ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในการป้องกันฟันผุของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลกมลาไสย
ผู้แต่ง : อุธาทิพย์ นักธรรม ปี : 2561
     
หลักการและเหตุผล : โรคฟันผุเป็นปัญหาสุขภาที่มีผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิต ครอบครัวและเศรษฐกิจ ในเด็กอาการปวดฟันเป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับ การเจริญเติบโต พัฒนาการด้านอื่นๆ ตลอดจนการเรียนรู้ และสภาพจิตใจ ความไม่มั่นใจในตนเองเนื่องจากมีฟันผุหรือมีกลิ่นปาก จากการนำเสนอสถานการณ์สุขภาพช่องปากของเด็กที่เกิดขึ้นแก่ที่ประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย ทำให้ต้องกลับมาทบทวนวิธีการทำงานเพื่อการปรับปรุงงานทันตสาธารณสุข ให้การป้องกันโรคฟันผุเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น เนื่องจากโรคฟันผุสามารถป้องกันได้หากมีความรู้ ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก  
วัตถุประสงค์ : ศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในการป้องกันฟันผุของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลกมลาไสย  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ร่วมศึกษาประกอบด้วย ผู้ปกครองเด็ก 80 คน ครูผู้ดูแลเด็ก 15คน ผู้นำชุมชน 5 คน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน  
เครื่องมือ : 1) แบบบันทึกการตรวจสุขภาพช่องปากสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2)สมุดบันทึกการตรวจฟันประจำวันของผู้ปกครอง 3)แนวทางการสนทนากลุ่มจัดขึ้นเพื่อค้นหาปัญหาเชิงลึกด้านทันตสุขภาพ 4) แบบสังเกตการมีส่วนร่วม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1) การประเมินสถานการณ์ จากสภาวะช่องปากของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากข้อมูลทุติยภูมิ การตรวจฟัน และการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง การสนทนากลุ่มระหว่างผู้ปกครองและครูผู้ดูแลเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคฟันผุ 2) การวางแผนแก้ไขปัญหา โดยการประชุมวางแผนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้ปกครองและครู ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเสวนากลุ่มย่อย สะท้อนคิด วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมกันแก้ไขปัญหา วิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหา 3) การดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม ประชุมมอบหมายหน้าที่ สร้างนโยบายเพื่อควบคุมการทำงาน มีระบบการดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างเป็นรูปแบบและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน 4) ติดตามและประเมินผล ติดตามสร้างแรงจูงใจในการเยี่ยมบ้านเด็ก 2 ครั้ง จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หาแนวทางปฏิบัติที่ต่อเนื่องและยั่งยืน  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาสุขภาพช่องปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่า ปัญหาคือ ปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง เด็กไม่ให้ความร่วมมือในการแปรงฟัน สงสารลูกหลานขณะแปรงฟัน หากร้องไห้ก็หยุดแปรง ผู้ปกครองไม่ได้ตรวจฟันให้เด็ก และไม่แปรงฟันให้เด็กก่อนนอน จากการเสวนากลุ่มครูผู้ดูแลเด็ก พบว่า เด็กบางคนยังติดการดูดขวดนมก่อนนอน และบริเวณใกล้เคียงยังมีร้านค้าขายอาหาร ของหวาน น้ำอัดลม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดฟันผุได้ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม มีการจัดอบรมการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธีให้กับผู้ปกครองและครูผู้แลเด็ก การควบคุมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อโรคฟันผุ ร่วมกันสร้างพันธะสัญญา ระหว่าง ผู้ปกครอง การงดนำขวดนมมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อลดปัญหาเด็กติดขวดนม ศูนย์จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกวัน จาการตรวจสภาวะช่องปากโดยทันตาภิบาลก็พบว่า เด็กมีสภาะวะฟันผุ ลดน้อยลง จากเดิม ร้อยละ 54.6 เป็น ร้อยละ 50.2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดตั้งนโยบายการงดนำขวดนมมาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดงบประมาณสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้จัดกิจกรรมด้านทันตสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีการมอบรางวัลชูเชิดเกียรติแก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดขวดนม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และแรงกระตุ้นทุกๆฝ่ายขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กอย่างยั่งยืน รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในการป้องกันฟันผุในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประกอบด้วย 3ส 2ต 1ย คือ ส 1สร้างแรงจูงใจ ผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก ส 2 ใส่ใจ กระตุ้นให้ทุกๆฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีเป้าหมายที่ชัดเจน ส 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างครูและผู้ปกครอง ตลอดจนผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต1 ต่อเนื่อง จัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมด้านทันตสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ต2 ติดตาม ติดตามให้กำลังใจ เยี่ยมบ้าน เพื่อกระตุ้นการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอย่างสม่ำเสมอ ย ยกย่อง ยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติงาน  
ข้อเสนอแนะ : รูปแบบการป้องกันโรคฟันผุในเด็กชั้นประถมศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดีประกอบด้วย การมีส่วนรับผิดชอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของทุกคน มีเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านทันตสุขภาพของเด็กผู้ปกครองและครูอนามัย กระตุ้นให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ทันตบุคลากรเปลี่ยนจากการสั่งการหรือการให้มาเป็นการกระตุ้นให้กำลังใจ จุดประกายเกื้อกูลให้เกิดกิจกรรม การตรวจเยี่ยมแบบกัลยาณมิตรอย่างสม่ำเสมอ การประสานงานที่ดี การร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อทันตสุขภาพ และการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือชุมชน  
     
รางวัลที่ได้รับ : รองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง