ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : สาเหตุและมูลค่ายาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลสมเด็จ
ผู้แต่ง : ภัทราพร ภูลิ้นลาย ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ในปัจจุบันประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหายาเหลือใช้ในครัวเรือนที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ในการรักษาโรคของผู้ป่วยในครัวเรือน การมียาเหลือใช้ในครัวเรือนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริการทางสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น (พักตร์วิภา สุวรรณพรหมและคณะ, 2555) จากข้อมูลทางสถิติของสำนักงานโรคไม่ติดต่อ รายงานว่า ใน ปี 2551 มีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 675.7 คนและโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,927.0 คนต่อประชากรคนไทย 100,000 คน ซึ่งผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ มักจะยาได้รับยาครั้งละหลายชนิด หลายขนานและได้รับปริมาณมาก ผลตามมาคือ การมียาเหลือใช้ในครัวเรือนปริมาณสูง ปัญหายาเหลือใช้ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพผู้ป่วยเอง และผลในระดับประเทศชาติ ผลต่อผู้ป่วยคือ เพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยเนื่องจากผู้ป่วยอาจกินยาซ้ำซ้อน เช่น กินยาที่เคยได้รับมาก่อนแต่ยังเหลือ ร่วมกับยาที่เพิ่งได้รับมาใหม่ๆไปพร้อมกัน นำไปสู่ผลเสียก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตนเองได้ ผลต่อประเทศชาติคือ การสูญเสียงบประมาณเกินความจำเป็น ในงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องยาเหลือใช้ พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 60 มียาเหลือใช้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4% และประมาณการว่ามูลค่ายาเหลือใช้ทั้งประเทศมีประมาณ 4,000 ล้านบาท (สมชาย วงศ์ทางประเสริฐ,2556) การเกิดยาเหลือใช้ นอกจากทำให้ค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังนับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา ถ้าเก็บรักษาไม่ดีหรือเก็บไว้นานเกินไป ยาเหลือใช้เหล่านั้นอาจจะเสื่อมสภาพหรือหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังเป็นการบ่งบอกถึงปัญหาในการใช้ยาและความต่อเนื่องในการใช้ยาของผู้ป่วยอีกด้วย (ปราณิศา นิ่มอนงค์,2557) ปัญหายาเหลือใช้ เป็นปัญหาทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับประเทศชาติ เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วย คือ ความเสี่ยงในการใช้ยาผิด ใช้ยาเสื่อมสภาพ และการใช้ยาไม่เหมาะสม ทำให้การรักษาไม่ได้ตามเป้าหมายและเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นตามมา และยังส่งผลต่อการสูญเสียงบประมาณประเทศไปกับยาเหลือใช้ จากการสำรวจยาเหลือใช้ ในครัวเรือน พบว่า มีมากถึงร้อยละ 90 เฉลี่ยครัวเรือนละ 182.87 บาท (พักตร์วิภา สุวรรณพรหมและคณะ, 2555) และยาเหลือใช้ ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 51.22, หัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 37.50 และเบาหวาน ร้อยละ 37.31 ตามลำดับ ส่วนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของยาเหลือใช้มากที่สุด คือ การลืมกินยา รองลงมาคือ การปรับขนาดยาเอง (สรัลรัตน์ สโดอยู่และคณะ, 2557) จากผลการเก็บยาคืนที่ผู้ป่วยนำติดตัวมาด้วย ในโรงพยาบาลสมเด็จ ปี 2556 - 2558 พบว่า มีมูลค่ายาเหลือใช้ 104,907.00 บาท, 282,889.04 บาท และ 220,889 ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่ายาคืนเฉลี่ยต่อเดือน 8,743 บาท/เดือน 23,574.08 บาท/เดือน และ 18,407.42 ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่ายาเหลือใช้สูง ดังนั้น โรงพยาบาลสมเด็จ จึงได้ตระหนักถึงปัญหาของยาเหลือใช้ในครัวเรือนที่เกิดจากการทิ้งยาโดยไร้ประโยชน์, ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะใช้ยาเสื่อมคุณภาพ, ความรู้ความเข้าใจในการใช้ยา และการค้นหาปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วยที่แท้จริง จึงมีการรณรงค์ให้ผู้ป่วยนำยาเดิมมาคืนที่ห้อง จ่ายยาด้วยทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุของยาเหลือใช้ของผู้ป่วย หาแนวทางในการจัดการ ปัญหายาเหลือใช้ ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ยา และแก้ปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยได้ตรงประเด็น รวมทั้งศึกษาปริมาณและมูลค่ายาในโรงพยาบาล เพื่อหาแนวทางในการลดความสูญเสียทางยาที่เกิดขึ้น  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาสาเหตุของยาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2. เพื่อศึกษาความรู้เรื่องยาเสื่อมสภาพและยาหมดอายุของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3. เพื่อศึกษามูลค่ายาเหลือใช้ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นำยาเหลือใช้มาคืนห้องยา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 – 20 พฤษภาคม 2559 จำนวน 134 ราย  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์สาเหตุของ ยาเหลือใช้ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นำยาเหลือใช้มาคืนห้องยา โรงพยาบาลสมเด็จ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อคำถามสำหรับสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ สิทธิการรักษา โรคประจำตัว จำนวนยาที่ได้รับ จำนวนยาโรคเรื้อรังที่ได้รับ ส่วนที่ 2 ข้อคำถามสำหรับสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับยาเหลือใช้ ได้แก่ ความรู้ในการใช้ยา สาเหตุที่ผู้ป่วยมียาเหลือใช้ รายการและจำนวนยาเหลือใช้ ส่วนที่ 3 ข้อคำถามสำหรับสัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ และการเก็บรักษา  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นำยาเหลือใช้มาคืนขณะเภสัชกรจ่ายยาที่ห้องจ่ายยา 1.1 ให้เภสัชกรนับจำนวนยาเหลือใช้ที่นำมาคืนทั้งหมด 1.2 ตรวจสอบยาเสื่อมสภาพ หรือยาหมดอายุที่ผู้ป่วยนำยาเหลือใช้มาคืน 1.3 ถ้ายาอยู่ในสภาพดี ไม่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ ให้เภสัชกรนับยาเดิมคืนให้กับผู้ป่วย ทดแทนยาที่ต้องจ่ายยาใหม่ให้ครบตามจำนวนที่ผู้ป่วยควรได้รับ พร้อมบันทึกข้อมูล ปริมาณยาเหลือใช้ 2. สัมภาษณ์รายบุคคลตามแบบสัมภาษณ์สาเหตุของยาเหลือใช้ เพื่อค้นหาปัญหาในการกินยา ความรู้ในการใช้ยา และความรู้เรื่องยาเสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ การเก็บรักษายาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3. การให้ความรู้เรื่องยาเสื่อมสภาพ /ยาหมดอายุ และการเก็บรักษายา 4. เก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบสัมภาษณ์โดยเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยาเป็นผู้สัมภาษณ์รายบุคคล  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มียาเหลือใช้มาคืนห้องยา โรงพยาบาลสมเด็จ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุ เพศหญิง มีโรคร่วมอย่างน้อย 2 โรค โดยโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน และไขมันผิดปกติ ได้รับยาประมาณ 6 รายการ และมียาโรคเรื้อรังประมาณ 3 รายการ เมื่อศึกษาความรู้ในการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า ส่วนใหญ่ทราบข้อบ่งชี้และวิธีการกินยา/การบริหารยาดี แต่สาเหตุของยาเหลือใช้ที่พบมากที่สุด ได้แก่ ยาเหลือทบ, ลืมกินยา และความเข้าใจไม่ถูกต้องในการกินยา ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของพักตร์วิภา สุวรรณพรหม ที่พบว่าสาเหตุของยาเหลือใช้เกิดจากการได้รับยามากเกิน การลืมกินยา และการปรับยาเอง ปัญหาจากยาเหลือทบทำให้เกิดการสะสมยา พบว่า ลำดับที่ 1 เกิดจากผู้ป่วยมารักษาด้วยสาเหตุอื่นแต่แพทย์สั่งใช้ยาโรคเรื้อรังซ้ำก่อนวันนัด ลำดับที่ 2 เกิดจากแพทย์สั่งหยุดยาทำให้มียาเหลือ และลำดับที่ 3 เกิดจากผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วกลับมารับยาผู้ป่วยนอกและได้รับยาซ้ำ ส่วนการลืมกินยา พบว่า มื้อที่ลืมกินยามากที่สุด ได้แก่ เช้า และเที่ยง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ปราณิศา นิ่มอนงค์ ที่พบว่า ผู้ป่วยลืมกินยามื้อเช้ามากที่สุด และจากการสัมภาษณ์พบปัญหาว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องการลืมกินยา การแก้ปัญหาในการกินยากรณีที่ลืม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กินยาและทำให้มียาเหลือใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ปัญหาที่พบมากคือ การปรับขนาดยาเอง เนื่องจาก ผู้ป่วยมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการกินยา เช่น ยาทำให้เกิดผลข้างเคียงเลยหยุดกิน กินหรือฉีดยา เยอะแล้วเลยไม่กินและไม่เห็นความสำคัญของการกินยา จากการศึกษาความรู้เรื่องยาเสื่อมสภาพ ยาหมดอายุและการเก็บรักษา พบว่าผู้ป่วยโรค เรื้อรังมีความรู้เรื่องความรู้เรื่องยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุน้อย ส่วนการเก็บรักษายา พบว่ามี ความรู้ร้อยละ 67.16 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของปราณิศา นิ่มอนงค์ ที่พบว่า ผู้ป่วยไม่ทราบวิธีการสังเกตยาเสื่อมสภาพ ร้อยละ 82.7 และไม่ทราบวิธีดูวันหมดอายุ ร้อยละ 89.1 จากการศึกษารายการยาเหลือใช้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นยาโรคเรื้อรังที่นำมาคืนมากที่สุด และปริมาณยาและมูลค่ายาเหลือใช้โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด ได้แก่ ยาในกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ได้แก่ Metformin และ Enalapril ซึ่งจากการศึกษานี้พบว่า การนำยาเหลือใช้มาคืนช่วยลดต้นทุนเวชภัณฑ์ยาได้ถึง 21,322.50 บาท  
ข้อเสนอแนะ : 1. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคร่วมหลายโรค และได้รับยา หลายชนิดและ ปริมาณมาก ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาในการใช้ยาและยาเหลือใช้จำนวนมาก ดังนั้น เภสัชกรควรให้ความสำคัญกับบุคคลกลุ่มนี้ ค้นหาปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วย (drug related problem:DRP) หาคนดูแลในการใช้ยากรณีผู้ป่วยดูแลตนเองไม่ได้ 2. สาเหตุที่ทำให้เกิดยาเหลือใช้ เกิดจาก ผู้ป่วยรับยาไปจำนวนมากเกินวันที่ แพทย์นัด การได้รับยาซ้ำเมื่อมาด้วยสาเหตุอื่น ดังนั้น ควรมีการวางระบบการจ่ายยาให้เหมาะสมตามวันนัด 3. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการลืมกินยา ยาเสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ และการเก็บรักษา ดังนั้น ควรมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 4. โรงพยาบาลควรมีแนวทางในการจัดการยาเหลือใช้ เพื่อค้นหาปัญหาจาก การใช้ยาของผู้ป่วยและลดต้นทุนเวชภัณฑ์ยา  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ