ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและหลักการแพทย์วิธีธรรม
ผู้แต่ง : ดุษฎี มงคล เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชำนาญงาน ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2555 ผู้สูงอายุในประเทศไทยประมาณ 8.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.7 ของประชากรทั้งประเทศ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วย โดยเฉพาะความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ทั้งในด้านสุขภาพและสังคมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะสุขภาพและการเสื่อมสุขภาพของร่างกายตามวัย ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ รับผิดชอบทั้งหมด 13 หมู่บ้าน มีประชากร 8,837 คน มีหลังคาเรือน 2,650 หลังคาเรือน จากการสำรวจภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้สูงอายุทั้งหมด 1,092 คน เป็นเพศหญิง 602 คน คิดเป็นร้อยละ 55.0 เพศชาย 490 คน คิดเป็นร้อยละ 44.8 มีการจัดกลุ่มในการดูแลสุขภาพออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม 761 คน คิดเป็นร้อยละ 85.0 ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 13.0 ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง 20 คน คิดเป็นร้อยละ 2.0 พบว่ามีผู้สูงอายุสุขภาพดี (ปกติ) ร้อยละ 72.0 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 15.0 ผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ13.0 สำหรับหมู่บ้านนำร่องในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและหลักการแพทย์วิธีธรรม คือ บ้านคำม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งคลอง มีผู้สูงอายุทั้งหมด 107 คน เป็นเพศหญิง 58 คน คิดเป็นร้อยละ 54.2 เพศชาย 48 คน คิดเป็นร้อยละ 44.8 ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม 102 คน คิดเป็นร้อยละ 95.3 ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 3.7 ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง 2 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาการนำภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์วิถีธรรมในการส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น 2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์วิถีธรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้สูงอายุติดสังคม บ้านคำม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน102 คน  
เครื่องมือ : 1.แบบสัมภาษณ์ 2.แบบประเมินความพึงพอใจ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและหลักการแพทย์วิธีธรรม สามารถทำให้สุขภาพผู้สูงอายุดีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์วิถีธรรมในการส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น และเพื่อศึกษาความพึงพอใจในหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์วิถีธรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ ด้วยวิธีจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบองค์รวม ตามหลักธรรมานามัย ที่ประกอบด้วย กายานามัย จิตตานามัยและชีวิตานามัย ดำเนินการสอนแล้วประเมินผลในกลุ่มผู้สูงอายุที่มาโรงเรียนผู้สูงอายุ รูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research :PAR) กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุติดสังคม บ้านคำม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน102 คน เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2558-พฤษภาคม 2559 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณ จำนวน ร้อยละ  
     
ผลการศึกษา : ผลการดำเนินงาน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 80.0 จัดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัยตอนต้น อายุระหว่าง 60-69 ปี ร้อยละ 66.6 การศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษาร้อยละ 73.2 มีสถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 63.1 ลักษณะของการอยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่กับคู่สมรส บุตร หลาน ร้อยละ 75.0 รายได้เฉลี่ย 1,000 บาท/เดือน ส่วนใหญ่รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายร้อยละ 79.2 การประเมินผลโดยใช้แบบสอบถาม พบว่า กิจกรรมที่ผู้เข้ารับการเรียนการสอนส่วนใหญ่พึงพอใจระดับมากที่สุดร้อยละ 70.0 เป็นการทำอาหารเพื่อสุขภาพ การทำน้ำสมุนไพร การแปรรูปสมุนไพร ทำลูกประคบ ทำน้ำมันนวด ทำยาหอมสูดดม ทำน้ำยาเอนกประสงค์ กายบริหารท่าฤาษีดัดตน/SKT การนวดด้วยตนเอง การสวดมนต์ การเดินจงกลม การเตรียมวางขันธ์วางร่าง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เข้ารับการเรียนการสอนสามารถมีส่วนร่วมได้ ส่วนเรื่องเกี่ยวการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การใช้สมุนไพรผักพื้นบ้าน เศรษฐกิจพอเพียงแบบแพทย์แผนไทย และแพทย์วิถีธรรมเป็นการบรรยาย ผู้เข้ารับการเรียนการสอนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจระดับมาก ร้อยละ 30.0 จากการสัมภาษณ์ติดตามผลในระยะเวลา 1 เดือนหลัง การเรียนการสอนพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้ารับการเรียนการสอนสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การดูแลสุขภาพให้กับตนเองและครอบครัว เช่น การทำน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นปรับสมดุลในร่างกายรับประทาน ทำให้รู้สึกเบากายสบายตัวร้อยละ 62.5 การนวดตนเองบำบัดอาการเจ็บปวดทำให้อาการปวดดีขึ้นร้อยละ 37.5  
ข้อเสนอแนะ : สรุปได้ว่าการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและหลักการแพทย์วิธีธรรม โดยกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุที่เข้ารับการเรียนการสอนในโรงเรียนผู้สูงอายุสามารถนำไปใช้สร้างเสริมสุขภาพให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น สามารถนำไปเผยแพร่เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุอื่นต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ