ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการควบคุมภาวะโภชนาการเด็ก 6 - 12 ปี ที่มีภาวะโภชนาการเกิน ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านสูงเนิน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : เสาวณีย์ สีหาบุญจันทร์ ปี : 2561
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาที่สำคัญและพบมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากรายงานภาวะโภชนาการเด็กวัยเรียนของประเทศไทยปี พ.ศ. 2557, 2558 และ 2559 พบว่าเด็กไทยวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5,12.5 และ 12.9 ตามลำดับ ดังนั้น การมีสุขภาพที่ดีนั้นควรจะมีการปูพื้นฐานให้ดีตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงของเด็กวัยเรียน เพราะเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ถ้าเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ (3) ส่วนเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน จะทำให้เกิดการอ้วนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และยากต่อการลดน้ำหนัก ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย จากผลการสำรวจข้อมูล(4) พบว่าร้อยละ 20 ของเด็กไทยมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเข้าข่ายโรคอ้วน เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคและได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและร้อยละ 60-70 บริโภคอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กบางคนอาจได้รับอาหารเพียงพอ แต่สัดส่วนของอาหารไม่ถูกต้อง เด็กที่อ้วนจะมีอาการเฉื่อยชา มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ป่วยเป็นโรคต่างๆได้ง่าย จากรายงานการสำรวจข้อมูลภาวะโภชนาการของเด็ก 6 – 12 ปี ในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านสูงเนิน ตำบลเนินยาง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน คิดเป็นร้อยละ 10.63 (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านสูงเนิน, 2560) ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินเป็นปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการทำงานและเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียน ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความรู้ และ ภาวะโภชนาการของเด็กก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมภาวะโภชนาการเด็กให้เจริญเติบโตสมวัยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อเปรียบเทียบความรู้ของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรม 2. เพื่อเปรียบเทียบภาวะโภชนาการของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม  
กลุ่มเป้าหมาย : เด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่มีภาวะโภชนาการเกิน จำนวน 30 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อการพัฒนาในกลุ่มเด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่มีภาวะโภชนาการเกิน จำนวน 30 คน แบบการศึกษากลุ่มเดียวกันสองครั้ง (The One Group Pretest - Posttest Design) ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นวิจัย (Research Stage) 1. ศึกษาปัญหาด้านภาวะโภชนาการของเด็ก โดยใช้เกณฑ์อ้างอิง น้ำหนัก ส่วนสูง และเครื่องชี้วัดภาวะโภชนาการของประชาชนไทย อายุ 1 วัน -19 ปี นำมาหาส่วนเปรียบเทียบเกณฑ์ 2. เลือกประเด็นเนื้อหาการส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ 3. ทำหนังสือประสานขอความร่วมมือกับผู้ปกครองเด็กเพื่อแก้ไขปัญหา โดยจัดให้ความรู้การส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการควบคุมภาวะโภชนาการของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน หลักสูตร 1 วัน โดยมี อสม.หมู่บ้านละ 1 คน เด็กและผู้ปกครองเด็กเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3.1 ทดสอบระดับความรู้ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม 3.2 ประเมินภาวะโภชนาการก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ขั้นพัฒนา (Development Stage) 1. ทดลองใช้กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการควบคุมภาวะโภชนาการของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน 2. หลังจัดกิจกรรม 3 เดือน จึงทำการ ทดสอบระดับความรู้ และประเมินภาวะโภชนาการ 3. วิเคราะห์สรุปผล ชี้แจงผู้ปกครอง อสม. และกลุ่มเป้าหมาย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง โดยผู้วิจัยและ อสม. ทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม หลังจากนั้นผู้วิจัยตรวจสอบข้อมูล เมื่อข้อมูลครบถ้วนถูกต้องแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ 1. วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ด้วยค่าจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2. วิเคราะห์ความรู้ของเด็ก ด้วยค่าจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความรู้ก่อนหลังการใช้รูปแบบด้วยสถิติ Paired t-test 3. เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภาวะโภชนาการก่อนและหลังการทดลองด้วยค่าจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติ Paired t-test  
     
ผลการศึกษา : ข้อมูลทั่วไป กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงและเพศชายจำนวนเท่ากัน ร้อยละ 50.0 อายุเฉลี่ย 10 ปี อายุต่ำสุด_8 ปี และสูงสุด 12 ปี กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาทั้งหมดไม่มีโรคประจำตัว พฤติกรรมสุขภาพที่ปฏิบัติมากที่สุด ในเรื่องการบริโภคอาหาร คือ การรับประทานอาหารสำเร็จรูปคิดเป็นร้อยละ 66.7 เรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย น้อยและมากมีจำนวนใกล้เคียงกัน ร้อยละ 53.3 และ 46.7 ตามลำดับ เรื่องการออกกำลังกาย/ เล่นกีฬา พบว่า การออกกำลังกายน้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.3 การวิเคราะห์และเปรียบเทียบภาวะโภชนาการก่อนและหลังการทดลอง ภาวะโภชนาการของเด็กก่อนการทดลองท้วมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.3 รองลงมาเริ่มอ้วน ร้อยละ 30.0 และ อ้วน ร้อยละ 26.7 หลังการทดลอง ภาวะโภชนาการสมส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.3 เริ่มอ้วนเท่าเดิม ร้อยละ 30.0 อ้วนและท้วมลดลง ร้อยละ 20.0 และ 16.7 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ความรู้ก่อนและหลังการทดลอง หลังการทดลอง พบว่าเด็กมีผลต่างคะแนนความรู้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p-value < .05 โดยมีผลต่างของคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.97 คะแนน สรุปและอภิปรายผล จากผลการศึกษาพบว่า หลังการเข้าร่วมกิจกรรมภาวะโภชนาการระดับอ้วนลดลง เริ่มอ้วนเท่าเดิม ท้วมลดลง และสมส่วนเพิ่มขึ้น คะแนนรวมความรู้ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < .05 หลังการเข้าร่วมกิจกรรมเด็กมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น โดยสังเกตได้ว่าเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอจะมีภาวะโภชนาการที่ดี โดยมีค่าน้ำหนัก และส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การให้คำแนะนำ การชมเชย และให้กำลังใจจากบุคคลในครอบครัว ครู เพื่อน โรงเรียน ที่คอยให้การสนับสนุน ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารในระดับที่ดี(6) แต่กลุ่มเป้าหมายบางคนทั้งที่มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแต่น้ำหนักก็ยังไม่ลด พันธุกรรมก็มีส่วนทำให้โภชนาการเกินได้(7) จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่า เด็กมีความรู้เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < .05 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย(8) ที่พบว่า ระดับคะแนนรวมความรู้ก่อนและหลังการใช้รูปแบบ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < .05 และสอดคล้องกับงานวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อควบคุมน้ำหนักนักเรียน(9) พบว่าภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีการรับรู้ความรุนแรงของโรคอ้วน การรับรู้โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน การรับรู้ความสามารถตนเอง ความคาดหวังในผลดีของการปฏิบัติ และการปฏิบัติเพื่อควบคุมน้ำหนักในด้านการบริโภคอาหาร เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายดีขึ้นกว่าก่อนการทดลองและดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพมีประสิทธิผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อควบคุมน้ำหนักได้  
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการศึกษาในกลุ่มเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการด้วย  
     
รางวัลที่ได้รับ : ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานวิชาการ ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง