ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร สถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน ตำบลโนนนาจาน อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ฐิตาภา,การรัตน์ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่ในภาคเกษตร ในช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาประเทศมุ่งหารายได้จากการส่งออกพืชผลทางการ เกษตร ให้มีการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรออกไปเป็นจำนวนมากเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเร่งผลผลิต ได้มีการนำสารเคมีมาใช้ในการเกษตรอย่างกว้างขวาง และต้องใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มชนิดสารเคมีขึ้นไปอีกเพราะศัตรูพืชเกิดการดื้อยา (ปัตพงษ์ เกษตรสมบูรณ์ และคณะ, 2547) ปัจจุบันสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งด้านเกษตรกรรม และใช้กำจัดแมลงในบ้านเรือนส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเกษตรกรเอง ผู้บริโภคและคนทั่วไปที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีป้องกันศัตรูพืชทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยเข้าสู่ทางผิวหนัง ช่องปาก และลมหายใจ โดยสารเคมีป้องกันศัตรูพืชที่ใช้ในปัจจุบัน จำแนกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพรีทอยด์ เกษตรกรมักประสบปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ทั้งนี้ปัญหาเนื่องมาจากตัวเกษตรกรเองที่มีการศึกษาต่ำ ทั้งที่ไม่มีความรู้เลยจนกระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการรับข้อมูลข่าวสารหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อนึ่งประเด็นความยากจนก็เป็นปัญหาหนึ่ง เนื่องจากการผลิตทางการเกษตรนั้น จำเป็นจะต้องจัดซื้อปัจจัยการผลิตเช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรกรรม เกษตรกรบางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เสียดอกเบี้ยสูงๆ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประเด็นที่สำคัญจากการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้องและขาดความระมัดระวัง ผลที่ตามมาคือ สุขภาพเกษตรกรเสื่อมลงอย่างรวดเร็วสภาพดินเสื่อมทำให้ประสิทธิภาพการปลูกพืชลดลง การประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลงมากกว่าในอดีต เนื่องจากระบบนิเวศน์ถูกทำลายเช่น ตัวห้ำ ตัวเพลี้ย และจุลินทรีย์อื่นๆ ถูกทำลายไป จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เมื่อเกษตรกรปลูกพืชชนิดต่างๆ ไว้ตามหลังบ้าน เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ดีโดยไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ ข้อมูลจากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลกแต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมถึงการสุ่มตรวจผักในท้องตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อกลางปี 2553 ที่พบสารเคมีตกค้างในผัก และสารเคมีพิษอันตรายที่ทั่วโลกห้ามใช้ นับเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนัก สารเคมีเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อมีการใช้อย่างเข้มข้น และในปริมาณมาก จะปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และสะสมอยู่ในสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ในห่วงโซ่อาหาร ที่สุดสะสมอยู่ในคนเมื่อคนกินอาหารนั้นๆ แต่จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชนิด และปริมาณของสารเคมีพิษเหล่านั้น ซึ่งการเกิดอาการจะขึ้นอยู่กับฤทธิ์ความรุนแรงของสารเคมีด้วย (องค์การอาหารและยาแห่งสหประชาชาติ, 2554) แนวโน้มการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 80,606 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11,386 ล้านบาท และ ในปี พ.ศ.2557 มีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้นถึง 134,377 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19,357 ล้านบาท จากปริมาณการนำเข้าดังกล่าว จะพบว่ามีอัตราส่วนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.66 เท่า จากช่วงระยะเวลา 11 ปี ที่ผ่านมา โดยพบว่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืช มีปริมาณการนำเข้ามากที่สุดคือ ไกลโฟเสท 63,166 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ากว่า 4,531 ล้านบาท (สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, 2557) จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่พื้นที่การเพาะปลูกยังคงมีอยู่เท่าเดิม เป็นการบ่งชี้ว่าเกษตรกรของไทยมีปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการใช้เคมีมากเกินความจำเป็น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเพราะศัตรูพืชต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อต่อต้านสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น (สาคร ศรีมุข, 2556) ซึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้ามาในประเทศเหล่านี้ ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรมหลายกลุ่มเช่น การทำสวนผลไม้ การปลูกพืชไร่ การปลูกผัก การปลูกข้าว จากรายงานสถานการณ์และผลต่อสุขภาพจากการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย โดยสำนักระบาดวิทยา ระหว่าง ปี พ.ศ. 2546 – 2555 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทั้งสิ้น 17,340 ราย เฉลี่ยปีละ 1,734 ราย พบอัตราป่วย 2.35 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานและประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด ช่วงเวลาที่พบการรายงานสูงสุดคือเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคมของทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกและมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น (สำนักระบาดวิทยา, 2556) โดยในปี พ.ศ. 2557 พบรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำนวน 7,954 คน คิดเป็นอัตราป่วย 12.21 ต่อประชากรแสนคน สอดคล้องกับข้อมูลการเจ็บป่วย จากการได้รับพิษสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่เดือน มกราคม 2558 ถึงเดือน ธันวาคม 2558 ที่พบว่ามีผู้ป่วยมีอาการแพ้พิษสารเคมีแบบเฉียบพลันที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมด 81 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 35.67 ต่อแสนประชากร (สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, 2558) ในกลุ่มเกษตรกรปลูกยาสูบ ก็พบว่า มีการเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มีอาการคัน เหงื่ออกมาก และระคายเคืองผิวหนัง (ศิริภัณฑ์กัญญา เรืองไชย, 2553) ซึ่งพิษของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ที่สัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากการสัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 10 ปีมีผลเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิด นันฮ๊อดกิ้นลิมโฟมา (Kato et al., 2004) จากปัญหาผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อสุขภาพผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมหลายประการ ทำให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เข้าสู่ร่างกายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีเข้าสู่ร่างกายที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ การผสมสารเคมีเกินอัตราส่วนที่ระบุในฉลาก ไม่เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมและทิศทางลมในการฉีดพ่น การปักป้ายหรือสัญลักษณ์บอกให้คนอื่นทราบว่ามีการใช้สารเคมี และการกำจัดภาชนะบรรจุสารเคมีไว้ในแปลงเกษตร (แก้วตา บุญธรรม, 2549 และมงคล ชาลีเครือ, 2552) ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมจะนำไปสู่การเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอหนึ่งพบว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก พืชที่นิยมเพาะปลูก ได้แก่ อ้อย ,ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ยางพารา, พืชผักสวนครัว มีการใช้ สารเคมีกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะเกษตรกรเชื่อว่าจะช่วยกำจัดศัตรูพืชและยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นนอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดผสมผสานกัน ข้อมูลจากการตรวจสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย เห็นได้จากข้อมูลการดูแลสุขภาพวัยแรงงาน สถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน พบว่าผลการตรวจสารเคมีในเลือดเกษตรกร ทั้งหมด 1,200 คน ผลการตรวจพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ 140 คน คิดเป็นร้อยละ 11.6 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย260 คน คิดเป็นร้อยละ 21.6 อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง459 คน คิดเป็นร้อยละ 38.2 อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย 341คน คิดเป็นร้อยละ 28.4 (สถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน, 2558) ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่ศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรในเขตรับผิดชอบสถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน ตำบลโนนนาจาน อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการใช้สารเคมีศัตรูพืชต่อไป  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ของการศึกษา 3.1 เพื่อศึกษาความรู้ของเกษตรกรในการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร ในเขตรับผิดชอบสถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน ตำบลโนนนาจาน อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ 3.2 เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรในเขตรับผิดชอบสถานีอนามัยตำบลโนนนาจาน ตำบลโนนนาจาน อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในกลุ่มที่ปลูกพืชไร่ที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและร่วมถึงผู้ที่รับจ้างฉีดพ่นสารเคมีกำจัดทางเกษตรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการสัมผัสสารเคมีในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 267 ราย  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบสัมภาษณ์ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของเกษตรกร ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูล เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช - พฤติกรรมก่อนการพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช - พฤติกรรมขณะพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช - พฤติกรรมหลังการพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นลักษณะคำถามมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เป็นแบบ 4 ระดับ ได้แก่ ปฏิบัติทุกครั้ง ปฏิบัติบ่อย ปฏิบัตินานๆครั้ง และไม่ปฏิบัติเลย รวม 30 ข้อ 120 คะแนน ถ้าตอบ ปฏิบัติทุกครั้ง หมายถึง ภายใน 1 สัปดาห์ มีการปฏิบัติทุกครั้ง ปฏิบัติบ่อย หมายถึง ภายใน 1 สัปดาห์ มีการปฏิบัติอย่างน้อย 5 ครั้ง ปฏิบัตินานๆ ครั้ง หมายถึง ภายใน 1 สัปดาห์ มีการปฏิบัติตั้งแต่ 1-4 ครั้ง ไม่เคยปฏิบัติ หมายถึง ภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการปฏิบัติเลย การให้คะแนน ถ้าเป็นด้านบวก ปฏิบัติทุกครั้ง ได้ 4 คะแนน ปฏิบัติบ่อย ได้ 3 คะแนน ปฏิบัตินานๆ ครั้ง ได้ 2 คะแนน ไม่เคยปฏิบัติ ได้ 1 คะแนน การให้คะแนน ถ้าเป็นด้านลบ ปฏิบัติทุกครั้ง ได้ 1 คะแนน ปฏิบัติบ่อย ได้ 2 คะแนน ปฏิบัตินานๆ ครั้ง ได้ 3 คะแนน ไม่เคยปฏิบัติ ได้ 4 คะแนน สรุปผลคะแนนพฤติกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต่ำ คือ คะแนนปฏิบัติเท่ากับ 0 - 40 ระดับปานกลาง คือ คะแนนปฏิบัติเท่ากับ 41- 80 ระดับดี คือ คะแนนปฏิบัติเท่ากับ 81 -120 ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรจำนวน 30 ข้อ 30 คะแนน เป็นคำถามด้านบวกและลบ กำหนดให้ผู้ตอบเลือกตอบได้ 2 ตัวเลือก คือ ใช่ และไม่ใช่ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้ ตอบถูก มีค่าคะแนน เท่ากับ 1 คะแนน ตอบผิด มีค่าคะแนน เท่ากับ 0 คะแนน สรุปผลคะแนนการวัดความรู้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับต่ำ คือ คะแนน 0- 10 ระดับปานกลาง คือ คะแนน 11-20 ระดับดี คือ คะแนน 21- 30  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ตามขั้นตอนต่อไปนี้ 6.1 เลือกผู้ช่วยผู้วิจัย โดยให้อาสาสมัคสาธารณสุขที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 27 คน ผู้สัมภาษณ์ 1 คน ต่อตัวแทนครัวเรือน 10 คนโดยใช้เกณฑ์คัดเลือกผู้สัมภาษณ์ คือ 1) มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี 2) อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี 6.2 อบรมชี้แจงวัตถุประสงค์ของผู้วิจัยแก่ผู้สัมภาษณ์ เรื่องการเก็บข้อมูลโดยสร้างสัมพันธภาพก่อนแล้วค่อยสัมภาษณ์ในแต่ละข้อตามแบบสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะไม่ให้ตัวแทนทำแบบสัมภาษณ์เองโดยเด็ดขาด 6.3 ผู้วิจัยทำหนังสือจากหน่วยงาน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์การศึกษาและขอความร่วมมือในการเก็บ รวบรวมข้อมูล 6.4 ลงพื้นที่เก็บแบบสอบถาม ผู้วิจัยตรวจสอบแบบสอบถาม แล้วลงสุ่มตรวจอีกครั้ง 6.5 บันทึกข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ค่าสถิติของข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำเร็จรูป 6.6 คืนข้อมูลให้กับกลุ่มตัวอย่างและประชาชนในเขตรับผิดชอบ 6.7 ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง