ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง หอผู้ป่วยชายโรงพยาบาลเขาวง
ผู้แต่ง : นางสาวสังวาลย์ เพริดพราว, นางนงนุช ศรีวะโสม, นางสาววัลยา ภาคเพียร, นางสาวศรีประไพ จิตปรีดา ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิต วิญญาณ เป็นการดูแลที่ต้องอาศัยทีมสหสาขาวิชาชีพโดยยึดผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง การดูแลที่ดีช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบมีเกียรติสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ครอบครัวสามารถใช้ชีวิตช่วงวิกฤติกับผู้ป่วยไปอย่างราบรื่น จากสถิติข้อมูลผู้ป่วยในชาย โรงพยาบาลเขาวง ปีงบประมาณ 2556-2559 พบผู้ป่วยระยะสุดท้ายเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยชาย ดังนี้ 13 ,32 ,31 และ36 ราย ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ2559 พบว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพตามระดับ PPS ร้อยละ91.66 ผู้ป่วยและครอบครัวพึงพอใจต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายร้อยละ 90 ได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านร้อยละ 75 จากการสังเกตจากการปฏิบัติงาน การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง แนวทางการประเมินเพื่อการดูแลไม่เป็นแนวทางเดียวกัน การประเมินผู้ป่วยไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะด้านสังคมและจิตวิญญาณ มีการปฏิบัติที่หลากหลายไม่เป็นแนวทางเดียวกัน เจ้าหน้าที่บางคนยังขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองหน่วยงานจึงได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับบริการครอบคลุมองค์รวมและมีการประสานเครือข่ายในการดูแลต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด  
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง หอผู้ป่วยชายโรงพยาบาลเขาวง 1.ร้อยละของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลโดยสหสาขาวิชาชีพตามระดับ PPS > 95 % 2.ร้อยละความพึงพอใจของผู้ป่วย/ครอบครัวต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง >90 % 3.ร้อยละของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการติดตามเยี่ยมบ้าน > 80 %  
กลุ่มเป้าหมาย : 1.ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการของโรคลุกลามและรุนแรง 2.ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดและมีอาการเพิ่มมากขึ้น 3.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย (end of life)  
เครื่องมือ : แบบประเมิน Palliative Performance Scale (PPS) ,Pain Score ,หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการทางสาธารณสุข ( Advance care plan) ,แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วย/ครอบครัวต่อการดูแลแบบประคับประคอง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.ทบทวนปัญหาและจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ 2.ประชุมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 3.มอบหมายเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ และส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำมาพัฒนาในหน่วยงาน 4.วางแผนการดูแลร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว ผสมผสานระบบแพทย์ทางเลือก เช่น สมาธิบำบัด การนวด การฟังเทปธรรมะ 5.ทบทวนและกำหนดแนวทางปฏิบัติสื่อสารให้บุคลากรนำมาปฏิบัติดังนี้ 5.1ค้นหาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายและรักษาแบบประคับประคอง 5.2มีการวางแผนการดูแลผู้ป่วยโดยใช้แบบประเมิน Palliative Performance Scale (PPS) และให้การดูแลตามระดับ PPS ดังนี้ PPS ระดับ 1(70-100) ให้การพยาบาลตามปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย PPS ระดับ 2(40-60) ใช้กระบวนการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำช่วยเหลือ PPS ระดับ 3(0-30) ตอบสนองความต้องการเน้นความสุขสบายไม่ทุกข์ทรมาน 5.3ประเมิน Pain Score และให้การพยาบาลตามระดับ Pain Score 5.4ร่วมวางแผนการดูแลกับผู้ป่วยและครอบครัวทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการทางสาธารณสุข (Advance care plan) 5.5ประสานทีม Palliative Care ของโรงพยาบาลร่วมดูแลพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพเยี่ยมผู้ป่วยและช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ป่วย 5.6จัดมุมการดูแลที่เป็นสัดส่วนและตอบสนองความต้องการด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี เช่นพิธีขอขมา ,การทำสังฆทาน 6.ประสานทีมที่ดูแลเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติยืมไปใช้ที่บ้าน เช่น ชุดให้ออกซิเจน ,เตียงผู้ป่วย , ที่นอนลม ,Syring diver เป็นต้น 7.ประเมินและปรับเปลี่ยนแผนการดูแลตามเหมาะสม พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขณะดูแลผู้ป่วย 8.ประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วย/ครอบครัวต่อการดูแลแบบประคับประคองหลังนอนรักษา 2 วันขึ้นไป 9.ส่งต่อข้อมูล HHC เพื่อดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 10.สรุปและวิเคราะห์ผลดำเนินงานทุกสิ้นเดือน  
     
ผลการศึกษา : มีผู้ป่วยที่นอนรักษาแบบประคับประคองในหอผู้ป่วยในชายทั้งหมด 34 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.70 ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงก่อนและหลัง พัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ผลลัพธ์ก่อน(ต.ค.58-ก.ย.59) ผลหลักการดำเนินงาน(ต.ค.59-พ.ค.60) 1.ร้อยละของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลโดยสหสาขาวิชาชีพตามระดับ PPS เป้า> 95 % ผลลัพธ์ก่อน90% ผลหลักการดำเนินงาน100% 2.ร้อยละความพึงพอใจของผู้ป่วย/ครอบครัวต่อการดูแลแบบประคับประคอง เป้า> 90 % ผลลัพธ์ก่อน90% ผลหลักการดำเนินงาน94.74% 3.ร้อยละของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการติดตามเยี่ยมบ้าน เป้า> 80 % ผลลัพธ์ก่อน 75% ผลหลักการดำเนินงาน 82.35%  
ข้อเสนอแนะ : 1.การทำงานเป็นทีมและการทำงานแบบมีส่วนร่วม ช่วยเพิ่มโอกาสพัฒนาให้งานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ 2.มีระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายชัดเจนขึ้น มีความภาคภูมิใจร่วมกัน 3.ถ้าผู้ป่วยและญาติได้รับการดูแลที่ดีจะมีความพร้อมและความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยทุกรายต่อไป 4.เจ้าหน้าที่มีความรู้และทักษะในการให้คำปรึกษามากขึ้น 5.เจ้าหน้าที่มีทักษะในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายในโรงพยาบาลมากขึ้น เช่น ศูนย์ COC ,รพ.สต. ,องค์กรท้องถิ่น เป็นต้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)