ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ต่อการป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุเพศหญิง ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นางสาวพวงทอง รัตน์วิสัย ,นางสาวเสาวณี ดอนเกิด ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเพศหญิง และมีแนวโน้มในการเกิดเพิ่มขึ้นซึ่งภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การสำรวจความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุด้านกิจกรรมพื้นฐานประจำวัน (Activities of Daily Living : ADL) โดยใช้แบบประเมิน ADL ของกระทรวงสาธารณสุข ในเขตพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุงเก่า ปีงบประมาณ 2559 โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นผู้เก็บข้อมูลในผู้สูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุหญิงทั้งหมด 501 คน คัดกรอง 438 คน คิดเป็น ร้อยละ 87.4 และจากผลการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 11.9 มีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และร้อยละ 11.3 ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ด้วยตนเองตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไปหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ ในรายที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ผู้ศึกษาได้คัดกรองเพิ่มเติมโดยใช้แบบสอบถาม การคัดกรองการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 2 คำถามได้แก่ 1) มีปัสสาวะเล็ด (เหยี่ยวเหี่ย, หยอด, หยด) ขณะไอ จาม หรือออกกำลังกายหรือไม่ 2) มีปัสสาวะราด (เหยี่ยวหยาด, ฮาด, ฮวด) ระหว่างไปห้องน้ำหรือไม่ จากการคัดกรอง ADL มีผู้สูงอายุหญิงกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จำนวน 45 คน เป็นมีอาการปัสสาวะเล็ด จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 44.4 มีอาการปัสสาวะราด จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 26.7 และมีอาการผสมคือปัสสาวะเล็ดราด จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 28.9 และจากการสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และยังพบว่าการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มีผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคมกับผู้สูงอายุ คือผู้สูงอายุจำนวน 7 คนไม่อยากเข้าร่วมและไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การไปทำบุญที่วัด จากเดิมที่เคยไปทุกวัน ลดลง บางคนไปเฉพาะวันพระ และผู้สูงอายุ อีก 3 คนเก็บตัวอยู่แต่ที่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (9Q) พบว่าผู้สูงอายุหญิงมีภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับน้อย (7 - 12 คะแนน) ซึ่งได้ส่งพบแพทย์ที่โรงพยาบาลท่าคันโทเพื่อรับการรักษาต่อไป ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้นและผู้วิจัยได้ศึกษาพยาธิสรีรวิทยา ทบทวนวรรณกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ จะเห็นว่าปัญหาการจัดการด้านพฤติกรรม ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดร่วมกับการลดแรงกระตุ้นในการขับถ่ายปัสสาวะน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้ดีกว่า การใช้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และเนื่องจากการวิจัยในเรื่องนี้ยังมีน้อยในผู้สูงอายุที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในการป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ โดยการทดลองใช้โปรแกรมนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิง ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อผลที่ได้จะเป็นองค์ความรู้สำหรับการปฏิบัติการพยาบาลในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต่อการป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุเพศหญิง ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรคือผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่อาศัยในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุงเก่า ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นผู้ที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จำนวน 45 คน ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 32 รายโดยกำหนดคุณสมบัติดังนี้ 1. เป็นผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1 (กลุ่มติดสังคม) 2. มีการเจ็บป่วยเรื้อรัง (โรคระบบทางเดินหายใจ, ความดันโลหิตสูง, โรคทางระบบประสาท, โรคเบาหวาน, โรคข้อเข่าเสื่อม, โรคหัวใจ, โรคต้อกระจกและภาวะท้องผูกเรื้อรังเป็นต้น) 3. ไม่ได้รับยาที่มีผลต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ 4. ไม่เคยได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน 5. ไม่ได้รับการรักษาหรืออยู่ในระหว่างการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 6. ค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 7. ยินดีเข้าร่วมการวิจัยตามแผน ที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ 8. มีคะแนนการทดสอบสติปัญญา (MSQ) ของคาร์นและคณะ (Kahn et al., 1960) มากกว่า 8 คะแนนขึ้นไปจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน  
เครื่องมือ : 1. เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 1) โปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 2) แบบบันทึกเวลาและจำนวนครั้งของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและแบบบันทึกการถ่ายปัสสาวะ 3) สมุดประจำตัวสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะข้อมูลทางประชากรของกลุ่มผู้สูงอายุหญิงที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 2) แบบทดสอบความรู้ 3) แบบประเมินพฤติกรรม 4) แบบประเมินความรุนแรง 5) แบบวัดความพึงพอใจ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : กลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิง ตำบลกุงเก่า อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์เข้าโปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต่อการป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  
     
ผลการศึกษา : ผลการวิจัยพบว่า ความรู้เกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบว่า หลังการได้รับโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างมีความรู้สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง พบว่า หลังการได้รับโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงกว่าก่อนการได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) ระดับความรุนแรงของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบว่า หลังการได้รับโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างมีความรุนแรงของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ลดลงกว่าก่อนการได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) ความพึงพอใจมีต่อโปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก จากผลการวิจัยสนับสนุนได้ว่า โปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น ความแข็งแรงที่เพิ่มมากขึ้นจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และลดความรุนแรงของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุเพศหญิงได้  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)