ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เสนอโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรและผลกระทบต่อสุขภาพทั้ง 4 มิติของเกษตรกรกลุ่มปลูกแตงโม ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พีรยา ลาภบุญเรือง ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ประเทศไทย มีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการผลิตเพื่อบริโภคเองภายใน ประเทศและมีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการรักษาและเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม โดยถูกนำมาใช้อย่างไม่จำกัดขอบเขต ทั้งในรูปของปริมาณการใช้ การซื้อหาที่ทำได้อย่างเสรี โดยพบว่าการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของไทยย้อนหลัง3 ปี (2557-2559) ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 147,269 ตัน , 149,458 ตัน และ 160,687 ตัน ตามลำดับ ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี (เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, 2560) แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก โดยนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การนำสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้นั้น หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งตัวเกษตรกรและประชาชนที่อาศัยอยู่รอบแหล่งผลิต รวมถึงสารเคมีเหล่านี้ยังตกค้างอยู่ในดิน น้ำและผลผลิต โดยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังใช้ ดังนั้นพฤติกรรมการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงมีผลอย่างยิ่งต่อการได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางจิตทำให้เกิดอาการหงุดหงิด รำคาญ วิตกกังวล เป็นต้น จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าผลกระทบของสารเคมีการเกษตรได้ส่งผลต่อมิติต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศน์โดยรวม ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งของบุคคล ครอบครัว และชุมชน จึงต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ แตงโม ซึ่งมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง จากข้อมูลการรับบริการของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานาง ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด ในปี 2559 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการผื่นคันจากการแพ้สารเคมี อ่อนเพลีย วิงเวียนหน้ามืด จำนวน 55 คน และจากการตรวจวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกร พบว่าปริมาณเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยร้อยละ 34.88 และ 20.36 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรและผลกระทบต่อสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางจิตวิญญาณของเกษตรกรกลุ่มปลูกแตงโม ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสมให้กับเกษตรกร และลดผลกระทบต่อสุขภาพ นำไปสู่ความปลอดภัยของผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มปลูกแตงโม 2. เพื่อศึกษาผลกระทบของการใช้สารเคมีต่อสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางจิตวิญญาณ  
กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรกลุ่มปลูกแตงโมในพื้นที่ตำบลดอนสมบูรณ์อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 80 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถามพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรและผลกระทบต่อสุขภาพทั้ง 4 มิติ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนที่ 2 พฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกร ได้แก่ การปฏิบัติตัวก่อนใช้ ระหว่างใช้และหลังใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนที่ 3 ผลกระทบของการใช้สารเคมีต่อสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ ทางกาย ทางจิตใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ประสานขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเป็นผู้ช่วยวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูล และประชุมชี้แจงอสม.ในการใช้แบบสอบถามแต่ละข้อคำถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 2. ขออนุญาตในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการศึกษา แล้วดำเนินการเก็บข้อมูล 3. ดำเนินการเก็บข้อมูลตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด แล้วนำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูล 4. ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จรูป  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง