ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การศึกษารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ
ผู้แต่ง : ชิษณุพงศ์ ดาด้วง และคณะ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : การป่วยด้วยโรคเบาหวาน สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุด คือจะมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนกับระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งมีอันตรายไม่น้อยกว่าโรคมะเร็งหรือโรคอื่น ๆ อีกทั้งการที่มีอายุมากขึ้น เพศที่ต่างกัน ร่างกายถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาวนาน ขาดการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้น เช่น ตับอ่อน ที่คอยทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพื่อทำหน้าที่เผาพลาญน้ำตาล ก็ลดประสิทธิภาพลงด้วยเช่นกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นิสัยส่วนบุคคล เป็นวิธีที่ถือว่าเป็นการการลดอุบัติการณ์ ความชุกของโรค และป้องกันความรุนแรงของโรคจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การมีความรู้ในการวางแผนในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดบริการให้ผู้ป่วยเบาหวานมีพฤติกรรมการปฏิบัติตัว เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน  
วัตถุประสงค์ : 1. ศึกษารูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน ตำบลโคกสมบูรณ์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน ต่อไป  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนามล ตำบลโคกสมบูรณ์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : เป็นแบบสอบถามซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 3 ระดับ ได้แก่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วยปานกลาง ไม่เห็นด้วย และ ปฏิบัติเป็นประจำ ปฏิบัติเป็นบางครั้ง ไม่ปฏิบัติ ประกอบด้วยคำถาม ด้านความรู้ ด้านการรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรง ด้านการรับรู้ประโยชน์และอุปสรรค และด้านการปฏิบัติในการดูแลตนเอง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : รูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ มีกิจกรรมดังนี้ คือ ๑ เก็บข้อมูลก่อนเข้าร่วมโครงการ - ข้อมูลทั่วไป - ความเชื่อด้านสุขภาพ - การปฏิบัติตัว - ระดับน้ำตาลในเลือด ๒ กิจกรรมครั้งที่ ๑ (สัปดาห์ที่ ๑) - บรรยายประกอบสื่อ สร้างการรับรู้โอกาสความเสี่ยงและความรุนแรงของอันตราย จากภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน ที่เกิดจากการที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ๓ กิจกรรมครั้งที่ ๒ (สัปดาห์ที่ ๒) - บรรยายประกอบสื่อ สร้างการรับรู้การรับรู้ประโยชน์ของการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โดยการฝึกปฏิบัติการออกกำลังกาย ฝึกปฏิบัติการดูแล การตรวจ การทำความสะอาด สมาธิบำบัด การบริโภคอาหาร - เก็บข้อมูลหลังร่วมกิจกรรมทันที -ความเชื่อด้านสุขภาพ ๔ เก็บข้อมูลระยะติดตาม (สัปดาห์ที่ ๔ ) - ความเชื่อด้านสุขภาพ - การปฏิบัติตัว - ระดับน้ำตาลในเลือด ๕ เก็บข้อมูลระยะติดตาม (สัปดาห์ที่ ๘) - ระดับน้ำตาลในเลือด  
     
ผลการศึกษา : ด้านความเชื่อด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อด้านสุขภาพมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.001) ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจากการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ การฉาย วีดีทัศน์ นำเสนอภาพนิ่ง ที่สื่อให้เห็นโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หากปฏิบัติตัวไม่ถูกวิธี ซึ่งจะนำมาถึงภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน การสื่อให้เห็นถึงความรุนแรงของโรค อันเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ด้านการปฏิบัติตัวเพื่อเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.001) ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจากการจัดกิจกรรมสาธิตและฝึกปฏิบัติ การดูแลเท้า การฝึกสมาธิ การออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียด การสาธิตเมนูเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ให้กลุ่มทดลองได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง ส่งผลให้มีพฤติกรรรมดูแลตนเองที่ถูกต้องมากขึ้น ด้านผลค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือด กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือด ดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.001) ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดจากการที่กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อว่าหากเกิดภาวะแทรกซ้อนกับตัวเองแล้ว อาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงกับตัวเองถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้ จึงนำไปสู่พฤติกรรมการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามคำแนะนำส่งผลให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ สรุปและข้อเสนอแนะ : สรุปผลการศึกษา : หลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อด้านสุขภาพ การปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน มากขึ้น และค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานได้จริง  
ข้อเสนอแนะ : 1. ควรมีการประยุกต์เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังอื่นๆ 2. เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีการศึกษาเพื่อการติดตามผล และประเมินผลความยั่งยืนของพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เพื่อนำผลการ ศึกษาไปพัฒนา ปรับปรุงใช้ต่อไป 3. ควรมีการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของระบบบริการสาธารณสุข และผู้ให้บริการ องค์กรท้องถิ่น และภาคประชาชน เพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยั่งยืนต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง