ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การกำกับการกินยาต่อหน้าเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาวัณโรคต่อเนื่อง สม่ำเสมอ DIRECT OBSERVED TREATMENT TO PROMOTE ANTI TUBERCULOSIS ADHERANCE
ผู้แต่ง : เฉลิมพล โพธิ์สาวัง ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรงพยาบาลท่าคันโทเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด30 เตียงในจังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตอำเภอท่าคันโท ทำหน้าที่ในการให้บริการผู้ป่วยวัณโรคทั้งในเขตบริการของโรงพยาบาลท่าคันโทและผู้ป่วยวัณโรคในเขตที่หน่วยบริการปฐมภูมิรับผิดชอบ วัณโรคนับเป็นโรคที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของอำเภอท่าคันโท จากการดำเนินงานของโรงพยาบาลท่าคันโทที่ผ่านมาได้นำการส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาวัณโรคด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การกำกับการกินยามาใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 แต่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่พบเชื้อ(Incidence of sputum smear positive TB) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จากแนวทางการดำเนินงานของคลินิกวัณโรคโรงพยาบาลท่าคันโทที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรควัณโรค ผู้ป่วยจะได้รับการขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรคที่คลินิกวัณโรคโดยมีพยาบาลประจำคลินิกวัณโรคเป็นผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับโรค แนวทางการรักษา และอาการข้างเคียงจากยา การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นซึ่งจะใช้เวลาในการให้คำปรึกษาประมาณ 15 นาที เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น พยาบาลประจำคลินิกจะเป็นผู้เลือกผู้ทำหน้าที่ในการกำกับการกินยาซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับการกินยาจะเป็นสมาชิกในครอบครัวโดยทำหน้าที่กำกับการกินยาที่บ้าน ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่กำกับการกินยาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและการรักษาวัณโรคพร้อมกับตัวผู้ป่วย แต่แนะนำเพิ่มในส่วนของการบันทึกการกินยาในบัตรบันทึกการกินยา มีระบบการนัดมารับยาโดยผู้ป่วยจะได้รับการนัดมารับยาที่คลินิกวัณโรค 2 สัปดาห์ต่อครั้งในช่วงการรักษาระยะเข้มข้น (Initial phase) และเดือนละ 1 ครั้งในระยะการรักษาต่อเนื่อง (continuous phase) เพื่อตรวจประเมินความสม่ำเสมอในการบันทึกการกินยาในบัตรบันทึกการกินยา และการนับจำนวนเม็ดยาที่เหลือ จากการดำเนินงานดังกล่าวยังพบว่าผู้ป่วยไม่มารับการรักษาตามนัด ญาติผู้ที่ทำหน้าที่กำกับการกินยาขาดความเข้มงวดในการกำกับการกินยา เนื่องจากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการรักษาในช่วงแรกส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดกินยาโดยญาติก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้ป่วย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะขาดนัดในช่วง 1-2 เดือนแรกของการรักษา ส่งผลให้อัตราการขาดยา (default rate) สูงถึงร้อยละ 22.1 และอัตราความสำเร็จในการรักษามีเพียงร้อยละ 80.8 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกและแผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติที่กำหนดไว้(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2555) พยาบาลชุมชนคลินิกวัณโรคเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งการดูแลที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพจึงจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาวัณโรคที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคสู่ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ยังช่วยป้องกันปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย จากสาเหตุดังกล่าวผู้ศึกษาตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือการรักษาภายใต้การกำกับการรับประทานยาวัณโรคต่อหน้าในผู้ป่วยวัณโรค จึงต้องการศึกษารูปแบบและแนวทางจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีความน่าเชื่อถือในการการกำกับการรับประทานยาวัณโรคต่อหน้าในผู้ป่วยวัณโรค เพื่อนำผลจากการศึกษามาใช้ในการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาวัณโรคภายใต้การกำกับการรับประทานยาวัณโรคต่อหน้าซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพ เพิ่มอัตราการรักษาหาย อัตราการรักษาครบของผู้ป่วยวัณโรค ลดการติดเชื้อวัณโรคดือยาต้านวัณโรคหลายขนาน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาภายใต้การสังเกตตรงทำให้เกิดความคุ้มค่า คุ้มทุน ทั้งผู้ป่วย หน่วยงานและประเทศชาติ  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการกำกับการรับประทานยาต่อหน้า (DOT) ในการส่งเสริมการรับประทานยาวัณโรคอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท (ผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ,วัณโรคปอดเสมหะไม่พบเชื้อ,ผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด.ผู้ป่วยวัณโรคชนิดกลับเป็นซ้ำ  
เครื่องมือ : PICO framework  
ขั้นตอนการดำเนินการ : สืบค้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการรักษาวัณโรคอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ฉบับสมบูรณ์ ตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2011 โดยกำหนดขอบเขตการสืบค้นตามกรอบแนวคิดของ “PICO” (PICOframework)สืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ ได้แก่ CINAHL,Cochrane,Ovidfulltext, Pubmed,Oxfordด้วยคำสำคัญในการสืบค้นคือ Tuberculosis OR Pulmonary Tuberculosis OR Tuberculosis OR Pulmonary Tuberculosis ,Directly Observed Therapy OR Direct observe therapy, Family member DOT OR Community DOT OR Community health worker DOT OR community-based observed treatment OR facility-based observed treatment OR self-administered therapy , Success rate OR Cure rate OR complete rate OR Adherence และสืบค้นภาษาไทยด้วยคำว่า ผู้ป่วยวัณโรค การกำกับการกินยาต่อหน้า การรักษาภายใต้การสังเกตตรง และความสำเร็จในการรักษาวัณโรค หรือ ความต่อเนื่องของการรักษา รวมทั้งสืบค้นด้วยมือจากวารสาร เอกสารอ้างอิงหรือบรรณานุกรมที่เกี่ยวข้อง  
     
ผลการศึกษา : - มีผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาตามมาตรฐานแนวทางการรักษาวัณโรค -มีผู้ป่วยวัณโรคประเภทที่ 2 จำนวน 2 รายเป็นผู้สูงอายุ มีภาวะทุพโภชนาการที่ได้รับการปรึกษาแนวทางการรักษาจากอายุรแพทย์ และนักโภชนาการ และประเมินพบว่ามีแนวโน้มที่จะไม่ compliance ปรึกษาเรื่องอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรักษาหาย - ผู้ป่วยวัณโรคที่มีปัญหาซับซ้อน คือมีภาวะทางจิตประสาท มีภาวะ aggressive ได้รับการช่วยเหลือจาก ตำรวจ เทศบาล อำเภอ นักจิตเวช จนอาการคนไข้สงบและรักษาครบ ในช่วงตุลาคม2555 -กันยายน 2557 คิดเป็นร้อยละ83.33 ผลการประเมินมาตรฐานคลินิกวัณโรคคุณภาพ สคร6 ร่วมกับสำนักวัณโรค ผ่านระดับ A ( 95 คะแนน / 100 คะแนน)ปี 2557 ผลการประเมินมาตรฐานคลินิกวัณโรคคุณภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ระดับ A (93คะแนน /100 คะแนน) ปี 2558  
ข้อเสนอแนะ : - ควรมีการจัดทำโครงการโดยปรับปรุงวิธีการดำเนินงานที่มีระบบมากยิ่งขึ้นและเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนละภาคีเครือข่าย -ควรมีการจัดอบรมเจ้าหน้าสาธารณสุขและอสม.อย่างน้อย 1ครั้ง/ปีเกี่ยวกับเรื่องวัณโรค -ควรมีการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลมีห้องแยกโรคและจัดพื้นที่เก็บเสมหะส่งตรวจ ที่ได้มาตรฐาน - เพิ่มการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลและสถานีอนามัยทำให้ทราบปัญหาในการ ดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายและมีการประชุมหารือกันเพื่อเสนอแนวทางที่ทำให้การรักษาประสบ ความสำเร็จมากขึ้น - การเยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและทำให้ครอบครัวผู้ป่วยและคนในชุมชนเล็งเห็นความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จากนั้นครอบครัวผู้ป่วยและคนในชุมชนจะสามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยจนรักษาหายขาดและเป็นการลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้อีกด้วย  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ