ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : สภาวะสุขภาพช่องปากกับคุณภาพชีวิตของกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นันธิยา เศษณะเวศ ปี : 2561
     
หลักการและเหตุผล : ในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมากระแสส่งเสริมสุขภาพได้รับการกล่าวขานกันอย่างกว้างขวาง ในงานสาธารณสุขของไทยอาจกล่าวได้ว่า ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุสำคัญอย่างน้อยสองประการ คือ การเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาที่เปลี่ยนจากโรคติดเชื้อมาเป็นโรคไร้เชื้อ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร และ ทางเดินหายใจมาเป็นการตายด้วยโรคหัวใจ อุบัติภัย และ มะเร็ง นอกจากนี้โรคเรื้อรังดังกล่าวยังต้องการการดูแลรักษาที่ยาวนาน และต้องใช้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สูงขึ้นประกอบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบางอย่างเกินความจำเป็น (WHO. 1997 อ้างถึงใน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. 2557) ดังนั้นการพัฒนาด้านสุขภาพก็มุ่งหวังเพื่อให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยหมายถึงการมีชีวิตที่ดีมีความสุข ความพึงพอใจในชีวิตกับสภาพความเป็นอยู่ความพึงพอใจในชีวิต กับสภาพความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตของบุคคลในสังคมทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และค่านิยมต่างๆ ส่วนสำคัญที่สุดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีคือการมีสุขภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นแยกจากกันได้ยาก ความหมายของการมีสุขภาพเปลี่ยนแปลงทุกๆ ด้านอย่างมากมาย และกว้างขวาง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความหมายและขอบเขตของสุขภาพจึงมีหลากหลายมุมมอง ดังเช่น องค์การอนามัยโลก ได้ให้ค่านิยมของสุขภาพไว้ว่า “สุขภาพที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย สังคม และจิตใจประกอบกัน ไม่ใช่เพียงการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือ ความพิการเท่านั้น โดยชี้ว่าสุขภาพเป็นขุมพลังแห่งชีวิตมิใช่เป้าหมายของการดำรงชีวิต เป็นแนวคิดเชิงบวกที่เน้นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลและสังคมเช่นเดียวกับสมรรถภาพทางร่างกาย ขณะที่แนวคิดทางสังคมศาสตร์การแพทย์ได้นิยมถึงสุขภาพโดยเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ทางสังคม เช่น Parson ได้นิยามสุขภาพว่า เป็นภาวะของการ ที่บุคคลมีสมรรถภาพเต็มที่ที่จะปฏิบัติบทบาทและหน้าที่ ที่สังคมมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิผล (Parson. 1951) ศ.น.พ.ประเวศ วะสี กล่าวถึงสุขภาพว่าน่าจะครอบคลุม ทั้งกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ และปัญญา หรือกล่าวถึงภาพรวมของมิติที่กว้างโดยอิงหลักพุทธศาสนาว่า สุขภาพ คือ “บรมธรรม” (ชนิกา ตู้จินดา และศรียา นิยมธรรม. 2558) จากแนวคิดด้านสุขภาพ พบว่า สุขภาพเสมือนชีวิตของมนุษย์เรา เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตเราทุกด้าน บทบาทของการดูแลสุขภาพจึงหมายถึงการส่งเสริมหรือดำเนินการใดๆ ที่จะไปเพิ่มหรือพัฒนาความสามารถของคนให้ดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ได้อย่างปกติสุข ตามความพึงพอใจของแต่บุคคล ชุมชนตลอดจนสังคมนั้นๆ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิต และการมีสุขภาพชีวิตที่ดีจากข้างต้นชักนำให้มีการพิจารณากันอย่างกว้างขวางมากขึ้นว่าการวัด “ผล” (Outcome) ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ใช้มาตรวัดทางการแพทย์ เช่น อัตราการตาย อัตราการป่วย เริ่มไม่เพียงพอ ทิศทางของวงการแพทย์และสาธารณสุขน่าจะหันมาวัดในเรื่อง “สุขภาพ” มากกว่า “โรค” อย่างที่ยึดถือตลอดหลายทศวรรษ ที่ผ่านมา (สินศักดิ์ชนม์ อุ่นพรมมี. 2556) อย่างไรก็ตามจากการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ที่การวัดจากนิยามดังกล่าวชี้ให้เห็นความแตกต่างของ “สุขภาพ” และ “โรค” ที่ถูกนิยามโดยนักวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข สุขภาพมีมิติกว้างกว่าการปราศจากโรค และ ภาวะสุขสมบูรณ์ (Well-being) ก็เกี่ยวข้องกับการรับรู้ (Perception) ของแต่ละบุคคลมากกว่าการวัดด้วยแพทย์เท่านั้น (สุปรีดา อดุลยานนท์. 2542) จากแนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ (WHO. 1985 อ้างถึงใน ไพจิตร ประดิษฐ์ผล. 2558) คือแนวทางแรกเป็นคุณภาพชีวิตเชิงวัตถุวิสัย (Objective well-being) เป็นแนวคิดที่บุคคลอื่นจะให้ภาพว่า บุคคลที่มีคุณภาพชีวิตที่สังคมยอมรับนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นคุณภาพชีวิตตามที่ลักษณะที่บุคคลอื่นประเมินหรือกำหนดให้ในแง่ความสัมพันธ์กับสังคมเป็นต้น แนวคิดที่สอง เป็นคุณภาพชีวิตเชิงจิตวิสัย (Subjective well-being) เป็นความรู้สึกของบุคคลที่จะอธิบายว่า เมื่อตนรับรู้ว่ามีคุณภาพชีวิตที่นั้น ตนรู้สึกอย่างไร อะไรเป็นตัวบ่งชี้หรือเป็นเหตุให้รู้สึกถึงความมีคุณภาพชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ประเมินจากความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจในองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิต ความพึงพอใจในชีวิต ความสุขหรือการรับรู้คุณภาพชีวิตโดยรวม (Global quality of life) (Oleson. 1990 อ้างถึงใน ปุณยนุช สุทธิพงค์ และคณะ. 2558) แนวคิดนี้เป็นที่นิยมสำหรับการประเมินคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน เนื่องจากทำได้สะดวกรวดเร็ว และเชื่อว่าบุคคลเป็นผู้ตัดสินใจได้ดีที่สุดถึงความผาสุกของตนเอง สุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพกาย และคุณภาพชีวิตในหลายด้าน เมื่อพิจารณาที่การทำงานของช่องปากโดยรวม พบว่า ช่องปากเป็นส่วนนำเข้าของอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์พึงได้รับ ซึ่งพบได้ตั้งแต่การเคี้ยว การกัด การกลืน การพูด การยิ้ม การหัวเราะ ซึ่งเป็นการทำงานด้านกายภาพทางช่องปาก ขณะเดียวกันยังมีผลต่อสุขภาพจิต อันเนื่องมาจากการสูญเสีย และเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและมีผลกระทบต่อด้านจิตใจรวมทั้งทางสังคมที่มีการพบปะติดต่อกับผู้คนด้วย (รัตนา จันทร. 2559) สำหรับการวัดสุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้มีการสร้างดัชนีสุขภาพช่องปากที่เรียกว่าดัชนีทันตสังคม (Socio-dental indicators) ที่มีมิติครอบคลุมสภาวะสุขภาพช่องปากในด้านต่างๆที่กว้างมากขึ้นกว่าการวัดโรคเพียงอย่างเดียว แต่ขยายมิติที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้สุขภาพช่องปากของตน ซึ่งเกิดจากประเมินด้วยตนเองถึงผลกระทบที่เกิดจากสภาวะช่องปาก ดัชนีทันตสังคมดังกล่าวได้มีการพัฒนาขึ้นจากฐานของประชากรในหลายประเทศ และมีการวัดถึงผลกระทบที่เกิดจากสภาวะในช่องปาก ในระดับต่างๆ และในมิติที่แตกต่างกัน สำหรับในประเทศไทย Adulyanun S. and Sheiham (1996) ได้ทำการศึกษาโดยวัดผลกระทบของปากที่มีต่อสมรรถภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันและพัฒนาพัฒนาดัชนีทางทันตสังคมจากข้อมูลในประชากรไทย คือ The Oral Impacts on Daily Performance (OIDP) ที่พัฒนาครอบความคิดจาก WHO’s International Classification of Impairment, Disabilities and Handicaps ซึ่งผลการศึกษาที่ได้แสดงให้เห็นถึงมิติที่กว้างขวางของ สุขภาพช่องปาก อันเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต จากการสำรวจสภาวะสุขภาวะช่องปากโดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ครั้งที่ 7 ปี 2555 พบว่า ผลการสำรวจสุขภาพช่องปากที่อายุ 15 ปี พบโรคฟันผุ ร้อยละ 62.4 ปัญหาสำคัญยังคงอยู่ที่พฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและขนมหวาน รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบตามกระแสนิยม มีการบริโภคขนมกรุบกรอบทุกวัน ร้อยละ 38.4 และใช้จ่ายเงินสำหรับขนมและเครื่องดื่มเหล่านี้มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นด้วยเยาวชนได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปากเพียง ร้อยละ 41.1 ปัญหาจึงอยู่ที่อาหารการกินซึ่งจำเป็นต้องสร้างความตระหนัก วัยทำงาน ปัญหาที่พบเกิดจากโรคฟันผุสะสม คนช่วงอายุนี้มีการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 39.3 พบปัญหาปริทันต์อักเสบที่มีการทำลายของกระดูกรองรับรากฟันร่วมด้วย ร้อยละ 15.6 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 35.2 กลุ่มวัยทำงานยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ร้อยละ 19.6 สำหรับการไปใช้บริการทันตกรรมในรอบปี ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.0 ไปรับบริการเมื่อมีอาการปวดและเสียวฟันแล้ว มีเพียงร้อยละ 10.1 เท่านั้นที่ไปตรวจสุขภาพช่องปากโดยไม่มีอาการ อย่างไรก็ตามวัยทำงานส่วนใหญ่ร้อยละ 93.7 ยังรู้สึกว่าไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก เพราะสามารถใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ดี นอกจากนี้ ยังพบว่าวัยทำงานเริ่มมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพช่องปาก  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพช่องปากกับคุณภาพชีวิตของกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มอายุ 15 – 59 ปี จำนวน 291 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 3.1 รูปแบบการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบเชิงพรรณนา (Descriptive Study) เพื่อการศึกษาคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล 3.2 ประชากรที่ใช้ในการศึกษา 1. ประชากร 1.1 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นประชากรที่อาศัยในเขตรับผิดชอบของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดยทำการศึกษาในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปีดังนี้ (อายุตามปฏิทินถึงวันที่ให้สัมภาษณ์) โดยทำการเก็บข้อมูลในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี อาศัยในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง โดยกลุ่มอายุ 15 – 59 ปื อาจเป็นผู้ที่มีฟันในช่องปากหรือไม่ก็ได้ และต้องเป็นผู้ที่สามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารได้รู้เรื่องด้วยตนเองและไม่เป็นปัญหาเรื่องความจำและสุขภาพจิต 1.2 การศึกษาครั้งนี้ประยุกต์ใช้การประเมิน 6 หัวข้อของ Orientation-Memory-Concentration test (Katzman and other, 1983) ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับ เวลา วัน/เดือน/ปี ชื่อที่อยู่และการนับ 20 - 1 (ถอยหลัง) เพื่อประเมินการสามารถพูดคุยโต้ตอบได้โดยไม่มีความผิดปกติของความจำซึ่งเป็นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเข้าในการศึกษาที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ 2. การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างและขนาดตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นประชากรอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีแบบแผนการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแบบบังเอิญ (Convenience หรือ Accidental Sampling) โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 2.1. รวบรวมจำนวนประชากรอายุ 15-59 ปี ในหมู่บ้านของเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน 2.2 คำนวณขนาดตัวอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งขนาดตัวอย่างที่จะทำการศึกษาและชุมชนย่อยที่จะทำให้การเก็บข้อมูล 2.3 ทำการสำรวจข้อมูลในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในครัวเรือนที่สุ่มตามตัวอย่างมาได้ 3. ขนาดกลุ่มตัวอย่าง ขนาดตัวอย่างสามารถได้จากสูตร (Lwanga SK. and Lemeshow S. 1991 อ้างถึงใน วิสุทธิ์ กังวานตระกูล. 2554) n= (〖NZ_(α/2)〗^2 P(1-P))/(e^2 (N-1)+〖Z_(α/2)〗^2 P(1-P)) N = จำนวนประชากรกลุ่มอายุ 15 – 59 ปีในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลหนองแสง อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ (จำนวน 1,700 คน) P = สัดส่วนของกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ที่เป็นโรคในที่นี้กำหนดให้เป็น การมีฟันในช่องปากน้อย กว่า 20 ซี่ ค่าประมาณสัดส่วน Q = (1 - p) Z_(α/2)= ระดับความเชื่อมั่นในที่นี้กำหนดให้มีระดับความเชื่อมั่นที่ 95% (Z_(α/2)= 1.96) e = ค่าความคาดเคลื่อนที่ยอมรับให้เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ผู้วิจัยกำหนดให้ความคาด เคลื่อนของค่าสัดส่วนที่ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างแตกต่างจากค่าสัดส่วนของ ประชากร เท่ากับ 0.05 แทนค่าจากสูตร n = 1,700 x (1.96)2 0.65 (1-0.65) (0.05)2 (1,700 - 1) + (1.96)2 0.65 (1-0.65) = 1485.738 5.115 = 290.46 ดังนั้นทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 291 คน 3.3 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา 1. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการวิจัยครั้งนี้เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ไปใช้แบบสอบถาม โดยข้อมูลส่วนต่างๆ มีดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของประชากรและลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพปัจจุบัน รายได้ การตรวจสุขภาพ ช่องปากได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้เคียง การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคฟันผุ ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคฟันผุ ส่วนที่ 2 ข้อมูลสุขภาพร่างกาย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ได้แก่ โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการผิดปกติ ยารักษาโรค ส่วนที่ 3 ข้อมูลสุขภาพจิต ได้แก่ รู้สึกหงอยเหงาเศร้าหมอง รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งรอบข้าง รู้สึกอยากร้องไห้ รู้สึกวิตกกังวลไปทุกเรื่อง รู้สึกหงุดหงิดบ่อยๆ รู้สึกไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดกำลังใจและสิ้นหวัง ส่วนที่ 4 ข้อมูลผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวันเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งดัชนีที่ใช้วัดคือ The Oral Impacts on Daily Performances (OIDP) (Adulyanon S. & Sheiham. 1996) โดยวัดผลกระทบของช่องปาก ที่มีสมรรถภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันใน 9 กิจกรรม ได้แก่ การกินอาหาร การพูดออกเสียงการนอนหลับ การยิ้ม หัวเราะ การคงสภาพฟัน การทำงานหลัก การติดต่อกับผู้อื่น ส่วนที่ 5 ข้อมูลพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก ได้แก่ การแปรงฟัน วิธีการในการทำความสะอาดฟัน การใส่ฟันปลอม ปัญหาการใส่ฟันปลอม การทำความสะอาดฟันปลอม การบริโภคน้ำตาล การบริโภคอาหารหวาน การบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน การการสูบบุหรี่ ชนิดของการสูบบุหรี่ ระยะเวลาในการสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมาก ระยะเวลาที่เคี้ยวหมาก ความถี่ในการเคี้ยวหมาก ระยะเวลาที่ไปรับบริการทางทันตกรรม เหตุผลที่ไปรับบริการทางทันตกรรม การตัดสินไปรับบริการทางทันตกรรมเมื่อมีปัญหา การตัดสินที่จะไม่ไปรับบริการทางทันตกรรมเมื่อมีปัญหา ส่วนที่ 6 แบบสังเกตสภาวะสุขภาพช่องปากของประชากรกลุ่มอายุ 15-59 ปี ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เกณฑ์การแปลคะแนนด้านสุขภาพจิตด้านภาวะซึมเศร้า การประเมินสุขภาพจิตด้านภาวะซึมเศร้าประเมินจาก ความรู้สึกเศร้าหมอง เบื่อหน่าย อยากร้องไห้ วิตก กังวล หงุดหงิด ไม่อยากทำอะไร หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ลักษณะคำถามเป็นแบบปลายปิดที่มีคำตอบให้เลือกมีจำนวน 7 ข้อ มีเกณฑ์การประเมินดังนี้ ไม่เกิดความรู้สึกนี้เลยตลอด 7 วัน ให้ 3 คะแนน เกิดความรู้สึกนี้บ้างไม่เกิน 4 วัน ให้ 2 คะแนน เกิดความรู้สึกบ่อยๆ 5-7 วัน ให้ 1 คะแนน การแปลผลคะแนนภาวะซึมเศร้า ได้จากการนำคะแนนที่ได้มาจัดกลุ่มตามวิธีของ บรรลุ ศิริพานิช (2531) ดังนี้ นับคะแนนจากคำตอบแบบสอบถาม 7 ข้อ แล้วแปลผลจากคะแนนรวมดังนี้คือ คะแนนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 17 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าไม่มีภาวะซึมเศร้า และคะแนนรวมน้อยกว่า 17 คะแนนลงไป แสดงว่ามีภาวะซึมเศร้า เกณฑ์การแปลคะแนนผลกระทบของสภาวะในช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวัน การประเมินผลกระทบของสภาวะในช่องผากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวันประเมินจาก ความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่ประเมินตนเองว่ามีปัญหาจากสภาวะช่องปากที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ ลักษณะคำถามเป็นแบบปลายปิดที่มีคำตอบให้เลือก โดยถามลำดับของผลกระทบ ว่ามีผลกระทบใดบ้างที่เกิด จากทั้งหมด 9 ด้าน ในด้านที่มีผลกระทบจะถามถึงความถี่และความรุนแรงของผลกระทบที่เกิด อาการที่ทำให้มีผลกระทบ และสาเหตุจากสภาวะในช่องปากที่ก่อให้ผลกระทบนั้น การแปลผลคะแนนความถี่และความรุนแรงจากการนำคะแนนที่มาจัดกลุ่มตามวิธี Adulyanon S. (1996) ดังนี้ คะแนนความถี่ของผลกระทบที่เกิดในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ความถี่(ผู้ที่เกิดผลกระทบสม่ำเสมอ) ระยะเวลา(เกิดผลกระทบเป็นบางครั้งคราว) คะแนน ไม่เกิดเลยในระยะเวลา 6 เดือน 0 วัน 0 เกิดน้อยกว่า 1 ครั้ง/เดือน รวมเวลาที่เกิด 5 วัน 1 เกิด 1-2 ครั้ง/เดือน รวมเวลาที่เกิด 15 วัน 2 เกิด 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ รวมเวลาที่เกิด 30 วัน 3 เกิด 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ รวมเวลาที่เกิด 3 เดือน 4 เกิดทุกวันหรือเกือบทุกวัน รวมเวลาที่เกิด มากกว่า 3 เดือน 5 คะแนนความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา จากผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ประเมินถึงความรุนแรงของผลกระทบโดยให้ค่าคะแนน จาก0 ถึง 5 โดย 0 หมายถึง ไม่รุนแรงเลย 5 หมายถึง รุนแรงที่สุด การแปลผลคะแนน นำคะแนนที่ได้มาคำนวณหา OIDP score = (ความถี่ ด้านการกิน X ความรุนแรง ด้านการกิน) +( ความถี่ ด้านการพูด X ความรุนแรงด้านการพูด) + (ความถี่ ด้านการทำความสะอาดช่องปาก X ความรุนแรงด้านการทำความสะอาดช่องปาก) + (ความถี่ ด้านการใช้ร่างกายทั่วไป X ความรุนแรงด้านการใช้ร่างกายทั่วไป) + (ความถี่ ด้านการนอน X ความรุนแรงด้านการนอน) + (ความถี่ ด้านการยิ้ม X ความรุนแรงด้านการยิ้ม) + (ความถี่ ด้านการคงสภาพอารมณ์ X ความรุนแรงด้านการคงสภาพอารมณ์) + (ความถี่ ด้านการทำงานหลัก X ความรุนแรงด้านการทำงานหลัก) + (ความถี่ ด้านการพบปะผู้คน X ความรุนแรงด้านการพบปะผู้คน) X 100/225 จากการคำนวณ OIDP score ที่ได้จะนำมาศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพช่องปากกับคุณภาพชีวิตตามกรอบการศึกษา โดยผู้ที่มี OIDP score = 0 คือผู้ที่ไม่มีผลกระทบของสภาวะในช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวัน OIDP score > 0 คือ ผู้ที่มีผลกระทบของสภาวะช่องปาก ต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวัน (ในการคำนวณ Bivariate และ Logistic regression) 3.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษาโดยดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. ทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ใน การเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย ไปยังผู้นำชุมชน เขตพื้นที่รับผิดชอบ โรงพยาบาลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้ง 9 หมู่บ้านเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และขอความอนุเคราะห์ 2. ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยแก่ผู้ให้ข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูล 3. ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 4.รวบรวมข้อมูลที่ได้เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูล 3.5 การวิเคราะห์ข้อมูล 1. ลงรหัส นำข้อมูลที่ได้จากการสอบถามตรวจสอบความถูกต้องและลงรหัส 2. การนำเข้าข้อมูล นำข้อมูลที่ลงรหัสเรียบร้อยนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3.การตรวจสอบความถูกต้องและปรับปรุงการแก้ไขโดยทำการแจกแจงความถี่ตัวแปรทุกตัวเพื่อหาข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล 4. บันทึกข้อมูลที่สมบูรณ์ 5. ประมวลผลข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา 3.6 สถิติที่ใช้ในการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายการศึกษาคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ในกลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ในเขตรับผิดชอบของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มอายุ 15 – 59 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 62.9 อายุเฉลี่ย 31.89 ปี มีอายุระหว่าง 15 - 24 ปี มากที่สุดร้อยละ 36.8 ระดับการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 39.5 แต่งงานแล้ว ร้อยละ 56.7 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 41.2 รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน 13,209.9 บาท ไม่เคยรับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก ร้อยละ 52.2 ประวัติการเข้ารับบริการ ทันตกรรม ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้ารับบริการทันตกรรม ร้อยละ 64.3 เคยได้รับความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ ร้อยละ 75.9 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 86.9 ไม่มีความผิดปกติใดๆ ที่ทำให้การทำความสะอาดช่องปากยากลำบาก ร้อยละ 96.7 ด้านสุขภาพจิตกลุ่มตัวย่างเกิดความรู้สึกบ่อยๆ คือ 5-7 วันใน 1 สัปดาห์ พบความถี่สูงสุด คือ รู้สึกไม่อยากทำอะไร ร้อยละ 13.7 ปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟันผลกระทบที่มีต่อสมรรถภาพด้านการกิน ร้อยละ 28.2 พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากส่วนใหญ่ทำความสะอาดช่องปากวันละ 2 ครั้ง ร้อยละ 75.2 วิธีการทำความสะอาดโดยการแปรงฟัน ร้อยละ 88.3 ไม่ใส่ฟันปลอม ร้อยละ 92.8 ไม่เคยสูบบุหรี่ ร้อยละ 79.1 เกือบทั้งหมดไม่เคยเคี้ยวหมาก ร้อยละ 98.3 การไปพบทันตแพทย์หรือทันตภิบาลครั้งสุดท้าย พบว่า ไม่เคยเลย ร้อยละ 54.3 ส่วนในผู้ที่ไปพบหมอฟันไปด้วยสาเหตุด้วยอาการของช่องปากระยะเริ่มแรก(เช่น จากการสังเกต ลักษณะผิดปกติในช่องปาก) ร้อยละ 29.2 ถ้าหากมีปัญหาเกี่ยวกับปากและฟัน ไปหาหมอฟันแน่นอน ร้อยละ 50.9 แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ไป ซึ่งสาเหตุคือมีปัญหาด้านเวลา ร้อยละ 56.4  
ข้อเสนอแนะ : ปัญหาการปวดฟันมีผลกระทบต่อสมรรถภาพการดำเนินชีวิต กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งเคยได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก และพบหินน้ำลายในช่องปากในอัตราสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีบริการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินน้ำลาย และควรมีการจัดโครงการอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับผลกระทบของโรคในช่องปาก และการดูแลสุขภาพช่องปาก  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ