ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : แนวทางการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบกังหันสุขภาพ(Healthy Mill) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ต.สำราญใต้ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ภาวินี รัตนางาม ปี : 2561
     
หลักการและเหตุผล : โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสำราญใต้ มีจำนวนหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น คน มีสถานบริการสุขภาพใกล้เคียง คือ 1.รพ.สต.หนองกุงน้อย ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นถนนทางลูกรังสลับคอนกรีต และลาดยาง เป็นระยะๆ ช่วงฤดูฝนการคมนาคมไม่สะดวก 2. รพ.สามชัย ระยะทาง 13 กิโลเมตร(เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน) 3. รพ.คำม่วง ระยะทาง 28 กิโลเมตร และ 4. รพ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ระยะทาง 28 กิโลเมตร ในกรณีผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนหากไปใช้บริการ ที่ รพ.สามชัย ต้องจ้างเหมารถเพื่อนบ้าน ราคาประมาณ 300-500 บาทต่อครั้ง และผู้ป่วยบางคนก็เลือกที่จะไม่ไปพบแพทย์เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ และการไปโรงพยาบาลในแต่ละครั้งผู้ดูแลก็จะขาดงาน ทำให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวทางการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน แบบกังหันสุขภาพ (Healthy Mill Model) ขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน  
วัตถุประสงค์ : เพื่่อศึกษาแนวทางการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบกังหันสุขภาพ(Healthy Mill) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแสง ต.สำราญใต้ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 66 คน โดยแบ่งเป็น จากโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Kalasin Happiness Model) 52 คน โครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (LTC) 12 คน เข้าทั้ง 2 โครงการ 2 คน ได้ทำการลงสำรวจชุมชนและเยี่ยมบ้านผู้เข้าร่วมโครงการโดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 9 คน, อสม. หมู่บ้าน จำนวน 87 คน, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จำนวน 4 คนโดยแบ่งเป็น พยาบาลวิชาชีพ 2 คน นักกายภาพบำบัด 2 คน, เจ้าหน้าที่ อบต.จำนวน 10 คน, และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จำนวน 5 คนโดยแบ่งเป็น ผอ.รพ.สต. 1 คน ,พยาบาลวิชาชีพ 2 คน. นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน, เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 1 คน  
เครื่องมือ : แบบบันทึก  
ขั้นตอนการดำเนินการ : โดยการจัดประชุมชี้แจง กำหนดบทบาทหน้าที่/กิจกรรม และคืนข้อมูลให้กับภาคีเครือข่าย แนวทางการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบกังหันสุขภาพ(Healthy Mill) ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ และ 1 ปัจจัยเสริม ดังนี้ ส่วนที่ 1 ฐานที่เป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นการแสดงถึงความร่วมมือและประสานงานกันระหว่างสามภาคส่วน คือ อปท. จะสนับสนุนในส่วนความสะดวก(รถรับส่ง) และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภาครัฐ หรือ หน่วยงานของภาครัฐที่สนับสนุนในเรื่องการบริการทางสุขภาพ การให้คำปรึกษา สุขศึกษา และติดตามประเมินผล และภาคประชาชน ที่เป็นส่วนในการขับเคลื่อนการทำงานทั้ง การเขียนโครงการ ดำเนินการ และสนับสนุนในส่วนต่างๆ ของโครงการ ส่วนที่ 2 ใบพัดหรือกังหัน เป็นการแสดงถึงการหมุนเวียนการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเอง คือ ผู้ป่วย ญาติ และภูมิปัญญา ส่วนปัจจัยเสริม ลมหรือกำลังขับเคลื่อนที่ให้กังหัดหมุดได้ ได้แก่ ส่วนที่ 1 แรงจูงใจให้ในการร่วมมือและประสานงานกัน ส่วนที่ 2 แรงจูงใจให้ผู้ป่วยมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วม ส่วนที่ 3 หน่วยงานของภาคเอกชนที่เป็นส่วนสนับสนุนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆนอกเหนือจากที่ภาครัฐจัดสรรให้  
     
ผลการศึกษา : ผลจากการใช้แนวทางการดูแลสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบกังหันสุขภาพ(Healthy Mill Model) ในผู้ป่วยจำนวน 17 ราย ปรากฏว่า จำนวน 13 ราย มีการดูแลสุขภาพตัวเองตนเองได้ระดับดีมาก มีกายทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 ราย มีการดูแลสุขภาพตนเองได้ระดับดี มีการทำกายภาพเป็นบางครั้ง และยังต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และจำนวน 1 ราย มีการดูแลสุขภาพแบบคงที่ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้รับการส่งต่อ รพ. และผู้ป่วยที่พักอาศัยในบ้านที่ทรุดโทรมได้รับการแก้ไขจากโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง(Kalasin Happiness Model) ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว(LTC) ในรายที่ยังพบปัญหาสุขภาพทาง รพ.สต.หนองแสง ได้คืนข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขร่วมกับคณะกรรมการจนได้รับการแก้ไข  
ข้อเสนอแนะ : การประสานความร่วมมือโดยใช้แนวทางการดูแลสุขภาพแบบกังหันสุขภาพ(Healthy Mill Model)ที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสามารถผลักดันการดำเนินงานไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ