ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความชุกและปัจจัยคุณลักษณะส่วนบุคคลที่มีผลต่อภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในเขตพื้นที่อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ศุภศิลป์ ดีรักษา, สุกัณ คัณธะสอน, นันท์นลิน สิมพา ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : แนวโน้มปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้เปลี่ยนไป อัตราการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆลดลง แต่โรคไม่ติดเชื้อกลับเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวานซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นและทั่วโลกต่างให้ความสนใจ จากข้อมูลปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 415 ล้านราย และได้ประมาณการว่า ปี 2588 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 642 ล้านราย ทั้งนี้ โรคเบาหวานจะเป็น 1 ใน 7 ของสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสมและจริงจัง (World Health Organization, 2015) และจากสถิติรายงานในประเทศไทย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน 1.3 ล้านราย และมีอัตราการป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเช่นเดียวกับข้อมูลรายงานของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่อำเภอท่าคันโท ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2559) นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายพบปัญหาของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจมีผลมาจากปัจจัยด้านคุณลักษณะของผู้ป่วยเบาหวาน จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอื่นๆต่อไปในอนาคต  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกและคุณลักษณะส่วนบุคคลที่มีผลต่อภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในเขตพื้นที่อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการโรงพยาบาลท่าคันโท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560  
เครื่องมือ : โปรแกรมสำเร็จรูปและระเบียนรายงานของโรงพยาบาลท่าคันโท  
ขั้นตอนการดำเนินการ : วิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบย้อนหลัง (Retrospective Cohort Study) ในเขตพื้นที่รับอำเภอท่าคันโท โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการโรงพยาบาลท่าคันโท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560 ระยะเวลา 1 ปี ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,319 คน โดยใช้ข้อมูลที่บันทึกในโปรแกรมสำเร็จรูปและระเบียนรายงานของโรงพยาบาลท่าคันโทในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) วิเคราะห์ข้อมูลคุณลักษณะประชากร เพื่ออธิบาย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติวิเคราะห์ความสัมพันธ์หลายตัวแปรด้วยสมการถดถอยพหุคูณลอจิสติก เพื่ออธิบายค่า Odd ratio พร้อมอธิบายค่าความเชื่อมั่น (95%CI) และ ค่า p-value  
     
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 67.32 ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 51.78 มีอายุเฉลี่ย 59.54 + 10.02 ปี ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า (ร้อยละ 74.45) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร (ร้อยละ 88.02) ระยะการป่วยด้วยโรคเบาหวาน เฉลี่ย 7.58 + 3.95 ปี ส่วนใหญ่ป่วยประมาณ 6-10 ปี (ร้อยละ 44.20) ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน มีค่าเฉลี่ย 195.80 มิลลิกรรม/เดซิลิตร ทั้งนี้ พบความชุกของของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 34.12 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวาน มีภาวะแทรกซ้อนร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง มากที่สุด รองลงมา คือ โรคไตเรื้อรังระยะต่าง ไตวาย โรคหัวใจ อาการชาตามปลายประสาทมือและเท้า รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางตา การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์อย่างหยาบ (Crude Analysis) โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรต้นทีละคู่ (Bivariate Analysis) พิจารณาค่า P-value ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.25 และใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุโลจิสติก (Multiple Logistic Regression) พบว่า ปัจจัยด้านอายุ อายุที่มากกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนกว่าคนอายุน้อยกว่า 60 ปีเท่ากับ 1.40 เท่า (95%CI: 1.08 – 1.80, p<0.001) ปัจจัยทางเพศ พบว่า เพศหญิง มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนกว่าเพศชาย 1.65 เท่า (95%CI: 1.26 – 2.18, p<0.001) ระยะการป่วยด้วยโรคเบาหวาน พบว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี มีความเสี่ยง 1.26 เท่า (95%CI=1.21-1.31, p<0.001) และ ระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ มีความเสี่ยง 1.6 เท่า (95%CI=1.13-2.27, p<0.001)  
ข้อเสนอแนะ : 1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรนำข้อมูลจากการศึกษาไปพัฒนาระบบการดูแลและรักษา รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมในการส่งเสริมสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งส่งเสริมการใช้ข้อมูลทุติยภูมิมาประยุกต์ใช้สำหรับวิเคราะห์สถานการณ์โรคต่างๆในพื้นที่ต่อไป 2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ ทีมสหวิชาชีพควรมีส่วนร่วมในการวางแผนระบบการทำงาน และควรศึกษาบริบทของชุมชนในการดำเนินการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะแทรกซ้อน ในพื้นที่ 3. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการประเมินผลการศึกษาเป็นระยะๆ ปรับรูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงสำรวจ เพื่อประเมินตัวแปรที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา หรือปรับรูปแบบวิธีวิจัยให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และควรวางแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแบบองค์รวม  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)