ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การศึกษาพฤติกรรมที่มีผลต่อการติดเชื้อวัณโรคของกลุ่มผู้ส้มผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคที่มารับบริการในโรงพยาบาลห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ยุภาพร แก้วจันดา ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : วัณโรคเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก องค์การ อนามัยโลกรายงานว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรคมากกว่าร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2554 ( ค.ศ. 2011) มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ( new case ) รวมถึงรายที่กลับเป็นซ้ำ ( relapse ) จำนวนถึง 8.7 ล้านคน และมีผู้ป่วยวัณโคเสียชีวิตจำนวนมากมากถึง 1.4 ล้านคน โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เกิดขึ้นมากที่สุด สำหรับประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของวัณโรคอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ในจำนวน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก พบว่าประชากรทั่วประเทศร้อยละ30 ติดเชื้อวัณโรคแล้ว จากรายงานการค้นหาผู้ป่วยของกรมควบคุมโรค ในปี พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 86,000 รายผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด 7,508 ราย หรือคิดเป็นอัตราอุบัติการณ์ 124 ต่อประชาการแสนคน สูงกว่าประเทศตะวันตก 30 เท่า ในขณะที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยามีแนวโน้นพบได้มากขึ้นในระดับโลก ของกรมควบคุมโรค ผลการเฝ้าระวังการดื้อยาในผู้ป่วยรายใหม่ครั้งที่ 1 ซึ่งดำเนินการในปี 2555-2556 พบว่า มีการดื้อยาขนานใด ขนานหนึ่ง ร้อยละ 25.4 ดื้อยาหลายขนานร้อยละ 2.02 จากการกำเนินการเฝ้าระวังครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2556-2557 พบว่า การดื้อยาขนานใดขนานหนึ่งลดลงเหลือ ร้อยละ 14.8 ดื้อยาหลายขนานร้อยละ 0.96 ในการเฝ้าระวังครั้งที่ 3 พ.ศ. 2557-2558 พบว่าอัตราการดื้อยาหลายขนานร้อยละ 1.65 สำหรับ ผู้สูงอายุรายใหม่ ในปี 2557 กลุ่มอายุ 55-64 และอายุ 65 ปีขึ้นไปพบอัตราป่วย 52 และ ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ. 2558 กลุ่มอายุ 55-64 และอายุ 65ปีขึ้นไปพบว่าอัตราป่วย 73และ 80 ต่อแสนประชากรตามลำดับ(กองวัณโรค,2558) โรงพยาบาลห้วยเม็กมีผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษาในปี พ.ศ.2556-2558 จำนวน 48,56 และ 62ราย และมีผู้สูงอายุ 21,25 และ 20 ราย อัตราการขาดยาของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 0 และ อัตราการรักษาสำเร็จคิดเป็นร้อยละ 95.24,85.19 และ 93 ตามลำดับ ( ศูนย์ข้อมูล โรงพยาบาลห้วยเม็ก,2558) เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์อัตราการขาดยา ขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5 อัตราของการรักษาสำเร็จร้อยละ90 ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค ของโรงพยาบาลห้วยเม็กจึงยังไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก โดนเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ การป่วยเป็นวัณโลกส่งผลกระทบต่อบุคคลและครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและสามารถแพร่กระจายเชื้อออกไปสู่สังคม ผู้ป่วยจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและการการดูแลตนเองและการดูแลสนับสนุนจากครอบครัว (อัฉราวดี บุญยสิริวงษ์, 2556)  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาพฤติกรรมป้องกันโรควัณโรคปอดในผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคปอด 2.เพื่อทราบข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันโรควัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคปอด 3.เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันโรควัณโรคปอดในผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคปอดและนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการแก้ปัญหาโรควัณโรคปอดในพื้นที่  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด จากผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนในช่วงเดือนตุลาคม 2558- มีนาคม 2559 จำนวน 102 ราย  
เครื่องมือ : แบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิและนำไปใช้เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง มี 2 ส่วน แบบสอบถามส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคลของตัวอย่างจำนวน 5 ข้อ โดยเป็นลักษณะข้อคำถามให้เลือกตอบ จำนวน 4 ข้อ และเติทคำตอบในข้อคำถามแบบปลายเปิดจำนวน 1 ข้อ แบบสอบถามส่วนที่ 2 เกี่ยวกับ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านบุคคล  
ขั้นตอนการดำเนินการ : เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซักถาม พูดคุย กับผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรค เก็บข้อมูลในช่วงเดือน เมษายน พ.ศ.2558  
     
ผลการศึกษา : 1. ข้อมูลทั่วไป ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 102 ราย ผลการศึกษาพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มีอายุระหว่าง 26-35 ปี (ร้อยละ 34.32) มีอายุเฉลี่ย 33.69 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 77.20) มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 39.20) อาชีพส่วนใหญ่เกษตรกร (ร้อยละ 36.30) และรายได้อยู่ระหว่าง 5,001 – 6,000 บาท (ร้อยละ 46.10) 2. พฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรค พฤติกรรมในการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน พฤติกรรมที่มีคะแนนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การมารับการตรวจคัดกรองวัณโรคตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ได้คะแนน 2.80 จากคะแนนเต็ม 3 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.45) รองลงมาคือการกำกับการกินยาของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอจนครบตามแพทย์สั่ง คะแนน 2.71 จากคะแนนเต็ม 3 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.46) และแยกห้องนอนกับผู้ป่วยวัณโรค คะแนน 2.53 จากคะแนนเต็ม 3 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.50) พฤติกรรมในการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน พฤติกรรมที่มีคะแนนต่ำที่สุด 3 อันดับแรก คือ การบ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด การนำเสมหะที่บ้วนในภาชนะปิดมิดชิดไปทำลายโดยการฝังกลบ / เผา ทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบบ้านเป็นประจำทุกวัน ได้คะแนน 1.81 , 1.83 และ 2.05 ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 3 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.52 , 0.55 และ 0.33 ตามลำดับ) 3. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านบุคคลมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ p<0.05  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะสำหรับนำผลการศึกษาไปใช้ 1. ควรสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรองวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคทุกรายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้มากที่สุด 2. มีการให้ความรู้ผู้สัมผัสร่วมบ้านเกี่ยวกับพฤติกรรมการป้องกันการเกิดวัณโรคอย่างเข้มข้นทุกราย ข้อเสนอแนะสำหรับนำผลการศึกษาไปใช้ 1. สร้างเครือข่ายในการกระตุ้น ติดตามผู้สัมผัสร่วมบ้านมาคัดกรองตรวจหาเชื้อวัณโรค ได้แก่ รพ.สต. , อสม. , หมอครอบครัว , ผู้นำชุมชน เป็นต้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ