ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัสต่อการลดความเครียดและการจัดการตนองของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ตำบลห้วยเม็ก อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พิชญา สีลาพล ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ในสภาวะปัจจุบันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 90 ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โดยพบมากในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนอายุสั้น ทั่วโลกมีผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1,000 ล้านคน เสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน เฉลี่ยประมาณนาทีละ 15 คน โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก อย่างหนึ่งของประเทศ โดยส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ นับเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ เกิดจากการมีพยาธิสภาพที่หลอดเลือดแดงใหญ่ (Logan, 2011) เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดแดงของผู้สูงอายุจะมีการแข็งตัว เกิดการตีบแคบ ปริมาณสารอิลาสตินที่ลดลงจะทำให้ผนังหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น (elasticity) รวมทั้งสารที่ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว จะถูกสร้างลดลง แรงต้านในหลอดเลือด (peripheral vascular resistance) จึงเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หากผู้สูงอายุควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญในร่างกาย ได้แก่ สมอง ไต ตาและหลอดเลือด ซึ่งการควบคุมระดับความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมายทำได้โดยการรักษาด้วยการใช้ยา (pharmacological therapy) ร่วมกับการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิต (life style modification) ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิต ได้แก่ การควบคุมน้ำหนัก ลดการรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงและอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว จำกัดปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม โปแตสเซียมและแมกนีเซียม เพิ่มการออกกำลังกายแบบแอโรบิก หยุดสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มสุรา พักผ่อนให้เพียงพอและลดความเครียดซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุควรปฏิบัติเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต (American Heart Association [AHA], 2007)  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อศึกษาผลของกาประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประกาศสัมผัสต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการตนเอง ความเครียดและระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ วัตถุประสงค์เฉพาะ 1.เพื่อเปรียบเทียบผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลัง ประสาทสัมผัสต่อระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมหลังการทดลอง 2.เพื่อเปรียบเทียบผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลัง ประสาทสัมผัสต่อระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ภายในกลุ่มทดลอง ก่อนกับหลังการทดลอง 3.เพื่อเปรียบเทียบผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลัง ประสาทสัมผัสต่อการจัดการตนเองของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง ชนิดไม่ทราบสาเหตุระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมหลังการทดลอง 4.เพื่อเปรียบเทียบผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลัง ประสาทสัมผัสต่อการจัดการตนเองของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ภายใน กลุ่มทดลอง ก่อนและหลงการทดลอง  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ที่มารับบริการที่คลินิกโรคความดันโลหิตสูงโรงพยาบาลห้วยเม็ก ตำบลห้วยเม็ก อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่¬เดือนเมษายน 2559 ถึง มิถุนายน 2559 จำนวน 70 ราย  
เครื่องมือ : สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ดังนี้ 1. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่ผู้ศึกษาได้มาจาก ชลการ ชายกุล (2557) 3) แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง ของกรมสุขภาพจิต 4) แบบบันทึกการติดตามผลการฝึกปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัสสำหรับกลุ่มทดลอง และ5) เครื่องวัดความดันโลหิต 2. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วย 1) สื่อนำเสนอประกอบภาพนิ่ง เรื่องการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัสและการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2) คู่มือการฝึกท่าการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส สำหรับผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง 3) ผู้ฝึกท่าการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส และ4) ผู้ช่วยการฝึกปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลองชนิด 2 กลุ่มเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง เพื่อศึกษาผลของการประยุกต์ใช้เทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัสต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการตนเอง ความเครียดและระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติสมาธิได้ทุกวัน โดยเลือกเวลาที่เหมาะสมในแต่ละวัน เวลาเช้า เที่ยงและเวลาเย็นของแต่ละบุคคล หลังการปฏิบัติมีความรู้สึกผ่อนคลายร่างกายและจิตใจคลายเครียด มีสมาธิ นอนหลับดีขึ้น และหลังการทดลอง ในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการจัดการตนเองโดยรวมและรายด้าน และค่าเฉลี่ยของคะแนนความเครียด ดีกว่าก่อนทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.05 และยังพบว่าระดับความดันโลหิตลดลงกว่าก่อนการทดลองและน้อยกว่ากลุ่มควบคุม  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะจากการศึกษา 1.ควรนำเทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส โดยการประยุกต์ใช้ ร่วมกับกิจกรรมให้คำปรึกษาคลายเครียดและทฤษฎีการจัดการตนเองเข้ามาเป็นทางเลือกใน การจัดการความเครียดรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ 2.จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการดูแลตนเองรายข้อหลังทดลอง พบว่า ยังมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับพอใช้ ในด้านการออกกำลังกายรายด้าน ได้แก่ ท่านเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย และภาวะสุขภาพของท่าน และพฤติกรรมการจัดการตนเองในด้านการจัดการความเครียดได้แก่ เมื่อท่านรู้สึกโกรธ หงุดหงิด กังวลใจ หรือเครียด ท่านสามารถควบคุม หรือผ่อนคลายได้ และเมื่อมีความเครียด ท่านผ่อนคลายโดยการนั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือไปวัด ซึ่งควรมีการจัดกิจกรรมการดูแลเรื่องการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย และภาวะสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงพัฒนาแนวทาง/กิจกรรมการให้คำปรึกษาวิธีการคลายความเครียดร่วมกับโปรแกรมเทคนิคการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป 1.ควรมีการขยายระยะเวลาการศึกษาให้นานขึ้นและมีการติดตามในระยะยาว เพื่อประเมินผลของการคงไว้ซึ่งพฤติกรรมการจัดการตนเอง ความเครียด และค่าระดับความดันโลหิต ทั้งนี้เพื่อประเมินความยั่งยืนของการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส 2.ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบความเครียด ค่าระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ปฏิบัติสมาธิโดยการปฏิบัติสมาธิออกกำลังประสาทสัมผัส กับการปฏิบัติสมาธิด้วยวิธีอื่นๆ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ