ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในเขต รพ.สต.ข้าวหลาม
ผู้แต่ง : อ๊อด ศักดิ์ศิริ ปี : 2561
     
หลักการและเหตุผล : องค์การอนามัยโลก พบว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของการตายของคนทั่วโลก ปี พ.ศ. 2546 และปี พ.ศ. 2556 พบว่าอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน เพิ่มจาก 389.8 เป็น 1,621.7 อัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 4.2 เท่า คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.56 พันล้านคน โรคความดันโลหิตสูงพบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้นหรือมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุสำคัญของ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และอัมพฤกษ์/ อัมพาต ซึ่งสามารถป้องกันได้ถ้ารู้จักการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ ไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น ไขมันในเลือดชนิดดี (HDL) ลดลง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเร็วกว่าปกติ 2 – 3 เท่า สารพิษในควันบุหรี่ทำให้การรักษาโรคความดันโลหิตสูงมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากการที่มีสารนิโคตินและสารพิษบางอย่างในควันบุหรี่จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและเกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดง รวมถึงไขมันอุดตันหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์พึงประสงค์ได้ยากขึ้น การดูแลสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรังนั้นทุกคนต้องไม่สูบบุหรี่คือเป้าหมายหลักของกระทรวงสาธารณสุขและรพ.สต.ข้าวหลาม การให้คำปรึกษาด้านการเลิกบุหรี่ในคลินิกให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เลิกบุหรี่ได้เพียง ร้อยละ 7  
วัตถุประสงค์ : พัฒนาระบบสุขภาพชุมชนโดยพัฒนาเครือข่ายเพื่อนความดันลดการสัมผัสควันบุหรี่  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่สมัครใจเลิกบุหรี่ 13 คนเลือกแบบเจาะจงจากผู้สมัครใจที่เคยเลิกบุหรี่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ผู้ร่วมวิจัยคือ ผู้เลิกบุหรี่สำเร็จ 31 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4 คน ผู้นำชุมชน 10 คน อสม. 30 คน รวม 88 คน จาก 10 หมู่บ้าน ในเขตรับผิดชอบ รพ.สต.ข้าวหลาม  
เครื่องมือ : 1) แนวทางการสนทนากลุ่ม 2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก 3) แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1 ระยะวางแผน 2 ระยะปฏิบัติการ 3 ระยะสังเกตการณ์ 4 ระยะสะท้อนผลการปฏิบัติ  
     
ผลการศึกษา : 5.1 ระยะวางแผน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทุกคนเป็นผู้สัมผัสควันบุหรี่ที่บ้าน และพบกลุ่มเพื่อนชวนสูบบุหรี่ 6 กลุ่ม คือ 1) เพื่อนใช้แรงงานสูบยาแก้เหนื่อย 2) เพื่อนดื่มเหล้าเมายาสูบ 3) เพื่อนสูบบุหรี่คอข่าวเช้า 4) เพื่อนสูบบุหรี่ปรึกษาปัญหารุมเร้า 5) เพื่อนดมควันในบ้านตนเอง 6) เพื่อนดมควันนอกบ้านหรือสถานที่สาธารณะ หลังดำเนินการ พบว่า เกิดกลุ่มเพื่อนความดันชวนกันเลิกบุหรี่ 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มใช้แรงงานพากันเลิกยาสูบ 2) กลุ่มเลี่ยงเหล้าเซาสูบยา 3) กลุ่มโสข่าวเช้าเซายาสูบ 4) กลุ่มให้กำลังใจเพื่อนคลายเครียด 5.2 ระยะปฏิบัติการ ในรอบแรกได้แนวทางการขจัดความอยากบุหรี่ คือหลัก 6 ต ได้แก่ 1) ตั้งเป้าหมาย 2) ตัดใจทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์การสูบ 3) ติดต่อขอกำลังใจจากคนที่รักเรา 4) ต่อเวลาถ้าอยากสูบ 5) เตรียมลูกอมหรือหมากฝรั่งติดตัว 6) ต้องออกกำลังกายคลายความหงุดหงิด 5.3 ระยะสังเกตการณ์ มีการทำพันธสัญญาครอบครัวปลอดบุหรี่ ทุกหมู่บ้านมีการประชุมแจ้งนโยบายเพื่อกำหนดกติกาชุมชน สร้างสถานที่ปลอดบุหรี่ และเชิญชวนให้สมาชิกชุมชนร่วมกิจกรรมหนุนเสริมเพื่อนความดันลดการสัมผัสควันบุหรี่ ดังนี้ 1) มอบประกาศเกียรติคุณบ้านปลอดบุหรี่ 2) กำหนดที่ประชุมทุกแห่งเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ 3) จัดสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ในทุกหมู่บ้าน 5.4 ระยะสะท้อนผลการปฏิบัติ เกิดเครือข่ายการเลิกบุหรี่ของชุมชน ได้แก่ 1)บุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่อาสาช่วยเพื่อน 2) อสม.ช่วยหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนความดัน 3) ผู้นำชุมชนช่วยเสริมความเข้มแข็ง หลังดำเนินโครงการครบ 12 เดือน ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ จำนวน 12 คน ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น หายใจเต็มปอด รับประทานอาหารอร่อยขึ้น จากการสังเกต พบว่า หลังเลิกบุหรี่มีสีหน้าสดใส เอิบอิ่ม ดูมีสุขภาพดีขึ้น กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกลุ่ม 1 คนยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ลดจำนวนลงเหลือ วันละ 1-2 มวน ต้องมีการติดตามต่อถึงผลระยะยาวในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายนี้ เกิดบ้านปลอดบุหรี่ 29 หลัง ผู้สัมผัสบุหรี่มือสองมีทักษะในการป้องกันการสัมผัสควันบุหรี่ในบ้านตนเองและนอกบ้าน เกิดการขยายเครือข่ายให้การช่วยเหลือการเลิกบุหรี่ในชุมชนครบทุกหมู่บ้าน  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะ กระบวนการกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนใช้ได้ดีในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สถานบริการด้านสุขภาพ ควรนำ มาใช้ในการช่วยผู้ป่วยเรื้อรัง ในการดูแลสุขภาพตนเอง สำหรับการศึกษาวิจัย สามารถนำไปใช้ได้ในกลุ่มปัญหาคล้ายคลึงกัน มารวมกันโดยความสมัครใจ และใช้ประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาช่วยแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง