ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ (80-130 mg/dl) โรงพยาบาลสมเด็จ
ผู้แต่ง : คำแปลง ศรีซ้ง ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นปัญหาวิกฤตของโลกและประเทศไทย ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม จากการสำรวจภาวะสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 ปี 2552 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 ซึ่งผู้เป็นโรคควบคุมได้เพียงร้อยละ 28.5 และจากเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(ThaiMedRestNet) ปี 2555 พบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควบคุมได้ตามเกณฑ์ร้อยละ 33.4 มีภาวะแทรกซ้อนทางตาร้อยละ 8.4 ทางไตร้อยละ 18.7 และพบแผลที่เท้าร้อยละ 2.1 ถูกตัดนิ้วเท้า เท้าและขา ร้อยละ 0.3 โรคดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการจัดการความเครียด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ และภาวะน้ำหนักเกิน/โรคอ้วน ดังนั้นการดำเนินการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก โดยเฉพาะบุคคลากรด้านสุขภาพที่ปฏิบัติการดำเนินการ หน่วยบริการ ที่ต้องดำเนินการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต้องมีความตระหนักและให้ความสำคัญ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมในการดูแลตนเอง เช่น การจัดการตนเอง(Self management)และสิ่งแวดล้อม(Enviromental management) เพื่อให้เกิดการดูแลตนเอง (Self care) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจากสิ่งที่เคยทำเคยชิน มาสู่พฤติกรรมใหม่ผู้ให้คำปรึกษา/ทีมสหสาขาวิชาชีพต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของคนที่ซ่อนเร้นปลูกฝังแนวคิด ความเชื่อ แรงจูงใจ ที่จะนำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ตลอดจนกระบวนการ เทคนิค เคล็ดลับต่างๆที่นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือ ให้ผู้รับบริการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด ตลอดจนสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นแก่ผู้รับบริการ ผลการดำเนินงานปี 2558 พบว่า ร้อยละของผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 35.77 ซึ่งยังไม่ได้ตามเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนด จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา พบว่าปัจจัยภายในตัวผู้ป่วยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมยังไม่ดีและไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัยสูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแลตนเอง มีการรับรู้ด้านการควบคุมอาหารไม่ถูกต้องทั้งชนิด ปริมาณ ความเคยชินในการรับประทานอาหารตามความชอบของตนเอง และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมอาหาร ระบบการดูแลรักษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขาดการประเมินปัญหาอุปสรรคและการวางแผนร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งขาดการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสมเด็จได้มีการดำเนินงานตามปิงปองจราจรชีวิต 7 สี โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรค สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะให้คำปรึกษาตามสภาพปัญหาที่วิเคราะห์โดย NCM(Nurse Case Manager) แล้วส่งต่อให้คำปรึกษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ รูปแบบการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นเพียงให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำ ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้ผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมโรคได้และเกิดภาวะแทรกซ้อน  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ (80-130 mg/dl) 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสมเด็จตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2558- มีนาคม 2559 ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง(Purposive sampling) ที่มีระดับน้ำตาลในเลือด 200 mg/dl ขึ้นไปจำนวน 50 ราย  
เครื่องมือ : 1 เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคลินิก NCD คู่มือ แผนการสอน Model อาหาร ภาพพลิก สมุดประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี แผ่นพับให้ความรู้ 2 แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. กำหนดวันให้บริการคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวันอังคารกับวันศุกร์ 2. คัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการและมีระดับน้ำตาลในเลือด 200 mg/dl ขึ้นไป 3. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้คำปรึกษาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคลินิก NCD คู่มือ แผนการสอน Model อาหาร ภาพพลิก สมุดประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี แผ่นพับให้ความรู้ 4. ประเมินวิเคราะห์ปัญหาผู้ป่วยรายบุคคลและจัดการรายกรณี 5. จัดให้ความรู้ในเรื่องการดูแลตนเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย งดบุหรี่และสุรา สำหรับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง 6. ส่งให้คำปรึกษาโดยทีมสหวิชาชีพตามปัญหาของผู้ป่วย 7. ติดตามเยี่ยมบ้านร่วมกับทีม HHC 8. ติดตามประเมินผลระดับน้ำตาลในเลือดหลังให้คำปรึกษา 3 ครั้ง ต่อเนื่องที่ผู้ป่วยมารับยา  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสมเด็จ จำนวน 50 คน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ศึกษา พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด ร้อยละ 64 รองลงมาเป็นเพศชาย ร้อยละ 36 กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี มีมากที่สุด ร้อยละ 58 รองลงมา 50-59 ปี ร้อยละ 28 ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน 5-10 ปี มากที่สุด ร้อยละ 50 รองลงมาเป็นเบาหวานมากกว่า 10 ปี ร้อยละ 36 วิธีการรักษาใช้ยารับประทานมากที่สุด ร้อยละ 48 รองลงมาใช้ ยาฉีดร่วมกับยารับประทาน ร้อยละ 42 ผลการวิเคราะห์ความรู้เรื่องโรค การบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ลดหวาน มัน เค็ม การออกกำลังกาย ภายหลังเข้าร่วมโครงการมีค่าคะแนนสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ และมีการจัดระดับน้ำตาลตามปิงปองจราจรชีวิต 7 สี พบว่าหลังเข้าร่วมโครงการกลุ่มประชากรตัวอย่างมีระดับน้ำตาล 80- 125 mg/dl (สีเขียว) จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ระดับน้ำตาล 125-154 mg/dl (สีเหลือง) จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ระดับน้ำตาล 155-182 mg/dl (สีส้ม) จำนวน 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ระดับน้ำตาลมากกว่า 183 mg/dl (สีแดง) จำนวน 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 40  
ข้อเสนอแนะ : 1. การให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวควรปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายเพราะการรับรู้และความสนใจแตกต่างกัน 2. ควรมีการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนถึงชุมชน ญาติผู้ดูแลรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคและแผนการรักษา กรณีเป็นผู้สูงอายุ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ