ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกระบวนการ ห้าเครือข่าย หกร่วม เจ็ดคุณลักษณะ ในชุมชนเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พิมพ์ภณิดา เพิ่มขึ้น ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever-DHF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลาย(Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค พบระบาดครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ.2497 และต่อมาพบระบาดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2501 เป็นต้นมา ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พบได้ทุกกลุ่มอายุ ทุกจังหวัดและทุกภาคของประเทศ (ศิริเพ็ญและคณะ, 2556) จากสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทย ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจาก 46,829 ราย (อัตราป่วย 74.78 ต่อแสนประชากร) ในปี พ.ศ.2549 เป็น 63,310 ราย(อัตราป่วย 96.76 ต่อแสนประชากร) ในปี 2559 มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จาก 59 ราย ในปี พ.ศ. 2549 เป็น 61 รายในปี พ.ศ. 2559 (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2559) ในขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกพื้นที่ซึ่งพบผู้ป่วยต่อเนื่องทุกปีและรุนแรงจนเสียชีวิตในบางปี สำหรับอำเภอนาคู พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในชุมชนเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลนาคู พบอัตราป่วยของโรคไข้เลือดออกในปี 2559 สูงกว่าค่ามัธยฐาน ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และพบจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุดในระดับอำเภอนาคู จากการทบทวนรูปแบบการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลนาคู ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายในชุมชน อาทิ ท้องถิ่น สถานศึกษา ผู้นำชุมชน ซึ่งถือเป็นเครือข่ายสำคัญ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยบูรณาการจากกระบวนการ “ห้าเครือข่าย ห้าร่วม ห้าคุณลักษณะ” ของอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งตามที่ กรมควบคุมโรคกำหนด ให้เข้ากับบริบทของชุมชนในพื้นที่เป็นกระบวนการ “ห้าเครือข่าย หกร่วม เจ็ดคุณลักษณะ ชุมชนเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลนาคู” เพื่อให้เกิดระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนอย่างยั่งยืน  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกระบวนการ “ห้าเครือข่าย หกร่วม เจ็ดคุณลักษณะ” ในชุมชนเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : 1. ประชากร : ประชาชนในชุมชนเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลนาคู จำนวน 6 หมู่บ้าน ตำบลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2560 2. กลุ่มตัวอย่าง : คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักจัดการสุขภาพ และบุคลากรจากสถานศึกษา จากจำนวน 6 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 94 คน  
เครื่องมือ : 1.แบบสำรวจและสัมภาษณ์ชุมชน 2.แบบรายงานทางระบาดวิทยาโรคไข้เลือดออกในชุมชน 3.แบบให้คะแนนการประกวด“ชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านน่ามอง ปลอดลูกน้ำยุงลาย” 4.แบบสอบถาม 5.แบบบันทึกการสนทนากลุ่มแบบมีส่วนร่วม 6.แบบประเมินกระบวนการดำเนินงาน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.ขั้นตอนก่อนการดำเนินการวิจัย 1.1 ทบทวนแนวคิดทฤษฎี เอกสาร รายงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน 1.2 ศึกษาข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของพื้นที่ ดัชนีชี้วัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ 2.ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย การดำเนินการ ตามกระบวนการ ห้าเครือข่าย หกร่วม เจ็ดคุณลักษณะ บูรณาการในพื้นที่โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สภาพปัญหา และร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเทคนิคกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Appreciation Influence Control : AIC) ระยะที่ 2 ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออก ด้วยกระบวนการ ห้าเครือข่าย (ผู้นำชุมชนเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักจัดการสุขภาพ และบุคลากรจากสถานศึกษา) หกร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมประเมินผล ร่วมพัฒนา ร่วมสื่อสารสร้างกระแส) เจ็ดคุณลักษณะ (คณะกรรมการ ศูนย์ระบาดวิทยาในชุมชน ระบบระบาดวิทยา การวางแผน การระดมทุน การปรับปรุงแผนกลยุทธ์ ผลสำเร็จของการควบคุมโรค ) ระยะที่ 3 ประเมินผลรูปแบบการดำเนินงาน การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกระบวนการ ห้าเครือข่าย หกร่วม เจ็ดคุณลักษณะ ในชุมชนเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลนาคู ประกอบด้วย การประเมินกระบวนการดำเนินงาน การประกวด “ชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านน่ามอง ปลอดลูกน้ำยุงลาย” และผลการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ระยะที่ 4 ถอดบทเรียน ผลการดำเนินงานโดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้รายไตรมาส เพื่อพัฒนาปรับปรุงแผนในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูล 1.ข้อมูลเชิงปริมาณ : ใช้ค่าสถิติ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.ข้อมูลเชิงคุณภาพ : ใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง