ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สุดาทิพย์ ศรีจันทร์เติม ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจอย่างเรื้อรังและถาวร ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังยังไม่ทราบแน่ชัด เกิดจากการอักเสบในหลอดลมและเนื้อปอดเมื่อผู้ป่วยสูดสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ มลพิษทางอากาศเข้าไปในหลอดลม สารระคายเคืองเหล่านี้จะก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นในหลอดลม ในระยะแรกของการดำเนินโรคผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติที่ชัดเจนจนกระทั่งเมื่อมีอาการมากขึ้นและรุนแรงทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานานจนกว่าจะเสียชีวิต จากการสำรวจประชากรโลกในปี ค.ศ. 1999-2001 พบว่า อัตราการเจ็บป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นอันดับ 12 (Partride, 2002) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกเป็นอันดับ 3 และเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย DALYs (The Disability Adjusted Life Year) จะเป็นอันดับที่ 5 (สุณี เลิศอุดมสิน, 2553) ในประเทศไทย มีผู้สูบบุหรี่ ประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15-30 มีผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไม่ต่ำกว่า 1.5-3 ล้านคน (วัชรา บุญสวัสดิ์, 2548)ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนามน ร้อยละ 60 ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้และมีอาการหายใจลำบากต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินบ่อยครั้ง (งานเวชระเบียนและสถิติโรงพยาบาลนามน, 2555) จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้แก่ การไม่เลิกสูบบุหรี่ การใช้ยาตามแพทย์สั่งไม่ถูกต้อง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคหรือก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาดังกล่าวให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดการอาการหายใจลำบากที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดการปัญหาให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับการปฏิรูประบบการพยาบาลซึ่งมุ่งเน้นให้มีการนำหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice) โรงพยาบาลนามน มีแนวปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งเน้นการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลักแต่ขาดแนวปฏิบัติทางการพยาบาล ผู้ศึกษาจึงต้องการศึกษาเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับแพทย์และเพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ลดน้อยลง ดังนั้นผู้ศึกษาจึงต้องการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่มารับบริการใน Easy COPD clinic ขึ้นโดยประยุกต์แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย (NHMRC, 1999) เพราะเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีความละเอียดชัดเจน และสามารถนำมาปฏิบัติได้ง่าย ซึ่งประกอบด้วย 12 ขั้นตอน คือ1) การกำหนดความต้องการและขอบเขตของแนวปฏิบัติ 2) กำหนดทีมพัฒนาแนวปฏิบัติ3) กำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของการปฏิบัติ 4) กำหนดผลลัพธ์ด้านสุขภาพ 5) ทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ 6) กำหนดยกร่างการปฏิบัติ 7) จัดทำแผนการเผยแพร่และแผนการใช้แนวปฏิบัติ 8) จัดทำแผนการประเมินผลและแผนการปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติ 9) จัดทำรายงานรูปเล่ม 10) จัดทำรายงานกระบวนการพัฒนาแนวปฏิบัติ 11) การตรวจสอบคุณภาพของแนวปฏิบัติโดยผู้เชี่ยวชาญและนำไปทดลองปฏิบัติ ประเมินผลการนำไปใช้ และ 12) นำผลที่ได้มาเสวนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ได้เข้าร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกเพื่อนำมาปรับปรุงเป็นแนวปฏิบัติทางคลินิกที่เหมาะสมกับหน่วยงาน จะทำให้แนวปฏิบัตินั้นน่าเชื่อถือและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไปใช้ในหน่วยงาน  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ใช้ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นผู้มารับบริการคลอดในโรงพยาบาลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ 2560 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นมารดาหลังคลอดที่มาคลอดในโรงพยาบาลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2560 จำนวน 20 ราย  
เครื่องมือ : แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน บนหลักฐานความรู้เชิงประจักษ์ (Evidence-based) การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย 12 ขั้นตอน ทีมพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการจัดการอาการหายใจลำบากในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน มีจำนวน 8 คน ประกอบด้วย อายุรแพทย์ จำนวน 1 คน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติการพยาบาลใน Easy COPD clinic จำนวน 1 คน พยาบาลวิชาชีพจากแผนกผู้ป่วยนอก จำนวน 1 คน พยาบาลวิชาชีพจากห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน จำนวน 1 คน พยาบาลวิชาชีพจากหอผู้ป่วยใน จำนวน 1 คน นักกายภาพบำบัด จำนวน 1 คน เภสัชกร จำนวน 1 คน และแพทย์แผนไทย จำนวน 1 คนกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือ พยาบาลที่เป็นผู้ทดลองใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก จำนวน 3 คน และผู้ป่วยสูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ได้รับการดูแลตามแนวปฏิบัติทางการพยาบาลทางคลินิก จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง และแบบประเมินเกี่ยวกับความเป็นไปได้ได้ในการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกโดยรวมมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การใช้สถิติพรรณา  
     
ผลการศึกษา : การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลนามน ผู้ศึกษานำเสนอการอภิปรายผลใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ลักษณะของแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน และ 2) ความเป็นไปได้ในการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ประกอบด้วยสาระของแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยและจริยธรรม 2) การประเมินผู้ป่วยและการประเมินอาการหายใจลำบาก 3) การจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด 4) การให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การดูแลตนองและการปฏิบัติตนเกี่ยวกับโรค การจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด 5) การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยมีครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และ6) การพัฒนาคุณภาพการบริการ เนื้อหาของแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก ได้พัฒนามาจากหลักฐานเชิงประจักษ์และมีคุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับ 1, 2, 6 และ 7 ซึ่งได้รับการพิจารณาร่วมกันโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบจำนวน 1 ฉบับ งานวิจัยที่มีการออกแบบให้มีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองที่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (RCT) จำนวน 3 ฉบับ งานวิจัยแบบกึ่งทดลอง จำนวน 3 ฉบับ งานวิจัยเชิงพรรณนา งานวิจัยเชิงคุณภาพ การทบทวนวรรณกรรม แนวปฏิบัติทางคลินิก และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 ฉบับรวมทั้งหมด 16 ฉบับ อีกทั้งการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในครั้งนี้ทีมพัฒนาแนวปฏิบัติ ได้ทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือโดยปราศจากความลำเอียง รวมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลรักษาและการพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำการตรวจสอบและให้ข้อแนะนำซึ่งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดทฤษฎีและการทบทวนหลักฐานอย่างเป็นระบบที่ถูกต้องตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้ค้นพบ จึงทำให้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ในหน่วยงานทีมพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการพัฒนาทั้ง 12 ขั้นตอน ตามหลักของการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่การกำหนดประเด็นหัวข้อของการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก จนถึงขั้นตอนการนำแนวปฏิบัติทางคลินิกไปทดลองใช้ การมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาทำให้ผู้ใช้แนวปฏิบัติรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก ซึ่งการที่บุคคลมีความรู้สึกดังกล่าวย่อมทำให้มีทัศนคติที่ดี และมีความตระหนักต่อการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกไปใช้ ส่งผลให้มีการดูแลรักษาผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้เกิดแรงจูงใจและความร่วมมือของบุคลากรในการนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลทางคลินิกที่พัฒนาขึ้นไปใช้ตามเป้าหมาย อันจะนำไปสู่การประกันคุณภาพของโรงพยาบาลนามนต่อไป ความเป็นไปได้ในการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลนามน นำไปใช้ใน Easy COPD clinic แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลนามน ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการรวบรวมข้อมูลโดยสอบถามความคิดเห็นของผู้ทดลองใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน ผู้ทดลองใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก มีความคิดเห็นในระดับมาก แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก มีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ในหน่วยงาน มีความชัดเจนของข้อเสนอแนะในแนวปฏิบัติ มีความประหยัด ลดต้นทุนทั้งด้านกำลังคน เวลาและงบประมาณ เกิดประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะนำไปใช้ในหน่วยงานและมีคู่มือเรื่อง “การดูแลตนเองสำหรับผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และแผนผังขั้นตอนของแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกให้ผู้ทดลองใช้แนวปฏิบัติศึกษาก่อนการนำไปใช้ จึงมีความง่ายและความสะดวกในการนำไปปฏิบัติในระดับมาก สรุปได้ว่า การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกสามารถสำเร็จลุล่วง ไปด้วยดีจากความร่วมมือกันระหว่างทีมสหวิชาชีพนอกจากนั้นยังช่วยยกระดับคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในEasy COPD clinic ให้ได้คุณภาพ สอดคล้องกับการดำเนินการพัฒนาการรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลในปัจจุบันที่เน้นกระบวนการดูแลผู้ป่วยส่วนการทดลองใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลนามน  
ข้อเสนอแนะ : พยาบาลวิชาชีพควรมีการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไปใช้ ในการดูแลผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการหายใจลำบากของผู้สูงอายุ ควรมีการพัฒนาระบบการดูแลอย่างต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นรื้อรัง ควรมีการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการจัดการอาการหายใจลำบากด้วยตนเองในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลนามน จังหวัดกาฬสินธุ์  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง