ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สมจิตร พรมแพนและคณะ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : จะเห็นได้ว่าปัจจุบันกลุ่มประชากรผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเคลื่อนเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พศ.2555-2559) ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีก 81.9 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการพัฒนาด้านสาธารณสุขและด้านการแพทย์ส่งผลให้อัตราตายลดลง ผู้สูงอายุจึงมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ผู้สูงอายุก็ได้รับผลกระทบจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามวัย เกิดการสูญเสียหน้าที่ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เกิดภาวะพึ่งพิงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย (การพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิตชุมชนที่ยั่งยืน.กรุงเทพมหานคร:2557) ข้อมูลสภาวะทุพพลภาพผู้สูงอายุไทยพบว่า 1ใน 4 ทุพพลภาพระยะยาวมากกว่า 6 เดือน ร้อยละ7 พึ่งพาผู้อื่นเมื่อปฏิบัติกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.5 พึ่งพาผู้อื่นเมื่อออกนอกบ้าน (คู่มือแนวทางการฝึกอบรมหลักสูตร Care manager กระทรวงสาธารณสุข .2558) จังหวัดกาฬสินธุ์ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2554-2556 จำนวนผู้สูงอายุ 106,628 คนคิดเป็นร้อยละ 10.89 ,111,426 คนคิดเป็นร้อยละ 11.43 และ 116,330 คนคิดเป็นร้อยละ 11.81ตามลำดับ ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด 127,618 คนคิดเป็นร้อยละ13.00 จะเห็นได้ว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น และจากการประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ในปี 2555 พบว่ามีผู้สูงอายุประเภทติดสังคม ร้อยละ 85 ประเภทติดบ้านร้อยละ 13 และประเภทติดเตียง ร้อยละ 2 (รายงานผู้สูงอายุสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์.2555) อำเภอร่องคำปี พศ.ปี 2555-2557 จำนวนผู้สูงอายุ 2,245 คน คิดเป็นร้อยละ13.22, 2,356 คน คิดเป็นร้อยละ 14.55 และ 2,622 คน คิดเป็นร้อยละ 15.30 ตามลำดับ ผลการประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ปี 2557 พบว่ามีผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ร้อยละ 90.49 กลุ่มติดบ้านร้อยละ 9.3 และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.21 จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุ ในประเทศไทย และจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอร่องคำ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนและเข้ามามีบทบาท ในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ (รายงานผู้สูงอายุอำเภอร่องคำ. 2557) ผู้วิจัยซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุข และเป็นทีมสหวิชาชีพในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพา ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและดูแลด้านสุขภาพ เพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มติดบ้านและติดเตียงโดยกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุอย่างมาก อีกทั้งผู้สูงอายุเองจะเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือและการนำไปปฏิบัติอย่างเต็มใจ ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน 2. เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงได้รับการประเมินศักยภาพและได้รับการดูแลตามสภาพปัญหา และความต้องการ มีระบบการดูแลต่อเนื่องในชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย :  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและ กลุ่มติดเตียง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ประชากร คือ ผู้สูงอายุตำบลร่องคำ จำนวน 1056 ราย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน 89 ราย ติดเตียง 2 ราย ระยะเวลาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2556 –กันยายน 2557 กระบวนการดำเนินงานมี 3 ขั้นตอนดังนี้ 1) ก่อนดำเนินการ แต่งตั้งคณะทำงาน ประชุมชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันค้นหาปัญหา วิเคราะห์ปัญหา วางแผนเพื่อหาแนวทางและกลวิธีในการดำเนินงาน จัดทำแผนปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วม 2) ขณะดำเนินการ จัดประชุมเพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีความรู้และทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ การให้บริการเชิงรุกโดยออกติดตามเยี่ยมบ้าน มีการส่งต่อผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการช่วยเหลือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายเพื่อได้รับการช่วยเหลือตรงกับความต้องการและตรงกับปัญหา 3) หลังดำเนินการประเมินผลและติดตามโดยใช้แบบประเมินการเยี่ยมบ้าน แบบประเมิน ADL และการสังเกต  
     
ผลการศึกษา : ผลการวิจัยหลังการดำเนินการพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียง มีความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดีขึ้น เกิดภาคีเครือข่ายและมีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน จำนวนผู้สูงอายุที่ติดบ้านได้รับการส่งต่อปัญหา และได้รับการแก้ไขปัญหาจำนวน 3 ราย โดยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและห้องน้ำให้มีความเหมาะ ปลอดภัย ผู้ป่วยกลุ่มติดเตียงได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพกลายเป็นกลุ่มติดบ้านจำนวน 1 ราย และผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงทุกคนได้รับการเยี่ยมบ้านได้รับการสอนและฝึกทักษะในการดูแลตนเองในชีวิตประจำ  
ข้อเสนอแนะ : 1.การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ส่งผลให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุและหน่วยงาน นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงในชุมชนให้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง 2.การติดตามเยี่ยมบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุและครอบครัวได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้านแบบองค์รวม ได้รับการแนะนำตามสภาวะปัญหาที่พบและเกิดความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล และความเอื้ออาทรในครอบครัวและชุมชน 3.การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ทำให้การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุเกิดความต่อเนื่อง และสามารถนำไปสู่การดำเนินงานที่มีความยั่งยืนต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ