ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ประสิทธิผลของโปรแกรมสนทนาสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย เบาหวานชนิดที่ 2
ผู้แต่ง : คำแปลง ศรีซ้ง ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลต่อสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม จากการสำรวจภาวะสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 ปี 2552 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 ซึ่งผู้เป็นโรคควบคุมได้เพียงร้อยละ 28.5 และจากเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (ThaiMedRestNet) ปี 2555 พบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควบคุมได้ตามเกณฑ์ร้อยละ 33.4 มีภาวะแทรกซ้อนทางตาร้อยละ 8.4 ทางไตร้อยละ 18.7 และพบแผลที่เท้าร้อยละ 2.1 ถูกตัดนิ้วเท้า เท้าและขา ร้อยละ 0.3 โรคดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการจัดการความเครียด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา จากข้อมูลสถิติปี 2558–2561 มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน 2,389, 2,823, 2,910 และ 3,043 ราย ตามลำดับ และพบผู้ป่วยภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่พบมากอันดับ 1 คือภาวะแทรกซ้อนทางไต ร้อยละ 26.56 ภาวะแทรกซ้อนทางตาร้อยละ 4.0 และแผลที่เท้าร้อยละ 1.37 ซึ่งสวนใหญ่พบในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ จากการติดตามคุณภาพการดูแลผู้ป่วยพบว่าอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด(HbA1c)สูงขึ้นทุกปีแต่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน(เป้าหมาย ≥40) ผลงานปี 2559 -2561 พบร้อยละ 12.19, 15.13 และ 18.37 ตามลำดับ พบว่าการมีส่วนร่วมจากผู้ป่วยและครอบครัวยังมีน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึ่งพิงบริการ เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการจัดการตนเอง แต่เน้นการรักษาทางยา ซึ่งยังพบว่ามีการรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง การขาดนัด และพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชุมชน ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ต้องใช้แรงงานทุกวัน ส่งผลให้มีการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง บริโภคข้าวเหนียวจนอิ่ม การสูบบุหรี่และดื่มสุราหลังทำงาน จึงได้มีการพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้เทคนิคการสนทนาสร้างแรงจูงใจ(Motivation Interview) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  
วัตถุประสงค์ : เปรียบเทียบผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด(FPG และHbA1c)ของกลุ่มทดลองก่อนและหลังเข้โปรแกรม  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากร คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสมเด็จตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2560- ตุลาคม 2561 ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง(Purposive sampling) ที่มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ≥ 7 % ขึ้นไปจำนวน 52 ราย  
เครื่องมือ : 1. บุคลากรที่ผ่านการอบบรมมีทักษะการเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing skill) 2. แบบติดตามประเมินผล Motivation Interview ผู้ป่วยเบาหวาน 3. สมุดประจำตัวผู้ป่วย 4. เวชระเบียน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 6.1 กำหนดวันให้บริการวันจันทร์ อังคารและวันพฤหัสบดี 6.2 คัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการและมีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ≥ 7 % ขึ้นไป 6.3 จัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ 6.4 อธิบายวัตถุประสงค์ ให้คำปรึกษาโดยใช้ A1 : Affirm ขั้นตอนสร้างสัมพันธภาพ มี 2 กรณี -รูปแบบรายบุคคล ทักทายหรือพูดเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ และชื่นชม -รูปแบบรายกลุ่ม ทำกรณีผู้ป่วยมาพร้อมกัน ครั้งละ 5-7คน A2 : Ask ขั้นตอนใช้ตั้งคำถาม เป็นรายบุคคลเจาะหาสาเหตุ โดยใช้คำถามหลักที่ทำให้เขาคิดตาม และหาสาเหตุหรือวิธีการแก้ไขด้วยตนเอง A3 : Advice ขั้นตอนการให้คำแนะนำ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการเลือกทีจะปรับเปลี่ยน พฤติกรรมตนเอง หรือสามารถที่จะให้สัญญาใจกับตัวเองได้ว่าจะทำอะไร โดยใช้คำถามหลักนำ 6.5 ติดตามทุก 1 เดือนและประเมินผลระดับน้ำตาลในเลือดหลัง 6 เดือน  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสมเด็จ จำนวน 52 คน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ศึกษา พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด ร้อยละ 71 รองลงมาเป็นเพศชาย ร้อยละ 29 กลุ่มอายุมากกว่า 51- 60 ปี มีมากที่สุด ร้อยละ 39 รองลงมา 61-70 ปี ร้อยละ 37 ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน 5-10 ปี มากที่สุด ร้อยละ 50 รองลงมาเป็นเบาหวานมากกว่า 10 ปี ร้อยละ 36 วิธีการรักษาใช้ยารับประทานมากที่สุด ร้อยละ 48 รองลงมาใช้ ยาฉีดร่วมกับยารับประทาน ร้อยละ 42 ผลการวิเคราะห์จากการใช้เทคนิคการสนทนาสร้างแรงจูงใจ(Motivation Interview พบว่าหลังเข้าร่วมโครงการกลุ่มประชากรตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้มีระดับ HbA1c ลดลงจำนวน 42 ราย และ 12 รายมีระดับ HbA1c 7% ผู้ป่วย 10 ราย ระดับ HbA1c ไม่ลดลงเนื่องจากไม่ควบคุมอาหาร/คุมอาหารได้ไม่ต่อเนื่องจำนวน 5 ราย ใช้ยาไม่ต่อเนื่อง รับประทานยา ฉีดยาไม่ถูกต้อง 3 ราย ขาดนัด 2 ราย  
ข้อเสนอแนะ : การนำกระบวนการหรือเทคนิคใหม่ๆที่แตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ความเข้าใจทักษะ และการยอมรับของผู้ใช้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือและมีความต่อเนื่อง ซึ่งการใช้เทคนิคการสนทนาสร้างแรงจูงใจ เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการค้นหา ออกแบบวิธีในการจัดการตนเองอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเข้าใจและต่อเนื่องได้  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)