ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท่าคันโท
ผู้แต่ง : ชลีกาญจน์ พัฒยา ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มากเป็นอันดับหนึ่งของเด็กทั่วโลก และคาดว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจประมาณ 5 ล้านคน โดยร้อยละ 97 เป็นเด็กที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (WHO,1998) ในประเทศไทย พบรายงานอัตราผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ. 2549 – 2558) โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราป่วยสูงสุดร้อยละ 45.3 (ศริญญา ไชยยา,2558) โดยมีปัจจัยเสี่ยงของเด็กต่อการเกิดโรคปอดอักเสบ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร การได้รับควันบุหรี่ ความพิการแต่กำเนิด และโรคประจำตัว จากการสังเกต ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ ที่รับการรักษาในโรงพยาบาลท่าคันโท พบว่า ผู้ดูแลเด็กส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อาการที่มา คือ ไข้ ไอ หายใจหอบ ผู้ดูแลมีความวิตกกังวลในการเจ็บป่วยของเด็กมาก และบอกว่าไม่ทราบ  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษา ผลของการใช้โปรแกรมการให้ความรู้รายบุคคลแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  
เครื่องมือ : 1.โปรแกรมการให้ความรู้รายบุคคล ประกอบด้วย 1) แผนการสอนรายบุคคล โดยพยาบาลที่ได้รับการอบรมเฉพาะเรื่องการดูแลเด็กปอดอักเสบอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสาระเกี่ยวกับการเน้นให้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยง อาการและอาการแสดง ความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ การดูแล การเช็ดตัวลดไข้ การดูดเสมหะในจมูก และการเคาะปอดทำกายภาพบำบัดทรวงอกเด็ก ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษา 2) สื่อวีดีโอ 3) แผ่นพับความรู้ 4) อุปกรณ์ในการสอน สาธิต การเช็ดตัวลดไข้ ได้แก่ กะละมัง ผ้าที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ ปรอทวัดไข้ ลูกสูบยางแดง 2.แบบประเมินความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ดูแลเด็ก ข้อคำถามเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลโรคปอดอักเสบในเด็ก 3.แบบสังเกตพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ในโรงพยาบาล  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมให้ความรู้รายบุคคล แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโรงพยาบาลท่าคันโท ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 กันยายน 2560 จำนวน 27 ราย เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัย คือ โปรแกรมการให้ความรู้รายบุคคล ประกอบด้วย 1) แผนการสอนรายบุคคล โดยพยาบาลที่ได้รับการอบรมเฉพาะเรื่องการดูแลเด็กปอดอักเสบอายุต่ำกว่า 5 ปี 2) สื่อวีดีโอ 3) แผ่นพับความรู้ 4) อุปกรณ์ในการสอน สาธิตวิธีการดูแล ใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ และแบบสังเกตพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ในโรงพยาบาล แบ่งเป็น 4 ระดับ ใช้ สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการวิเคราะห์ข้อมูล  
     
ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างผู้ดูแลเด็กป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดอักเสบ ทั้งหมด 27 คน เป็นเพศหญิงทั้งหมด ส่วนใหญ่อายุมากว่า 50 ปี (ร้อยละ 74.07) ไม่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลเด็กป่วยโรคปอดอักเสบ (ร้อยละ 88.88) จากการศึกษาพบว่า หลังการเข้าสู่โปรแกรม กลุ่มตัวอย่าง มีความรู้ มั่นใจ และมีความสามารถ ในการดูแลเด็กป่วยโรคปอดอักเสบขณะป่วยที่ถูกต้องระดับ มากที่สุด ในด้านกิจกรรมการดูแลโดยทำการเช็ดตัวลดไข้จนกว่าไข้จะลด และเมื่อเด็กมีอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม พาไปโรงพยาบาลทันที ความรู้ ความสามารถในระดับต่ำที่สุด คือ การสังเกตและช่วยทำทางเดินหายใจให้โล่ง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.37 มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ป่วยเด็กปอดอักเสบขณะรับการรักษาในโรงพยาบาลภายหลังเข้าสู่โปรแกรมให้ความรู้รายบุคคล  
ข้อเสนอแนะ : 1.การพยาบาลโดยให้ความรู้แบบรายบุคคล สามารถประเมินการรับรู้และให้การสนับสนุนความรู้ได้เหมาะสมในแต่ละบุคคล 2.การพยาบาล ควรสร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจผู้ดูแลสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข 3.การใช้สื่อ อุปกรณ์จริงในการสอนเพื่อให้ผู้ดูแลเด็กมีความเข้าใจที่รวดเร็ว  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)