ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เสนอโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : : (ภาษาไทย) ปัจจัยทางการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ (ภาษาอังกฤษ) ADMINISTRATIVE FACTORS AFFECTING THE PERFORMANCE OF THE PREVENTION AND CONTROL FOR TUBERCULOSIS BY VILLAGE HEALTH VOLUNTEER IN THAMBONVOR AMPHOE YANG TALAT, KALASIN PROVINCE
ผู้แต่ง : กรรณิการ์ เบ็ญจวนิช ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญและยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลายๆประเทศทั่วโลก สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมาระบาดใหม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเอดส์เพิ่มขึ้น ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นและแรงงานเคลื่อนย้าย ตลอดจนการละเลยปัญหาวัณโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับต่างๆ ส่งผลให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และวัณโรคจึงเป็นสาเหตุการป่วยและการตายในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้วัณโรคอยู่ในภาวะฉุกเฉินสากล (global emergency) และต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน (กระทรวงสาธารณสุข,2556) สถานการณ์วัณโรคของโลกในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีผู้ป่วยวัณโรค(รายใหม่) ปีละประมาณ 9 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษามีเพียง 6 ล้านคนเท่านั้น (Case detection 63 %) นับเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผู้ป่วยถึง 3 ล้านคนไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยเหล่านั้นแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ทำให้การบรรลุวิสัยทัศน์ควบคุมวัณโรค “The World Free of Tuberculosis” ล่าช้าออกไปได้ จากรายงานมีผู้ป่วยวัณโรค เสียชีวิตปีละ 1.5 ล้านคน และผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี 12 % (WHO Global TB report, 2015) ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศ ที่มีภาระวัณโรค วัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคที่มีเชื้อเอช ไอ วี ร่วมด้วย องค์การอนามัยโลกคาดประมาณอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ในประเทศไทยโดยใช้ผลการสำรวจความชุกวัณโรค พบว่าในปี 2556 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 113,900 ราย (171 ต่อประชากรแสนคน) สูงกว่าการคาดการประมาณในอดีต (119 ต่อประชากรแสนคน) ถึงร้อยละ 43 ปัจจัยกำหนดการเกิดโรค (determinants) มีหลายประการ ซึ่งพบจากผลสำรวจระบบเฝ้าระวัง (ทะเบียนผู้ป่วยวัณโรค) และแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขัง การติดเชื้อเอช ไอ วี เบาหวาน เป็นต้น จากระบบการรายงานวัณโรคปีงบประมาณ 2557 มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา 67,789 ราย คิดเป็นอัตราการตรวจพบ (Detection rate) ร้อยละ 60 ในขณะที่ผลสำเร็จการรักษายังต่ำเพียงร้อยละ 81 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่จะนำไปสู่การลดโรควัณโรค (ร้อยละ 90) นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น โดยในปี 2557 มีรายงานผู้ป่วยวัณโรคในแรงงานข้ามชาติสูงถึง 3,091 ราย ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อย เป็นปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมที่มีผลต่อการควบคุมวัณโรค (กรมควบคุมโรค,2559) ข้อมูลจากรายงานงวดการค้นหารายป่วย (Case finding report) ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้รับรายงานจากพื้นที่ต่างๆ ผ่านผู้ประสานงานวัณโรค (TB coordinator) ของโรงพยาบาลในพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2557 พบผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 6,722 ราย (ร้อยละ 77.7 จากเป้าหมาย 8,646 ราย) โดยเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่เสมหะพบเชื้อ (เสมหะบวก) 3,285 ราย ผู้ป่วยใหม่เสมหะไม่พบเชื้อ 1,786 ราย ผู้ป่วยวัณโรคกลับเป็นซ้ำ 177 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่มีผลตรวจเสมหะ 237 รายและผู้ป่วยใหม่วัณโรคนอกปอด 1,241 ราย (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น, 2557) อาสาสมัครสาธารณสุขมีบทบาทในการเป็นผู้นำการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นผู้ให้คำแนะนำถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนบ้านและแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น ถ่ายทอดความรู้และจัดกิจกรรมตามปัญหาของชุมชนการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้าน สำหรับการดำเนินงานด้านวัณโรคเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ เริ่มตั้งแต่การค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงให้ได้รับการคัดกรอง วินิจฉัยและการรักษาวัณโรคตามแนวทางวัณโรคแห่งชาติ ร่วมกับการควบคุมกำกับการกินยาแบบมีพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่ชุมชน โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน 4 ด้านได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ การให้สุขศึกษา การติดตามเยี่ยมบ้าน และการเป็นพี่เลี้ยงกำกับการรับประทานยาผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 4 ด้านนี้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านวัณโรคสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้สามารถดำเนินงานด้านวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2555) ซึ่งประเทศไทยได้นำกลยุทธ์ DOTS (Directly Observed Treatment, Short Course) มาใช้ในการดำเนินงานควบคุมวัณโรค ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค โดยติดตามการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำ ให้การรักษาวัณโรคได้ผลการรักษาที่หายขาด (cure) ลดการเกิดเป็นซ้ำ และลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อ แต่อัตราผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อยังอยู่ และประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ทำให้ปัญหาวัณโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ขึ้นทะเบียน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะบวกที่สามารถแพร่เชื้อได้ และสามารถรักษาผู้ป่วยสำเร็จได้เพียงร้อยละ 71.8 สาเหตุหลักคือเสียชีวิตก่อนการรักษาครบและขาดยาทำให้แนวโน้มของการดื้อต่อยารักษาวัณโรคเพิ่มสูงขึ้น (สำนักวัณโรค, 2556) จากที่ผ่านมามีผู้ได้ศึกษาวิจัยพบว่าการกำกับการรับประทานยาแบบ DOT ของพี่เลี้ยง โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบร้อยละ 7.0 และ 10.2 ในกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมตามลำดับ และการได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกวันเฉพาะ 7 วันแรก หลังจากออกจากโรงพยาบาล จากนั้นสัปดาห์ละครั้ง พบร้อยละ 71.2 ในกลุ่มศึกษา และร้อยละ 72.6 ในกลุ่มควบคุม (พุทธิไกร ประมวล, 2557) นอกจากนี้มีการวิจัยการพัฒนาแนวทางการควบคุมวัณโรคในชุมชนของโรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ได้เสนอแนวทางการประสานงานส่งต่อข้อมูลว่า ให้มีการนำบัตรบันทึกการรักษาวัณโรคมาใช้ในการให้บริการผู้ป่วยวัณโรค โดยนำบัตรบันทึกการรักษาวัณโรคไปไว้ในที่แผนกผู้ป่วยนอกเมื่อมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นวัณโรค ให้แนบไปกับแผ่นประวัติการรักษาของผู้ป่วยเพื่อให้แพทย์ลงบันทึกผลการถ่ายภาพรังสีทรวงอกและการรักษา ก่อนส่งไปให้เจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรคขึ้นทะเบียนและนำสมุดประจำตัวผู้ป่วยวัณโรคมาใช้ จัดทำทะเบียนรายชื่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ศูนย์ดูแลต่อเนื่องที่บ้าน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการติดตามผู้ป่วย (ปรียา สินธุระวิทย์และวันเพ็ญ ปัณราช, 2555) และมีงานวิจัยที่พบว่าการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมวัณโรคในแรงงานต่างด้าวของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวภาพรวมอยู่ในระดับต่ำมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.57 ปัญหาอุปสรรคที่พบคือด้านการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้อยละ 20.5 (วิชุดา เสพสมุทร, 2556) ในการดำเนินงานด้านวัณโรคซึ่งจะดำเนินงานการปฏิบัติการควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านวัณโรค การจะดำเนินงานวัณโรคให้ประสบผลสำเร็จนั้น ถ้าขาดปัจจัยทางการบริหารซึ่งประกอบด้วย คน (Man) เงิน (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และวิธีการดำเนินงาน (Method) หรือเรียกว่า 4 M’S (ทองหล่อ เดชไทย, 2549 และประจักร บัวผัน) ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการบริหารงานต่างๆ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านวัณโรค มีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จึงนำปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านเวลา (Time) เข้ามาร่วมด้วย (ประจักรบัวผัน, 2554) จะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ตามหลักการของ (Henry Fayol, 2006) ได้แก่ การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การบังคับบัญชา (Commanding) การประสานงาน (Coordinating) และการควบคุม (Controlling) (Fayol, 1994 อ้างถึงในประจักร บัวผัน, 2550) จากการวิจัยที่ผ่านมาแล้วพบว่าการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการส่งต่อข้อมูล มีการประสานงานส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคและปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ระหว่างคลินิกวัณโรคกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกเดือน โดยการประสานงานทางโทรศัพท์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การประสานส่งต่อข้อมูลกับหน่วย รพ.สต.และส่งต่อข้อมูลกับชุมชน การติดตามดูแลผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่องในชุมชนโดยใช้แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามระบบ DOTS พบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยมีญาติเป็นพี่เลี้ยงซึ่งพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีอัตราการผลสำเร็จในการรักษา ร้อยละ78.5 อัตราการรักษาหายร้อยละ 78.5 เมื่อเปรียบเทียบ ในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 มีอัตราผลสำเร็จในการรักษา ร้อยละ 70.8 และ 82.1 ตามลำดับ และอัตราการรักษาหาย ร้อยละ 80.4 และ 78.7 ตามลำดับ (ปรียา สินธุระวิทย์ และวันเพ็ญ ปัณราช, 2554) นอกจากนี้มีการศึกษาผลการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรคจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2552 พบว่าการจัดกระบวนงานสนับสนุน ซึ่งได้แก่ การพัฒนาศักยภาพ แพทย์ เภสัชกร การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และอบรม TB Clinic ผู้ประสานงานระดับอำเภอและพัฒนาศักยภาพ อสม. และแกนนำวัณโรคระดับตำบล พบว่า อัตราสำเร็จในการรักษา (Success rate) 87.37 % สาเหตุที่ทำให้การรักษาไม่สำเร็จ เนื่องจากตาย (Died) 4 % ขาดการรักษา (Defuleted) 3 % และล้มเหลว (Failed) 1% (สายใจ เรืองศรีมั่น, 2552) รวมถึงยังมีการศึกษาการดูแลสุขภาพผู้ป่วยวัณโรคในชุมชนโดยการจัดการรายกรณี พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีความรู้เรื่องวัณโรคไม่เพียงพอ บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจนและไม่ทราบสถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน (อุดม พรรษา,เพชรไสว ลิ้มตระกูล และวิจิตรา เสนา, 2556) จากระบบรายงานวัณโรคของโรงพยาบาลยางตลาด ในปีงบประมาณ 2557-2559 พบแนวโน้มอัตราป่วยของวัณโรคสูงขึ้น คิดเป็น 148, 153 และ 165 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ ผลสำเร็จของการรักษาร้อยละ 86, 85 และ 88.04 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคของกระทรวงสาธารณสุข (ร้อยละ 90) สาเหตุการรักษาไม่สำเร็จได้แก่ ผู้ป่วยวัณโรคปอดเสียชีวิต ร้อยละ 8.03,11.2 และ 6.52 ตามลำดับ การขาดยา ร้อยละ 3.11,0.93 และ 2.17 ตามลำดับ และรักษาล้มเหลว ร้อยละ 3.0,2.8 และ 1.08 ตามลำดับ ดังนั้นการเสียชีวิตและการขาดยาจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ญาติผู้ป่วย แรงงานต่างด้าวและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วย จากผลการดำเนินงานวัณโรคของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยเตย ในปีงบประมาณ 2557-2559 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่อัตราเพิ่มมากขึ้น คิดเป็น 67, 114 และ 116 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ โดยในปี 2559 พบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา MDR-TB (Multi-drug resistant TB) คิดเป็น 22 ต่อแสนประชากร และอัตราการรักษาหาย ร้อยละ 66.7 ,80 และ 71.42 ตามลำดับ ซึ่งผลการรักษาไม่บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ (ร้อยละ 85) สาเหตุของการรักษาไม่ได้ตามเป้าหมายเกิดจากที่ผู้ป่วยขาดยามากที่สุด ร้อยละ 33.3 ,20 และ 28.56 ตามลำดับ ถ้าผู้ป่วยวัณโรครับการรักษาไม่ต่อเนื่องหรือรักษาไม่ครบตามกำหนดตามแผนการรักษา จะส่งผลให้เกิดปัญหาการแพร่เชื้อสู่บุคคลรอบข้างและหากผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อที่ขาดการรักษาหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 ปีครึ่ง จะมีอัตราการตายถึงร้อยละ 30-50 ภายในเวลา 5 ปี สำหรับกรณีรักษาบ้างถึงแม้จะไม่สม่ำเสมอผู้ป่วยก็จะอายุยืนยาวขึ้นแต่ไม่หายจากโรคและยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้และการที่ผู้ป่วยขาดการรักษา หรือรับยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้เกิดเชื้อวัณโรคดื้อยา MRD-TB (Multidrug Resistance Tuberculosis ) (กรมควบคุมโรค, 2551) ซึ่งในการดำเนินงานวัณโรคยังต้องอาศัยการค้นหาคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่เป็นอย่างมากเพื่อเร่งรัดการควบคุมผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ การควบคุมกำกับการการกินยาโดยมีพี่เลี้ยงในผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชนและการระดมความร่วมมือจากภาคภาคีเครือข่าย ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านวัณโรค รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาวัณโรคในชุมชน (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2559) ดังนั้นในการดำเนินงานด้านวัณโรคจะประสบผลสำเร็จต้องมาจากการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาปัจจัยทางการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจะได้นำผลการวิจัยมาพัฒนางานด้านวัณโรคและประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขในตำบลเว่อ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานด้านวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อศึกษาปัจจัยทางการบริหารมีผลต่อการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ วัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อศึกษา 4.1 ระดับปัจจัยการบริหาร และระดับการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 4.2 ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันวัณโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบลเว่อ จำนวน 88 คน  
เครื่องมือ : 1.แบบสอบถาม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 7.1 ผู้วิจัยจะขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยชี้แจงวัตถุประสงค์ในการวิจัยรายละเอียดการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในกลุ่มตัวอย่าง 7.2 ในกรณีแบบสนทนากลุ่ม ดำเนินการต่อเนื่อง 4 ขั้นตอน ดังนี้ 7.2.1 ขั้นเตรียมการ 1) ผู้วิจัยนัดวันสนทนากลุ่มกลุ่มตัวอย่างทั้ง 15 คนล่วงหน้า 2) แจ้งหัวข้อในการสนทนากลุ่มให้กลุ่มตัวอย่างทราบเพื่อขอความร่วมมือ 3) ก่อนทำการสนทนากลุ่ม ผู้วิจัยได้ทบทวนความเข้าใจรายละเอียดของแบบสนทนากลุ่มทุกครั้ง 7.2.2 ขั้นการสนทนากลุ่ม 1) ผู้วิจัยแนะนำตัวและแจ้งวัตถุประสงค์ของการสนทนากลุ่ม 2) ผู้วิจัยทำการสนทนากลุ่มกลุ่มตัวอย่างทั้ง 15 คน 3) ในการสนทนากลุ่ม ผู้วิจัยได้สร้างความคุ้นเคยและเป็นกันเองกับผู้ถูกสนทนากลุ่มเพื่อสร้างความไว้วางใจให้เป็นประโยชน์ในการให้ข้อมูลตรงตามสภาพความจริงมากที่สุด 4) ในวันนัดสนทนากลุ่ม ถ้ากลุ่มตัวอย่างไม่อยู่ ให้เลื่อนการสนทนากลุ่มและนัดวันสนทนากลุ่มใหม่ จนกว่ากลุ่มตัวอย่างจะอยู่ให้สนทนากลุ่มได้ 7.2.3 ขั้นการบันทึกผล 1) บันทึกผลการสนทนากลุ่มโดยการขออนุญาตจดบันทึกและอัดเครื่องบันทึกเสียงในขณะที่ทำการสนทนากลุ่ม หลังจากนั้นให้บันทึกผลการสนทนากลุ่มภายหลัง การสนทนากลุ่มเสร็จใหม่ๆ เพื่อป้องกันการลืม 6.2.4 ขั้นปิดการให้สนทนากลุ่ม 1) ทบทวนความถูกต้องและความเชื่อถือได้ของข้อมูลก่อนปิดการสนทนากลุ่ม 2) ผู้วิจัยกล่าวขอบคุณผู้ให้สนทนากลุ่ม 3) ภายหลังการสนทนากลุ่มผู้วิจัยทำหนังสือขอบคุณผู้ให้สนทนากลุ่มทุกคน  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง