาพบว่า หญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มีอาการเหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย รูปร่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี “ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมไม่ได้ เหนื่อยง่าย นอนก็เยอะ อ้วนขึ้น ไม่สวยเหมือนเดิม” (หญิงวัยรุ่นคนที่ 1, 14 ปี ) 2) ด้านจิตใจ ได้แก่ สภาพจิตใจและสุขภาพจิต รวมถึงด้านคุณธรรมและจริยธรรมด้วย จากการศึกษาพบว่า หญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ยังไม่สามารถปรับตัวได้ อีกทั้งมีความกังวลต่อรูปร่างและการตั้งครรภ์ ตลอดจนการคลอด มีความกลัวและไม่มั่นใจทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ “กลัวว่าจะคลอดลูกเองไม่ได้ ถ้าคลอดแล้วยังไม่รู้จะเลี้ยงดูอย่างไร เวลามาฝากท้องก็อายถ้าเจอคนรู้จัก” (หญิงวัยรุ่นคนที่ 2, 16 ปี ) “บางทีก็แอบร้องไห้ เสียใจ โทษตัวเองที่ทำผิดพลาดไป กลัวด้วยว่าจะคลอดลูกไม่ได้” (หญิงวัยรุ่นคนที่ 3, 17 ปี ) 3) ด้านสังคม ได้แก่ สถานะทางสังคม ยศ ตำแหน่ง เกียรติยศชื่อเสียง การยอมรับนับถือ รวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยจากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่ทำการ ศึกษาเป็นชุมชนชนบท คนในชุมชนมีความเอื้อเฟื้อ และทุกคนรู้จักกันเกือบหมด มีการนินทาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การอยู่กับเพศชายก่อนแต่งงาน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ในระยะแรกที่คนในชุมชนทราบเรื่องของตน สังคมไม่เห็นด้วยและมีการนินทา แต่เมื่อเจอกันนานเข้าบ่อยก็กลายเป็นเรื่องปกติ มีบางคนที่ครอบครัวอับอายแต่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน โดยเฉพาะครอบครัวของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่พ่อหรือแม่รับ ราชการ หรือมีตำแหน่งทางหมู่บ้านอื่นๆ “แม่เป็น อสม. และก็รู้สึกอายที่เราท้อง งานบุญที่แม่เคยไปแม่ก็หลีกเลี่ยงไม่ไป แกบอกว่าอายชาวบ้าน” (หญิงวัยรุ่นคนที่ 4, 16 ปี ) “ทีแรกชาวบ้านก็มีซุบซิบนินทา ไม่กล้าถาม พอเจอบ่อยๆ เห็นท้องเราโต พวกเขารู้ ก็เลิกนินทา” (หญิงวัยรุ่นคนที่ 5, 15 ปี ) 4) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจการเงินและรายได้ที่มั่นคง จากการศึกษาพบว่าหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ยังเป็นนักเรียนทั้ง 10 ราย และต้องออกจากโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวคลอด ไม่มีรายได้ยังต้องพึ่งพิงจากผู้ปกครองมีฐานะปานกลาง รายได้ต่อเดือนของผู้ปกครอง 3,000 บาท ถึง 25,000 บาท ส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลใจอะไรเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย มีเพียง 3 คน ที่กังวลเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ “สงสารแม่คงต้องทำงานหนักขึ้น เพราะถ้ามีลูกคงต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น”(หญิงวัยรุ่นคนที่ 5, 15 ปี )  
ข้อเสนอแนะ : 1. การศึกษาคุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สามารถใช้เป็นแนวทางให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่ พึงประสงค์ ในการดูแลและให้การปรึกษาด้านจิตใจได้ 2.การวิจัยครั้งนี้พบว่าคุณภาพชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึง ประสงค์ ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการแก้ปัญหาหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงต้องมุ่งเน้นไปที่ความต้องการจริงๆของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึง ประสงค์ 3.ศึกษาความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ของวัยรุ่นชาย ที่ต้องเป็นพ่อวัยรุ่นต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ 4.ติดตามผลการศึกษาหลังจากการเลี้ยงลูกของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ 2 ปี เพื่อดูคุณภาพชีวิตโดยรวม  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ