ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : กระบวนการพัฒนาแนวทางการควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนากระเดา ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นายประมวล สะภา,นางดวงพร บุญธรรม ,นางสาวจันจิรา พิมพ์แสง ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์โรควัณโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนากระเดาพัฒนา 3 ปี ย้อนหลัง พบว่า ในปี 2557 พบผู้ป่วยเป็นวัณโรค 2 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 0.88 ต่อประชากรพันคนในปี 2558 พบผู้ป่วยเป็นวัณโรค 3 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 1.32 ต่อประชากรพันคน เสียชีวิตจากวัณโรค 1 ราย อัตราตายคิดเป็น 0.44 ต่อประชากรพันคน ในปี 2559 พบว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรค 5 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 2.21 ต่อประชากรพันคน และพบผู้ป่วยดื้อยา MDR-TB ในปี 2559 จำนวน 1 ราย และกลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่ ดังนี้ AIDS จำนวน 1 คน, DM/HT จำนวน 213 คน, ผู้สูงอายุ จำนวน 400 คน, กลุ่มแกะสลักหิน จำนวน 57 คน, ผู้สัมผัสร่วมบ้าน จำนวน 25 คน จากการเฝ้าระวังโรคที่ผ่านมาพบปัญหาของผู้ป่วย คือ การรับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอ มีอาการแพ้ยา ซึ่งเกิดได้บ่อยในช่วง 2 เดือนแรก ระยะเวลาในการรักษานาน ซึ่งต้องกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อผู้ป่วยกินยาได้ประมาณ 2 เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นมาก จนคิดตัวเองหายแล้ว และเลิกกินยาเอง ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาวัณโรคได้ ซึ่งส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น และอาจตายจากการป่วยเรื้อรังได้ หรือมีระยะเวลาแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ในชุมชนได้นานขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นมาตรการในชุมชนได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในระยะเริ่มแรกและการรักษาแบบ DOT ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษากระบวนการป้องกันและควบคุมโรควัณโรคในชุมชน เพื่อใช้ในการกำหนดแนวทางดำเนินงานต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษากระบวนการป้องกันและควบคุมโรควัณโรคในชุมชน 2.เพื่อประเมินประสิทธิผลการใช้กระบวนการป้องกันและควบคุมโรควัณโรคในชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มประชากร ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ดูแลผู้ป่วยในครัวเรือน ผู้นำชุมชน และ อสม.ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลบ้านนากระเดา  
เครื่องมือ : เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1.แบบสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (focus group) 2.แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วย 3.ทะเบียนการค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ในชุมชน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : รูปแบบการศึกษา การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพการณ์และวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรควัณโรคใน ชุมชน โดยการทบทวนประวัติการรักษาและสัมภาษณ์การปฏิบัติในการรักษาและการป้องกันโรควัณโรคของผู้ป่วยในชุมชน สัมภาษณ์แบบกลุ่มภาคีเครือข่ายและ ครอบครัวของผู้ป่วย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์จัดกลุ่มของปัญหา ระยะที่ 2 ออกแบบและวางแนวทางการป้องกันและควบคุมโรควัณโรคในชุมชนร่วมกับภาคี เครือข่ายและตัวแทนจากครอบครัวผู้ป่วย ด้วยเทคนิคการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ระยะที่ 3 การทดลองใช้และประเมินประสิทธิผลตามเกณฑ์ที่กำหนดและสัมภาษณ์การปฏิบัติในการรักษาและการป้องกันโรควัณโรคของผู้ป่วยในชุมชนหลังการใช้กระบวนการ การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสนทนากลุ่ม ผู้ศึกษามีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลจากการจดบันทึกและเครื่องบันทึกเสียงและทำดัชนีข้อมูลที่ได้จากการสนทนา แล้ววิเคราะห์สรุปข้อมูลจากการสนทนา การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้ค่าสถิติเชิงพรรณนาและค่าสิถิติเชิงวิเคราะห์ pair simple t-test  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาจาการสถานการณ์ก่อนกระบวนการพัฒนาการควบคุม ป้องกันโรควัณโรค พบว่า ชุมชนยังขาดรูปแบบในการควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในชุมชนที่ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นการบริการเชิงรับ ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย กระบวนการคัดกรองมีความล่าช้า ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าและเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา และกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค ผู้นำชุมชน ครู และอาสาสมัครสาธารณสุข มีความรู้ไม่เพียงพอ ภายหลังกระบวนการพัฒนา พบว่า ชุมชนได้ร่วมกันสะท้อนคิดก่อให้เกิดรูปแบบกระบวนการพัฒนาแนวทางการควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในชุมชน ประกอบด้วย ๑.การสร้างภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน ๒.การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในระยะเริ่มแรก ๓.การวินิจฉัยวัณโรค ๔.การจัดคลินิกบริการในรพ.สต. ๕.ทะเบียนและรายงานวัณโรค และ ๖.การขับเคลื่อนทางสังคมภาคีเครือข่ายสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนด มีการติดตาม และดูแลผู้ป่วยวัณโรคในชุมชนทุกครั้ง ผลจากการนำกระบวนการพัฒนาแนวทางการควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในชุมชนมาใช้ พบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค ผู้นำชุมชน ครู และอาสาสมัครสาธารณสุข สามารถควบคุม ป้องกันโรควัณโรคในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าภาคีเครือข่าย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนด มีการติดตาม และดูแลผู้ป่วยวัณโรคในชุมชนได้อย่างแท้จริง  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)