ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีกลุ่มเป้าหมายเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นพรัตน์ มณีกรรณ์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยจากสถิติ พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และมีแนวโน้มการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มะเร็งปากมดลูกมะเร็งเป็นที่พบมากที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเพศหญิงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดทำโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกรอบที่ 2 (ปี 2558-2562) ครอบคลุมสะสมในรอบ 5 ปีร้อยละ 80 จากผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า สตรีกลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสะสมต่ำกว่าเกณฑ์มาก คือ ครอบคลุมเพียงร้อยละ 54.3 ของทั้งจังหวัด และในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จก็พบอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน  
วัตถุประสงค์ : ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ เจตคติ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ กับการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมายเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : สตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปี ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ของเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างน้อย 1 ปี จำนวน 360 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : สอบถามความรู้ เจตคติ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ กับการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีกลุ่มเป้าหมายเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Pearson Chi-square Test  
     
ผลการศึกษา : สตรีกลุ่มเป้าหมายเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 45.83 (x ̅= 2.27, S.D.= .753) แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 83.06 (x ̅= 2.81, S.D.= .413) แรงสนับสนุนทางสังคมในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 58.61 (x ̅= 2.55, S.D.= .555) และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีกลุ่มเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ประวัติการสูบบุหรี่ และ แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก (p-value .010 และ .003) นอกนั้นไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  
ข้อเสนอแนะ : ควรสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเป้าหมายและบุคคลที่มีส่วนสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย เช่น สามี บุตร บุคคลในชุมชน ในประเด็นที่สำคัญและใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่องทุกปี ผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข บุคคลในชุมชน บุคคลในครอบครัว สื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น คำสำคัญ : ปัจจัยส่วนบุคคล / ความรู้ / แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ / แรงสนับสนุนทางสังคม / การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)