ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ศึกษารูปแบบการให้คำปรึกษารายบุคคล เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้แต่ง : นาถนรินทร์ ทรัพย์กุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, พิชญาภัค มองเพ็ชร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.คำม่วง ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ไตเรื้อรัง ตาบอด ปลายประสาทเสื่อมหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ซึ่งเป้าหมายการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 70-130 mg/dl ผลการดูแลโรคเบาหวานโรงพยาบาลคำม่วง ปี 2558 มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3,306 ราย พบว่า อัตราผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ร้อยละ 32.29 กลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ส่วนใหญ่ พบในกลุ่มวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งด้านอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และการใช้ยารักษาไม่ถูกต้อง ตามแผนการรักษา ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ รูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผ่านมา คือ การให้ความรู้รายกลุ่ม และการประเมินปัญหาขณะซักประวัติ ซึ่งไม่สามารถค้นหาปัญหาเชิงลึกรายบุคคลได้ครอบคลุม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รีบเร่ง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงนำรูปแบบการให้คำปรึกษารายบุคคลมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยโรคเบาหวานในคลินิกบริการ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลตนเองที่เหมาะสมสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษารูปแบบการให้คำปรึกษารายบุคคล ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยโรคเบาหวาน  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือด FBS ≥ 183 mg% ติดต่อกัน 2 ครั้งขึ้นไป ที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวาน จำนวน 18 ราย  
เครื่องมือ : 1. การให้คำปรึกษารายบุคคล 2. แบบประเมินพฤติกรรมผู้ป่วยทั้งด้านอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ การใช้ยา  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การดำเนินงานมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการประเมินพฤติกรรมผู้ป่วยทั้งด้านอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ การใช้ยา และพัฒนาระบบการดูแลเพิ่มการให้คำปรึกษารายบุคคล โดยผู้จัดการรายกรณี DM มีห้องที่เป็นสัดส่วน มีสื่อประกอบการเรียนรู้ การติดตามผลประเมินพฤติกรรมก่อนและหลังการดำเนินงาน 3 เดือน เพื่อวิเคราะห์ผล  
     
ผลการศึกษา : กลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 88.89 ช่วงอายุที่พบมากคือ 40-49ปี ร้อยละ 38.89 อัตราการควบคุมระดับน้ำตาล (FBS 70-130 mg/dl) หลังการให้คำปรึกษารายบุคคล ร้อยละ 44.44 การประเมินพฤติกรรม 4 ด้าน(อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และการใช้ยา) พฤติกรรมเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ด้านอาหารพบ ร้อยละ 77.78 รองลงมา ด้านออกกำลังกาย พบร้อยละ 72.22 ส่วนพฤติกรรม ด้านการใช้ยา และด้านอารมณ์ พบร้อยละ 66.67 เท่ากัน และยังพบว่ามีปัญหาตั้งแต่ 3 ด้าน ขึ้นไป ร้อยละ 61.11 จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการให้คำปรึกษารายบุคคล เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องประกอบไปด้วย 1. การให้คำปรึกษารายบุคคล โดยผู้จัดการรายกรณี DM, 2. แบบประเมินพฤติกรรม (4 ด้าน) , 3.มีห้องที่เป็นสัดส่วน และ 4.มีสื่อการเรียนรู้  
ข้อเสนอแนะ : ผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรมการดูแลตนเองดีขึ้น มีการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตนเอง มีการตั้งเป้าหมายที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถบอกได้ว่าควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เพราะสาเหตุอะไร และมีการปรับพฤติกรรมตามสาเหตุที่ค้นพบ ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย จากระบบที่พัฒนาการให้คำปรึกษารายบุคคลต้องใช้เวลา 30-45 นาที ดังนั้น ควรพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในคลินิกให้สามารถให้การปรึกษารายบุคคลได้ทุกคน และควรขยายกลุ่มเป้าหมายมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาล >130 mg/dl ขึ้นไป เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการ และการติดตามการดูแลควรใช้ HbA1C ในการประเมินผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ