ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การปฏิบัติตัวของแกนนำชมรม TO BE NUMBER ONE ในการดำเนินงาน ชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษา อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นายชุมพล แสบงบาล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ นายชาญชัย คำไสว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ข้อมูลปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับวัยรุ่น จากรายงานสถานการณ์และแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ ในวัยรุ่นไทย ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า อายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นลดลงจาก ๑๘-๑๙ ปี เป็นประมาณ ๑๕-๑๖ ปี ผลการเฝ้าระวัง Behavioral Surveillance Survey ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขปี ๒๕๔๙-๒๕๕๔ พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี ๒ ,๕ และ ปวช. ปีที่ ๒ มีประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น และพบว่า กลุ่มอายุ ๑๕-๒๔ ปี มีแนวโน้มการป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น โดยเพิ่มจากอัตรา ๔๑.๕ ต่อประชากรแสนคนในปี ๒๕๔๘ เป็น ๘๙.๕ ในปี ๒๕๕๔ ส่วนสถานการณ์พื้นที่อำเภอห้วยผึ้งจากการสำรวจช่วงเดือนกรกฎาคม –สิงหาคม ๒๕๕๗ ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ จำนวน ๑๘๒ ราย นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จำนวน ๖๓ ราย และระดับอาชีวศึกษา (ปวช.) ปีที่ ๒ จำนวน ๕๗ ราย พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ ๒ เคยมีเพศสัมพันธ์ จำนวน ๒๗ ราย (ร้อยละ ๑๔.๘๔) เป็นเพศชาย ๒๑ ราย หญิง ๗ ราย มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ร้อยละ ๓๘.๔๖ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เคยมีเพศสัมพันธ์ ๑๒ ราย (ร้อยละ ๒๐) มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ร้อยละ ๔๕.๔๕ และนักเรียนระดับ ปวช.ปีที่ ๒ เคยมีเพศสัมพันธ์ ๓๘ ราย (ร้อยละ ๗๑.๗๐) มีการใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ ๗๐๗๒ ผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังมีปัญหาเรื่อง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ข้อมูลระดับประเทศจากสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่า แม่คลอดบุตรอายุ ๑๐-๑๙ ปี เพิ่มจากร้อยละ ๑๓.๙ ในปี ๒๕๔๗ เป็น ร้อยละ ๑๖.๔ ในปี ๒๕๕๔ ส่วนข้อมูลการตั้งครรภ์ในกลุ่มอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ในพื้นที่อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี ๒๕๕๖ -๒๕๕๘ เท่ากับ ๑๕.๙๗ , ๓๓.๖๔ และ ๑๕.๓๘ ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข ( ไม่เกิน ร้อยละ ๑๐) ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ และนอกสมรส ซึ่งสรีระของวัยรุ่นนั้นยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่จึงมีภาวะแทรกซ้อน จากการตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่มีอายุเกินกว่า ๒๐ ปี เช่น ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนด เจ็บครรภ์คลอดนาน บุตรน้ำหนักต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตหลายประการ เช่น ต้องหยุดหรือออกจากการการศึกษา การว่างงาน และการที่วัยรุ่น ยังขาดวุฒิภาวะและความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งมารดาและทารก เป็นภาวะวิกฤติหนึ่งของสังคมไทยในภาพรวม นอกจากนี้วัยรุ่นยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสพยาเสพติด เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี ๒๕๕๔ พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เริ่มสูบบุหรี่อายุน้อยที่สุดเพียง ๖ ปี และกลุ่มอายุ ๑๕-๑๘ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเพิ่มจากร้อยละ ๗.๖ ในปี ๒๕๕๒ เป็น ๙.๒ ในปี ๒๕๕๔ เฉพาะกลุ่มอายุ ๑๕-๑๗ ปี เพิ่มจากร้อยละ ๑๙.๘ เป็น ๒๑.๗ อายุเฉลี่ยของคนเริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำลดลงจาก ๑๘.๕ ปี เป็น ๑๗.๔ ปี เยาวชนอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ยังคงเข้าถึงและซื้อบุหรี่ได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากร้านขายของชำใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งมีการซื้อขายบุหรี่แบบแบ่งขาย โดยพบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ปี ซื้อบุหรี่จากร้านขายของชำมากที่สุดถึงร้อยละ ๙๗.๗ ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ ๑๕ ปี ขึ้นไป มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๔.๖๐ ในปี ๒๕๕๐ เป็นร้อยละ ๑๖.๓๐ ในปี ๒๕๕๔ และอายุเฉลี่ยการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนทั้งเพศชายและหญิงลดลง โดยเพศชายจะเริ่มดื่มเมื่ออายุเฉลี่ย ๑๙.๔ ปี และมีอัตราการดื่มสูงกว่าเพศหญิง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย อุบัติเหตุจราจร อาชญากรรม ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ช่วงเดือน ตุลาคม –ธันวาคม ๒๕๕๗ พบว่า มีรายงานการบำบัดยาเสพติด ๒๗๑๔๖ ราย พบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ ๓๑.๘) ส่วนใหญ่มีอายุ ๒๐-๒๔ ปี (ร้อยละ ๒๑.๘) รองลงมาคือกลุ่มอายุ ๑๕-๑๙ ปี (ร้อยละ ๒๐.๔) และพบอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ร้อยละ ๑.๔ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า เป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ๑๔.๖ โดยสารเสพติดที่นักเรียนนักศึกษาใช้มากที่สุดคือ ยาบ้า (ร้อยละ ๖๕.๔) รองลงมาคือ กัญชา (ร้อยละ ๒๐.๑ ) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอแนะแนวทางส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพวัยรุ่นโดยการส่งเสริมทักษะชีวิต เพศศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา การเข้าถึงบริการคุมกำเนิด การดูแลด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การควบคุมปัญหาสารเสพติดในพื้นที่ การดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจและสังคม โดยบูรณาการภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริโสภาพรรณวดี ยังได้ประทานแนวคิด “ TO BE NUMBER ONE “ เป็นแนวทางเสริมทักษะชีวิตของวัยรุ่น เพื่อให้วัยรุ่นมีพื้นฐานความคิด ความเข้าใจธรรมชาติของร่างกายและจิตใจตนเอง มีทักษะในการป้องกันตนเองจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์ มีแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในจิตใจตนเองให้ปลอดภัยจากอบายมุข เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มวัยรุ่นในสถานศึกษาในเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการใช้สารเสพติด คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอห้วยผึ้งร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพอำเภอ (DHS) จึงได้จัดทำโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาวัยรุ่นในสถานศึกษาด้วยกิจกรรมชมรม “ TO BE NUMBER ONE “โดยให้แกนนำเป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินกิจกรรมของชมรม  
วัตถุประสงค์ : ๑. เพื่อศึกษาการปฏิบัติตัวของแกนนำในการดำเนินกิจกรรมชมรม “ TO BE NUMBER ONE “ ๒. เพื่อศึกษาระดับการปฏิบัติตัวของแกนนำในการดำเนินกิจกรรมชมรม “ TO BE NUMBER ONE “  
กลุ่มเป้าหมาย : นักเรียนและนักศึกษาที่ผ่านการอบรมแกนนำชมรม “ TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษา วิทยาลัยการอาชีพอำเภอห้วยผึ้ง โรงเรียนห้วยผึ้งพิทยา และโรงเรียนนิคมหนองแก้วญาณเวที อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 97 คน  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่คณะทำงานจัดทำขึ้น ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ ระดับชั้นที่กำลังศึกษา และข้อมูลการปฏิบัติตัวของแกนนำชมรมมีลักษณะคำถามแบบประเมินค่า 3 ระดับ จำนวน 10 ข้อ แบ่งค่าระดับการปฏิบัติ ดังนี้ ไม่ทำเลย ให้ 1 คะแนน ทำบ้าง หรือทำบ้างครั้ง ให้ 2 คะแนน ทำประจำ หรือทำทุกครั้ง ให้ 3 คะแนน กำหนดเกณฑ์การแปลผล ใช้เกณฑ์ของ Best (Best, 1977: 174 อ้างถึงใน สมศักดิ์ เผ่าสอน 2548: 47) โดยปรับฐานคะแนนทุกตัวแปรเท่ากัน จากนั้นนำผลรวมคะแนนแต่ละตัวแปรหารด้วยจำนวนข้อของแต่ละตัวแปรคิดค่าคะแนนจาก (ค่าสูงสุด - ค่าต่ำสุด) หารด้วยระดับชั้น 3 ระดับ คือ ระดับมาก ระดับปานกลาง ระดับน้อย ดังนี้ ระดับการปฏิบัติมาก หมายถึง คะแนนเฉลี่ย 2.35 – 3.00 ระดับการปฏิบัติปานกลาง หมายถึง คะแนนเฉลี่ย 1.68 – 2.34 ระดับการปฏิบัติน้อย หมายถึง คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 1.67  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.สำรวจกลุ่มเป้าหมาย 2 กำหนดกลุ่มตัวอย่าง 3.เก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถาม 4.วิเคราะห์ข้อมูล 5.สรุปผล  
     
ผลการศึกษา : แกนนำชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ส่วนใหญ่มีระดับการปฏิบัติปานกลาง อาจเป็นเพราะว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนชมรมทูบีนัมเบอร์วันในสถานศึกษาแม้เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการมีมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสาธารณสุขยังไม่เข้าไปร่วมดำเนินการหรือส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังเท่าที่ควร ทำให้สภาพชมรมยังไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก ซึ่งอาจส่งผลต่อความสมารถของแกนนำชมรมในการให้คำปรึกษาเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์แก่เพื่อนสมาชิกด้วย  
ข้อเสนอแนะ : ๑) เร่งเสริมสร้างความรู้ ทักษะความสามารถของแกนนำชมรมในเรื่องเทคนิคการให้คำปรึกษาเพื่อนสมาชิกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และการระดมทุนจากแหล่งต่างๆเข้าชมรมฯ เพื่อให้ชมรมสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องยั่งยืน ๒) ส่งเสริมให้แกนนำชมรมเพศชายมีบทบาทในการปฏิบัติตนมากขึ้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ