ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : กระบวนการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระบบโรงเรียน (กลุ่มอายุ 13-19 ปี) อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : อัญญาภรณ์ ยุบลเขต*,บัวลอง เนานวน*,ธีรศักดิ์ ภูจอม*,อังคเรศ บุตรศรีรักษ์ ** ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : จากข้อมูลของโรงพยาบาลนาคู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2559 อำเภอนาคูมีอัตราการคลอดของวัยรุ่นกลุ่มอายุ 13-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 11.08, 5.50, 9.49 ตามลำดับ พื้นที่ที่มีอัตราคลอดสูงสุดคือตำบลนาคู รองลงมาคือตำบลบ่อแก้ว ปัจจุบันได้มีหน่วยงานจำนวนมากที่มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนถึงวัยอันควร การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แต่กิจกรรมเหล่านั้นก็ยังมีพลังไม่เพียงพอที่จะลดจำนวนการตั้งครรภ์และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมของวัยรุ่นได้ คณะทำงานอำเภอนาคู จึงเห็นความสำคัญที่จะพัฒนากระบวนการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระบบโรงเรียน (กลุ่มอายุ 13-19 ปี) ให้มีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม และมีองค์ความรู้ใดที่นำไปสู่การส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้  
วัตถุประสงค์ : โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทการทำงานและสภาพปัญหาของพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น,สร้างรูปแบบกระบวนการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย,สร้างข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์เพื่อใช้ในโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานบริการ  
กลุ่มเป้าหมาย : นักเรียนผู้หญิงและผู้ชาย อายุระหว่าง 13-19 ปี ในโรงเรียนมัธยมศึกษา 3 โรงเรียน ทั้งหมด 1041 คน  
เครื่องมือ : แบบวัดพฤติกรรมทางเพศ,โปรแกรมเข้าค่ายกลุ่มเสี่ยง,แบบประเมินผลการเข้าค่าย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยทำการศึกษาร่วมกับวัยรุ่นผู้หญิงและผู้ชาย อายุระหว่าง 13-19 ปี และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ โดยเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 แบ่งการศึกษาเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาของพื้นที่ และบริบทการทำงาน ระยะที่ 2 การดำเนินการ ระยะที่ 3 ประเมินผล ระยะที่ 4 สะท้อนผลการปฏิบัติการ  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษา ภาคีเครือข่ายได้วางระบบการป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นไว้ 4 ระบบคือ การเฝ้าระวังพฤติกรรมทางเพศในโรงเรียน การสร้างสื่อแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาคุณค่ากลุ่มเสี่ยงและการสื่อสารบริการสุขภาพให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยดำเนินการในพื้นที่ตำบลนาคูและตำบลบ่อแก้ว จำนวน 3 โรงเรียน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1041 คน มีค่าคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงจำนวน 162 คน ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25-75 หรือมีพฤติกรรมปกติ จำนวน 767 คน ค่าคะแนนเฉลี่ยมากกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 หรือมีพฤติกรรมเรียบร้อยเกินไปจำนวน 112 คน กลุ่มเสี่ยงสมัครใจเข้าค่ายแกนนำ “ อีก ๑ พลังเยาวชนร่วมต้านการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ” โดยสมัครใจจำนวน 60 คน พบว่า ส่วนใหญ่พึงพอใจกับการจัดค่ายในภาพรวมมากกว่าร้อยละ 86 แบ่งเป็นด้านเนื้อหามากว่าร้อยละ 87.6 ด้านการใช้สื่อหนังสั้นร้อยละ 91.3 ด้านวิทยากรร้อยละ 86.7 ด้านสถานที่ร้อยละ 63.4 และจากการติดตามประเมินพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงหลังเข้าค่าย 1 เดือน ยังพบว่า กลุ่มเสี่ยงมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25-75 หรือมีพฤติกรรมปกติ ร้อยละ 61.7 (37คน) มีค่าคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เพียงร้อยละ 38.3 (23 คน) การสื่อสารบริการสุขภาพให้กับกลุ่มเสี่ยง มีกลุ่มเสี่ยงขอคำปรึกษาเรื่องเพศผ่านช่องทางของหน่วยบริการ จำนวน 11 ราย และจากกระบวนการประกวดสื่อหนังสั้นโดยให้นักเรียนจัดทำเป็นโครงงาน มีทีมตัวแทนแต่ละโรงเรียนเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 7 ทีม ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๓ ผลงาน เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อรณรงค์ในโรงเรียนเป้าหมายต่อไป การจัดเวทีถอดบทเรียนร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ข้อสรุปกระบวนการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้ง 4 กระบวนการ มีความสอดคล้องกับบริบทการทำงานของภาคีเครือข่ายและสามารถบูรณาการเข้าไปสู่งานประจำได้ การสร้างสื่อแบบมีส่วนร่วม สะท้อนความเป็นจริงที่นักเรียนส่วนใหญ่สนใจและเข้าใจได้ง่าย กระบวนการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพกลุ่มเสี่ยงมีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง การสื่อสารบริการสุขภาพกับกลุ่มเสี่ยงผ่านช่องทางโทรศัพท์มีความเหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเสี่ยง  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะ 1. โรงเรียน ต้องมีการรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดีและทำให้เพศศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้อย่างเปิดเผยและมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทางเพศของตนเอง โดยครูและแกนนำนักเรียนร่วมกันทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นกัลยาณมิตร 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการสนับสนุนงบประมาณ ส่งเสริมต่อยอดกิจกรรม มอบขวัญกำลังใจให้กับแกนนำ “ อีก ๑ พลังเยาวชนร่วมต้านการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ” ให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม 3. การบูรณาการแผนปฏิบัติการร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องเริ่มก่อนมีการจัดทำแผนของแต่ละองค์กร เพื่อให้การบูรณาการกิจกรรม งบประมาณ มีความต่อเนื่องและเพียงพอกับการดำเนินงาน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)