ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : นวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรในผู้ป่วยเบาหวาน รพสต.บ้านคำลือชา ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สุพิชฌานันต์ พิมพรัตน์ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณที่รองรับฟันถูกทำลาย โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่กับแผ่นคราบจุลินทรีย์ปล่อยสารพิษออกมาทำลายเหงือก ทำให้เหงือกมีการอักเสบบวมแดง รวมทั้งในน้ำลายของคนเรามีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดการสะสมเป็นเวลานานเข้าก็จะกลายเป็นคราบหินปูนในช่องปาก และเมื่อเหงือกถูกทำลายก็จะทำให้เกิดการสูญเสียฟัน เหงือกทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มตัวฟันให้แข็งแรง ป้องกันการโยกคลอนและการหลุดร่วงของฟัน (กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย, 2557) โรคเหงือกอักเสบนับเป็นปัญหาด้านทันตสุขภาพอันดับ 2 รองจากโรคฟันผุ ซึ่งโรคเหงือกอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกกลุ่มอายุ ตลอดจนกลุ่มผู้ที่มีโรคทางระบบต่างๆ อาทิ เช่นโรคเบาหวาน โดยโรคนี้ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งที่จอประสาทตา ไต เส้นประสาท หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ทำให้เกิดแผลที่เท้า ทำให้ตาบอด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังมีโอกาสสูญเสียฟัน เกิดฟันผุ ติดเชื้อราในช่องปาก เป็นแผลและหายช้ามากกว่าคนปกติ หากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี (นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย,2559) โรคเบาหวานนับว่าเป็นโรคทางระบบชนิดหนึ่งที่มักมีปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบ ถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็น อัตราการไหลของนํ้าลาย ส่วนประกอบในช่องปาก การเพิ่มอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ มีอาการแสบร้อนในช่องปาก ปากแห้ง และแผลหายช้า อาการเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากง่ายยิ่งขึ้น มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคเบาหวานต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหงือกอักเสบได้ถึง 4.2 เท่าและเกิดสภาวะติดเชื้อในช่องปากได้ง่ายกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ร่วมทั้งในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคเบาหวานนานๆ ก็จะมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียฟันในช่องปากจำนวนมากเช่นกัน (สีลมเด็นตัลบิลดิ้งคลินิค,2559) และยังมีการศึกษาทางระบาดวิทยา อีกว่า โรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงของการละลายของกระดูกเบ้าฟันและการสูญเสียเหงือกยึดปริทันต์ประมาณ 3 เท่าเมื่อ เทียบกับคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานเลย (สำนักทันตสาธารณสุข,2559) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากและร่างกายของผู้ป่วย สูญเสียทั้งด้านการเงิน ด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และด้านบุคลิกภาพของตัวผู้ป่วย เพื่อมาทำการรักษาฟันให้อยู่ในสภาพปกติควบคู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรที่จะละเลยถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากของตน จากการตรวจสุขภาพช่องปากกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากข้อมูลสภาวะเหงือกอักเสบกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 156 คน พบว่ามีปัญหาเหงือกอักเสบร้อยละ 71.79 ฟันผุร้อยละ 61.54 (ฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำลือชา,2559) จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี รวมทั้งการรู้จักดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง ที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อการมีสุขภาพร่างกายอย่างสมดุลและเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยการส่งเสริมการใช้สมุนไพร  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อลดการเกิดสภาวะเหงือกอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน 2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพรในผู้ป่วยเบาหวาน 3. เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยเบาหวาน  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 30 คน  
เครื่องมือ : แบบสำรวจสภาวะทันตสุขภาพ และ แบบสอบถามความพึงพอใจ นวัตกรรม น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ตรวจสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีขั้นตอนการเลือกกลุ่มตัวอย่างดังนี้ 1.1 กลุ่มตัวอย่างมีค่าระดับน้ำตาลน้อยกว่า 150 mg/dl (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด และมีค่าระดับน้ำตาลสม่ำเสมอ ในช่วงระยะ 6 เดือนที่รับยาเป็นประจำ 1.2 นำกลุ่มตัวอย่างมาทำการตรวจสุขภาพช่องปากเบื้องต้น เพื่อนัดทำการรักษาต่อไป 2. จัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร 3. นำกลุ่มตัวอย่างมาทำการเตรียมสุขภาพช่องปาก โดยการขูดหินปูน และฝึกทักษะการแปรงฟันที่ถูกวิธี 4. นำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรมาทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 30 คน 4.1 ให้กลุ่มเป้าหมายใช้แปรงสีฟันที่มีคุณภาพ ขนแปรงอ่อนนุ่ม ในการแปรงฟัน 4.2 หลังการแปรงฟันให้ใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร ขนาด 20 มิลลิลิตร อมกลั้วประมาณ 30 วินาที แล้วบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดตาม 4.3 ให้บ้วนปากเช้า-เย็น หลังการแปรงฟัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ 4.4 น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร สามารถเก็บไว้ได้ 1 สัปดาห์หลังการปรุง 5. ให้กลุ่มเป้าหมายทำแบบสอบถามความพึงพอใจ 6. นัดกลุ่มตัวอย่าง กลับมาตรวจสุขภาพช่องปากซ้ำ เพื่อประเมินสภาวะเหงือกหลังการใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร 7. เก็บรวบรวมข้อมูล สรุปและอภิปรายผล  
     
ผลการศึกษา : 1.1 สรุปผลการตรวจสุขภาพช่องปากผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากตารางพบว่าการตรวจสุขภาพช่องปากผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 30 คน แบ่งกลุ่มอายุ 40-49 ปี จำนวน 9 คน กลุ่มอายุ 50-59 ปี จำนวน 12 คน และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9 คน จากตารางพบว่ามีฟันผุ จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 56.67 ด้านสภาวะเหงือก มีเหงือกอักเสบ จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ83.33 ด้านการรักษาที่จำเป็น ต้องการอุดฟัน จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 23.33 ต้องการถอน/RCT จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 43.33 และต้องการขูดหินปูน จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 83.33 2.จากการสำรวจสภาวะเหงือกของกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 30 คน ก่อนการทำหัตถการและใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร พบว่า มีสภาวะเหงือกอักเสบมากในระดับ 3 คือ มีร่องลึกปริทันต์ลึกตั้งแต่ 4-5 มิลลิเมตรร้อยละ 46.67 รองลงมาเป็น เหงือกมีเลือดออก ในระดับ 1 ร้อยละ 20 และการมีสภาวะเหงือกปกติ ในระดับ 1 น้อยที่สุด ร้อยละ 3.33 เมื่อทำหัตถการขูดหินปูนและทดลองใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร เป็นมาเวลา 3 สัปดาห์ พบว่า มีการอักเสบของเหงือก มีเลือดออก ในระดับ 1 มีมากที่สุด ร้อยละ 46.67 รองลงมาเป็น การมีหินน้ำลาย ในระดับ คิดเป็นร้อยละ 33.33 ส่วนการมีสภาวะเหงือกปกติ ระดับ 0 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นหลังการใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร จากก่อนทดลอง ร้อยละ 3.45 เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 10.34 3.อภิปรายแบบสอบถามความพึงใจ จากการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม นวัตกรรมน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วม กิจกรรมมีความพึงพอใจในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 80.19 ซึ่งบรรลุเป้าหมายของวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  
ข้อเสนอแนะ : - อยากให้มีน้ำยาใช้ตลอดเวลาไปรับยาที่อนามัย - อยากให้เพิ่มปริมาณน้ำยาในขวดมากกว่าเดิม ใส่ขวดที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม - เพิ่มกลิ่นให้หอมกว่าเดิม - อยากให้ทดลองใช้น้ำยาบ้วนปากนานกว่าเดิม สัก 2 เดือน  
     
รางวัลที่ได้รับ : รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับ ระดับจังหวัด  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ