|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาระบบการเบิก-จ่ายยาภายใน เครือข่ายบริการสาธารณสุขอำเภอคำม่วง–สามชัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยา |
ผู้แต่ง : |
ปัญจมา ชิณพร, ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง |
ปี : 2559 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายและมาตรการเพื่อควบคุมการใช้ยาประกาศออกมาจำนวนมาก ผ่านทั้งทางกฎหมายและผ่านทางนโยบายของหน่วยงานต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 นโยบายแห่งชาติด้านยา แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยา มีหลายหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยาดังกล่าว ออกมาขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สภาเภสัชกรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ แต่มูลค่าการใช้ยาของประเทศกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อม กับการเพิ่มขึ้นของผู้มารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ ในประเทศไทยพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายด้านการรักษาผู้ป่วยนอก และคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน1 การบริหารเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยทำให้มูลค่าการใช้ยาลดลงได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการและเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเป้าหมายหลักของการพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายเวชภัณฑ์ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน คือ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ สามารถมีใช้อย่างเพียงพอ และเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่จำเป็น เช่น ยาหมดอายุ ยาค้างคลังอันนำไปสู่การหมดอายุ เภสัชกรผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารเวชภัณฑ์จึงมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ สำหรับงานบริหารเวชภัณฑ์ในระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถือเป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของเภสัชกรที่ดูแลงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ
จังหวัดกาฬสินธุ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางานปฐมภูมิโดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ2 โดยนอกจากจะเน้นระบบการบริการที่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว ยังเน้นการพัฒนาสุขศาลาโดยการบริการของอาสาสมัครประจำหมู่บ้านเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา และลดภาระในการให้บริการของสถานบริการของรัฐ เครือข่ายประสานงานสาธารณสุขอำเภอ (คปสอ.) คำม่วง - สามชัย ได้มีการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ในเรื่องงานบริหารเวชภัณฑ์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ก็ยังพบปัญหาการเบิก-จ่ายยาที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนผู้มารับบริการ และการบันทึกข้อมูลการบริการผู้ป่วยด้วยยาไม่เป็นปัจจุบัน3 ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมาคือ ยาหมดอายุ ยาเกินคงคลังที่กำหนด (overstock) และยาขาดคลัง ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านยาโดยไม่จำเป็นและส่งผลให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาไม่สามารถเข้าถึงยาได้
จากนโยบายและสภาพปัญหางานเภสัชกรรมปฐมภูมิในประเด็นการบริหารเวชภัณฑ์ดังกล่าว ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชนโรงพยาบาลคำม่วง ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขต คปสอ.คำม่วง-สามชัย ทั้ง 12 แห่งจึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่าย โดยดำเนินการในรูปแบบงานวิจัยจากงานประจำ (Routine to Research; R2R) เพื่อร่วมกันค้นหาปัญหาที่คงเหลืออยู่ ร่วมกันวางแผน และสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาระบบการเบิก–จ่ายยาภายใน คปสอ.คำม่วง–สามชัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยาของแต่ละรพ.สต.ในเขตพื้นที่ และการเบิก-จ่ายระหว่างโรงพยาบาลชุมชนคำม่วงและ รพ.สต.ทั้ง 12 แห่งในเขตรับผิดชอบ
|
|
วัตถุประสงค์ : |
1. เพื่อพัฒนาระบบและแนวทางการเบิก–จ่ายยาที่มีประสิทธิภาพอันเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย คปสอ. คำม่วง–สามชัย
2. เพื่อเปรียบเทียบผลการพัฒนาแนวทางการเบิก-จ่าย ก่อนและหลังการพัฒนาระบบการเบิก–จ่ายยา ภายใน คปสอ. คำม่วง–สามชัย ใน 4 ประเด็น เพื่อแสดงประสิทธิภาพในการบริหารเวชภัณฑ์ดังนี้
1) จำนวนรายการยาที่ขาดคลัง (Out of stock)
2) จำนวนและมูลค่ารายการยาที่หมดอายุ (Expired stock)
3) จำนวนและมูลค่ารายการยาที่เกินคงคลังที่กำหนด (Over stock)
4) จำนวนครั้งที่เบิกฉุกเฉินต่อเดือน (Emergency stock)
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
รพ.สต.12 แห่ง ใน คปสอ. คำม่วง–สามชัย |
|
เครื่องมือ : |
1.กระบวนการในการจัดการประชุมเพื่อหาแนวทางในการเบิก–จ่ายยาร่วมกันภายในภาคีเครือข่าย คปสอ. คำม่วง – สามชัย
2.แบบฟอร์มการเก็บข้อมูลลักษณะทั่วไปของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และข้อมูลการบริหารเวชภัณฑ์ (การเบิก-จ่าย) ยา โดยประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ
2.1 ข้อมูลลักษณะทั่วไปของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกลุ่มตัวอย่างทั้ง 12 แห่ง ประกอบด้วย ข้อมูลตำแหน่งบุคลากรในรพ.สต. ตำแหน่งของผู้ดูแลระบบยา ระยะเวลาในการทำงานด้านระบบยาในรพสต. สายการบังคับบัญชา จำนวนประชากรที่ รพ.สต.รับผิดชอบ
2.2 ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยา ได้แก่ จำนวนและรายการยาที่หมดอายุ จำนวนและรายการยาที่ขาดคลัง จำนวนครั้งและรายการยาที่เบิกฉุกเฉินเนื่องจากยาหมด และจำนวนรายการยายาเกินคงคลังที่กำหนด
ระยะเวลาในการทำการศึกษาครั้งนี้ ตั้งแค่ ธันวาคม 2557 – พฤษภาคม 2558 ทำการศึกษาในเขตพื้นที่ของ คปสอ.คำม่วง-สามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
1.ทบทวนเอกสารและบทความวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย เพื่อศึกษาแนวทางในการเบิก –จ่ายเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในหน่วยงานอื่นๆ และระบบการทำงานที่เหมาะสม
2.ติดต่อประสานงานกลุ่มตัวอย่างเพื่อขอความร่วมมือ และความยินยอมในการร่วมพัฒนาระบบและแนวทางในการเบิก-จ่ายที่มีประสิทธิภาพ เชิญกลุ่มตัวอย่างมาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงกระบวนการทำงานและที่มาของการพัฒนาระบบการเบิก-จ่ายยาและเวชภัณฑ์ร่วมกัน โดยถือว่าเป็นทีมงานพัฒนาระบบร่วมกัน
3.ประชุมทีมงานเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบเบิกจ่ายยา ภายใน คปสอ. คำม่วง–สามชัย โดยการประชุมกลุ่ม วัตถุประสงค์เพื่อหาปัญหาในการเบิกจ่ายยาจาก รพ.สต. และรพช. ที่ยังคงมีเหลืออยู่ และสาเหตุของปัญหาคืออะไร เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
4.ดำเนินการตามแนวทางที่ทุกคนร่วมกันกำหนดและประเมินผลการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการเบิก–จ่ายยา กรณีประเมินผลพบว่าแนวทางดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้จริง โดยการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานภายในของภาคีเครือข่าย คปสอ.คำม่วง–สามชัย
กิจกรรมที่เภสัชกรผู้ปฎิบัติและดูแลการบริหารเวชภัณฑ์ยาของโรงพยาบาลคำม่วงดำเนินการให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างคือ การอบรมความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารเวชภัณฑ์ยา เช่น การมีคลังยาใน รพ.สต. การดูแล การบริหารจัดการข้อมูล เป้าหมายหลักของการบริหารเวชภัณฑ์ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นถ้าดำเนินการให้การบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อย และการออกนิเทศงานเพื่อดูพัฒนาการของระบบการเบิก-จ่ายในแต่ละ รพ.สต. การให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์
5.สรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเบิก-จ่ายยาทั้งหมดที่ร่วมกันเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับการยอมรับของทุกส่วนของ รพ.สต.
6.ดำเนินการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยา ระหว่างเดือนธันวาคม 2557- พฤษภาคม 2558 เป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน โดยก่อนที่จะพัฒนาระบบและใน 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
1) จำนวนรายการยาที่ขาดคลัง (out of stock)
2) จำนวนและมูลค่ารายการยาที่หมดอายุ (expired stock)
3) จำนวนและมูลค่ารายการยาที่เกินคงคลังที่กำหนด (over stock)
4) จำนวนครั้งที่เบิกฉุกเฉินต่อเดือน (emergency stock)
7.เก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องของข้อมูลประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยาใน 4 ประเด็น โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนการดำเนินการตามระบบที่พัฒนาขึ้น ช่วงก่อนการดำเนินการพัฒนาระบบ จำนวน 4 เดือน คือระหว่าง ธันวาคม 2557-มีนาคม 2558 และช่วงเวลาหลังการพัฒนาระบบ จำนวน 2 เดือน คือระหว่างเมษายน-พฤษภาคม 2558
8. วิเคราะห์ข้อมูลผลประสิทธิผลการบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา ระหว่างก่อนและหลังการพัฒนาระบบและได้แนวทาง โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ไก้แก่ McNemar Chi-Square และ Wilcoxon Signed Ranks test
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
ในการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการเบิก-จ่ายยาภายใน คปสอ.คำม่วง–สามชัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ยา ผลการศึกษาสามารถนำเสนอได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. แนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา ผลการประชุมสรุปร่วมกัน
2. ประสิทธิภาพของการบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก – จ่ายยาก่อนและหลังการพัฒนาระบบและดำเนินตามแนวทางในการพัฒนาซึ่งได้จากการประชุม
1.1 ข้อมูลทั่วไปของ รพ.สต.ในเขต คปสอ.คำม่วง-สามชัย ทั้งหมด 12 แห่ง
1.2 ข้อมูลแสดงผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ก่อนและหลังพัฒนาระบบและแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา
ส่วนที่ 1 แนวทางในการพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา ใน รพ.สต.
จากการประชุมร่วมกันระหว่างเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนคำม่วงจำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลระบบยา การบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา ในแต่ละ รพ.สต. จำนวนแห่งละ 2 คน จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการประเมินความเข้าใจของบุคลากรที่ดูแลระบบยา การบริหารเวชภัณฑ์ของแต่ละ รพ.สต สร้างความตระหนักและทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการบริหารเวชภัณฑ์ที่ดี มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่จำเป็นให้กับประเทศได้ และการประชุมครั้งที่สองเพื่อร่วมกันเสนอสถานการณ์ปัจจุบันของการเบิก-จ่ายยาระหว่าง รพช. และรพ.สต. และประเมินปัญหาและสาเหตุของปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และนำแนวทางไปประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ต่อไป
สรุปประเด็นแนวทางในการเบิก–จ่ายยาภายในเขต คปสอ.คำม่วง-สามชัย ที่ได้จากการเสนอแนวคิดและเห็นร่วมกันว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการมียาใช้ โดยทุก รพ.สต. ต้องนำไปปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเอง มีรายละเอียดดังนี้
1.ให้ทุก รพ.สต.ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลการเบิก-จ่ายยาและราคายาให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นฐานคิดในการพิจารณาปริมาณ รายการยาที่ต้องการเบิก-จ่าย ที่ตรงกับความต้องการใช้ในแต่ละ รพ.สต.
2.แนวทางในเตรียมความพร้อมและการจัดการรายการยาที่ใกล้หมดอายุ และหมดอายุไปแล้ว
3.ให้มีการบันทึกอุณหภูมิตู้เย็นและคลังเวชภัณฑ์ให้เป็นปัจจุบันเพื่อรักษาสภาพ ยาที่คงคลังไว้ให้มีประสิทธิภาพ
4.จัดทำคู่มือการบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่าย การเก็บรักษานา โดยเภสัชกร มอบให้ทุก รพ.สต. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน
5.จัดทำคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ดูแลบริหารเวชภัณฑ์ในแต่ละ รพสต. อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน
6.กรณีที่ รพ.สต.ใด ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบการบริหารเวชภัณฑ์ยา ควรจัดให้มีการอบรมบทบาทและหน้าที่ให้กับผู้รับผิดรายใหม่ และให้มีการส่งมอบข้อมูลระหว่างผู้ดูแลการบริหารเวชภัณฑ์เดิมและผู้ดูแลใหม่
7.ให้กลุ่มงานเภสัชกรรมจัดทำการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) .ของแต่ละโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง
8.ให้มีการนิเทศงานและติดตามตรวจสอบทธิภาพในการบริหารจัดการยาในคลังเวชภัณฑ์ทุก 6 เดือนโดยเภสัชกร
9.จัดอบรมงานบริหารเวชภัณฑ์ให้ รพ.สต.ประกอบด้วยการทำสต๊อกการ์ด การใช้โปรแกรมบริหารเวชภัณฑ์และการบริการผู้ป่วยในโปรแกรม JHCIS (Java Health Center Information System) ของสถานีอนามัย
ส่วนที่ 2 ประสิทธิภาพการเบิก–จ่ายยาก่อนและหลังการพัฒนาระบบ
2.1 ข้อมูลทั่วไปของ รพ.สต ในเขต คปสอ.คำม่วง-สามชัย จำนวน 12 แห่ง.
ทั้ง 12 รพ.สต.ในเขตรับผิดชอบของ คปสอ.คำม่วง-สามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีมีจำนวนบุคลากรจำนวน 89 คน โดยเฉลี่ยแห่งประมาณละ 7 คน จากตารางที่ 1 พบว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานทันตะภิบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุข (แพทย์แผนไทย) ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เจ้าพนักงานบันทึกข้อมูล และพนักงานทำความสะอาด โดยใน รพ.สตมีบุคลากรตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพจำนวนมากที่สุด พบจำนวนทั้งหมด 16 คน เฉลี่ย 1.33 คนต่อ 1 รพ.สต. รองลงมาคือเจ้าพนักงานสาธารณสุข พบจำนวนทั้งหมด 15 คนมีจำนวนเฉลี่ย 1.25 คนต่อ รพ.สต. และนักวิชาการสาธารณสุข พบจำนวนทั้งหมด 13 คน เฉลี่ย 1.08 คนต่อ 1 รพ.สต.
ผู้ดูแลระบบยาและทำหน้าที่บริหารเวชภัณฑ์ เบิก-จ่ายยาใน รพสต. ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพ และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน พบใน รพ.สต.จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.33 ระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่ รพ.สต.นี้ของผู้ดูแลระบบยา เฉลี่ย 1.78 ปีต่อคน สายการบังคับบัญชาส่วนมากขึ้นตรงต่อสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.67 จำนวนประชากรทั้งหมดที่ทั้ง คปสอ.หรือทั้ง 12 รพ.สต.ดูแลคือ 63,407 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 5,283.92 คนต่อ รพสต. โดย รพ.สต. ที่ 5 มีจำนวนประชากรที่ต้องดูแลมากที่สุดคือ จำนวน 9,205 คน คิดเป็นร้อยละ 14.52 ของประชากรดูแลทั้งหมดใน คปสอ. รายละเอียดดังแสดงตารางที่ 1
2.2 ข้อมูลแสดงประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์ก่อนและหลังพัฒนาระบบและแนวทางในการจัดการปัญหาใน 12 รพ.สต.
ผลการพิจารณาประเมินประสิทธิภาพของการพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ การเบิก-จ่ายยา โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน คือยาขาดคลัง ยาเบิกฉุกฉินเรื่องจากยาขาด ยาเกินคงคลังที่กำหนด และยาที่หมาดอายุ ผลการดำเนินการแนวทางการเบิก-จ่ายยาที่ร่วมกันกำหนด เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ผลการศึกษาแสดงให้เป็นว่า ในระยะเวลาพัฒนาและปรับปรุง 2 เดือน พบว่ามีโอกาสสูงหรือทิศทางที่ดีในการลดจำนวน รพ.สต.ที่มียาขาดคลัง และไม่พร้อมใช้งานตามความจำเป็นของผู้ป่วยได้ อีกทั้งมี รพ.สต.ที่พบว่าสามารถจัดการการเบิกยาฉุกเฉินได้เพิ่มมากขึ้น แต่พบว่าประสิทธิภาพการบริหารเวชภัณฑ์บางประเด็นยังมีแนวโน้มแย่ลง เช่น มูลค่ายาเกินคงคลังที่กำหนด และจำนวน รพ.สต.ที่พบยาหมดอายุ รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 2
อภิปรายผลการวิจัย
1.การได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาระบบเบิก-จ่ายยา คปสอ. คำม่วง-สามชัยโดยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทำให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงานและเกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงกับความต้องการของผู้ปฏิบัติงานเพราะกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมจะมีการกำหนดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆให้ครอบคลุม แล้วทำให้เกิดกระบวนการร่วมคิดร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินผลและร่วมรับผลประโยชน์4 และเน้นการยอมรับและเห็นพ้องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง5
2.บุคลากรที่ดูแลระบบยาประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพ ตั้งแต่ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการ
สาธารณสุขนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตะสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน แพทย์แผนไทย ซึ่งแต่ละวิชาชีพไม่องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบยาเลยและทำงานในรพ.สต.แห่งนั้นเฉลี่ย 1.78 ปีสะท้อนให้เห็นว่าผู้ดูแลระบบยาส่วนมากเป็นบุคลากรที่มาปฏิบัติงานใหม่มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยทำให้มีทักษะในการปฏิบัติงานในด้านนี้น้อยเพราะประสบการณ์มีผลต่อพฤติกรมในการปฏิบัติงาน8 และเจ้าหน้าที่ รพสต. ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบยาว่าจะต้องมีความต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีองค์ความรู้ว่าการเบิก – จ่าย ยามีกฎหมายว่าด้วยระเบียบพัสดุฯ ควบคุมทำให้ไม่เห็นความสำคัญที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องถูกระเบียบและถูกกฎหมาย
3.มีรพ.สต.ที่มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น1 แห่ง คือ รพ.สต.ที่ 4
และพบว่าจำนวนบุคลากรใน รพ.สต.แห่งนี้มี 2 คน คือ พยาบาลวิชาชีพและพนักงานบันทึกข้อมูลและพบปัญหายาหมดอายุมูลค่ามากที่สุดเนื่องจากสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบปัญหา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง การบริหารด้านบุคลากรที่รับผิดชอบการถ่ายโอนยังไม่ชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงต่อกันของระบบสุขภาพ เนื่องจากต้องมีการติดตามงานของ 2 หน่วยงานคือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ในการดูแลระบบยาโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอไม่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ รพ.สต.แห่งนี้ จึงขาดการติดตามและพัฒนางานดังกล่าวการประสานงานยากขึ้นเนื่องจากสายการบังคับบัญชาที่ต่างกันทำให้เกิดการพูดคุยประสานงานกันน้อยลง เพราะสถานะของสถานะขอสถานีอนามัยถ่ายโอนและเจ้าหน้าที่ถ่ายโอนจะตกอยู่ตรงชายขอบของสองพื้นที่คือ พื้นที่ของสาธารณสุขและพื้นที่ของท้องถิ่น เมื่อต้องสัมพันธ์กับระบบสาธารณสุขเดิม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสถานีอนามัยถ่ายโอน จะมีภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่ “พี่น้องสาธารณสุขเดิม” “คนของท้องถิ่น” แต่ในสายตาของท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือ “ข้าราชการถ่ายโอน” ที่ไม่ใช่ลูกหม้อึ7
4.ประสิทธิภาพในการบริหารเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นในประเด็น จำนวนยาขาดและมูลค่ายาหมดอายุลดลง อาจเกิดจากผลของการพัฒนาระบบในครั้งนี้ แต่เนื่องจากการศึกษาเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นจึงควรมีการทบทวนและติดตามอย่างสม่ำเสมอต่อไป
5.ประสิทธิภาพในการบริหารเวชภัณฑ์ลดลงในประเด็นมูลค่ายาเกินคงคลังที่กำหนดเพิ่มขึ้นเพราะปัญหาในการบริหารคลังคือ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถประมาณการได้ว่ายารายการไหนใช้มาก-น้อย จึงระบุไม่ได้ว่ารายการไหนที่ควรมีคงคลังไว้มาก–น้อย อย่างไร เพราะระบบเพิ่งจะเริ่มพัฒนาเภสัชกรผู้รับผิดชอบงานเพิ่งจะทำการสอนวิธีการคำนวณยาคงคลังคือเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เพิ่งจึงเริ่มเห็นทิศทางในการเบิก-จ่ายยา
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
ข้อเสนอแนะการทำวิจัยครั้งนี้
1. ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูลก่อน-หลัง ควรมากกว่านี้เพื่อจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการบริหารเวชภัณฑ์ที่ชัดเจน และทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการพัฒนาระบบเบิก-จ่ายยาอย่างแท้จริง
2. ควรทำคำสั่งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบระบบยา รพ.สต. ให้ชัดเจน ลงนามโดย สาธารณสุขอำเภอหรือนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามสายการบังคับบัญชา และควรมีการชี้แจงถึงระเบียบพัสดุฯ ในการดูแลระบบยา รพ.สต. หากจะมีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบไม่ให้ดำเนินการโดยพละการต้องเสนอชื่อมาที่สาธารณสุขอำเภอเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งผู้รับผิดชอบงานใหม่จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และควรมีการประเมินผลการปฏิบัติงานและให้รางวัลเพื่อเป็นการเสริมพลังสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ดีเด่น และส่งเสริมความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพ
3. รพ.สต. ควรมีตำแหน่งเจ้าพนักงานเภสัชกรรมซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบยาเพื่อจะได้มีองค์ความรู้และมีทักษะ และศักยภาพในทำงานด้านบริหารเวชภัณฑ์ที่ชัดเจน
ข้อเสนอแนะการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. เพื่อให้ได้แนวคิดจัดการแก้ไขปัญหาในรายละเอียดและทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการควรทำการวิจัยเชิงคุณภาพควบคู่ไปด้วย โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการจัดการระบบยา และระบบบริหารเวชภัณฑ์ รวมทั้งปัญหาในการบริหารคลังเวชภัณฑ์ รพ.สต. อาทิเช่น ผู้ดูแลระบบยา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ได้ข้อมูลปัญหาที่แท้จริงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
2. ควรมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการพัฒนาระบบเบิก-จ่ายยา อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จนกระทั่งความคลาดเคลื่อนทางยาเกิดขึ้นน้อยที่สุด
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ไม่มีเอกสารแนบ
|
|
|
|
|