ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ประสิทธิผลของรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของแกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พัฒนา ธรรมประชา และคณะเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านขมิ้น ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : การสร้างเสริมสุขภาพชุมชนของบุคคลในชุมชนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพและคุณภาพที่ดีของคนในชุมชน และสังคมโดยส่วนรวม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ได้กำหนดให้คนไทยทุกคนได้รับโอกาสและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการรณรงค์การสร้างสุขภาพภายใต้กลยุทธ์ “รวมพลังสร้างสุขภาพ” รพ.สต.บ้านขมิ้น ร่วมกับผู้นำชุมชนบ้านขมิ้น และบุคลลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ในเขต ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดทำกลวิธี และได้กระจายกลวิธีดังกล่าวสู่การดำเนินงานของหน่วยงานระดับเครือข่ายสุขภาพทุกชุมชน พร้อมทั้งกำหนดให้มีวาระสุขภาพของชุมชนว่าด้วย การจัดการโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของชุมชน และการสร้างวิถีสุขภาวะแก่ประชาชนบ้านขมิ้น การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากชุมชน จึงได้มีการจัดตั้งแกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มสภาผู้นำชุมชน บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความเป็นเจ้าของในการดำเนินการสร้างสุขภาวะในชุมชน เพื่อเป็นการสนับสนุน อำนวยความสะดวก การมีส่วนร่วม ให้กับเครือข่ายสุขภาพทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้มีโอกาส ในการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพร่วมกัน อีกนัยหนึ่งคือมุ่งหวังให้เป็นเวที สกัดความรู้จากชุมชน สร้างบรรยากาศให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวบรวม สู่การเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชนต่อไปซึ่งในการดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของสมาชิกเครือข่ายยังไม่มีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีการดำเนินการแต่ยังขาดความต่อเนื่อง ไม่เป็นรูปธรรม ขาดงบประมาณในการดำเนินการ และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของแต่ละชมรม ไม่ครอบคลุมมิติของการส่งเสริมสุขภาพทุกมิติ ส่วนใหญ่มุ่งเน้น 3 มิติได้แก่ มิติการรับประทานอาหาร มิติการออกกำลังกายและการร่วมกิจกรรมพุทธศาสนา วันสำคัญ จากภาวการณ์และเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาปัญหาในชุมชน พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมและดูแลสุขภาพองค์รวมของชุมชน เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆที่จะตามมา ซึ่งสามารถป้องกันและช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้อง นำความรู้ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง นอกเหนือจากการพึ่งยาในการตรวจรักษาของแพทย์หรือทีมสุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรค ปัญหาการดำรงชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนให้ชุมชนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมทั้งสามารถลดปัญหาสาธารณสุขไปได้ส่วนหนึ่ง ต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการ ด้านกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชน บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบ กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชน บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : แกนนำสภาชุมชนบ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม การสนทนากลุ่ม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ดำเนินการวิจัย 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการ กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะนี้เป็นการสำรวจ สภาพปัญหาและความต้องการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนโดยใช้แนวทาง สนทนากลุ่มแกนนำสภาชุมชน ประชากรที่ศึกษา ประกอบ ด้วยแกนนำสภาชุมชน บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 45 คน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา เป็นแกนนำสภาชุมชนบ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 23 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง โดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) ระยะที่ 2 การพัฒนาและวางแผนจัดทำรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุข ภาพชุมชนของแกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ การวิจัยในขั้นตอนนี้ เป็นการพัฒนารูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของแกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชากรในการศึกษา เป็นกลุ่มพัฒนารูปแบบฯ ประกอบด้วย แกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบกิจกรรม สร้างเสริมสุขภาพและการประเมินผลการใช้รูปแบบ ที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทน  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของแกนนำสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บ้านขมิ้น ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้พิจารณาด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองของแกนนำสภาชุมชน โดยผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศ หญิง จำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 91.3 เพศชาย จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 1.7 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 39.1 สถานภาพสมรส จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 73.9 ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ส่วนใหญ่จบการศึกษาอยู่ในระดับ มัธยมศึกษา จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 52.2 มีอาชีพ เกษตรกร จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 69.6 มีรายได้ต่อเดือน น้อยกว่า 10,000 บาท จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 78.3 ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่าง ไม่มีโรคประจำตัว จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 82.6 และโดยส่วนใหญ่มีสมาชิกในครอบครัวหรือญาติสนิท ไม่มีโรคประจำตัว จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 60.9 ซึ่งส่วนใหญ่ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง เคย ตรวจสุขภาพประจำปี จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 60.4 การแสดงออกในเชิงการป้องกันและส่งเสริมด้านสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างจะเห็นได้ว่า พยายามหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆในการส่งเสริมและป้องกันโรค ทำให้ได้ผลการศึกษาด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของแกนนำสภาชุมชนอยู่ในระดับ สูงเช่นกัน สอดคล้องกับงานเขียนของ พันธุ์ทิพย์ (2540) กล่าวว่า พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง ปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่บุคคลแสดงออกมามีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม พฤติกรรมภายในมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมากล่าวคือบุคคลที่มีการตระหนักรู้ในระดับที่สูงแล้ว ซึ่งจัดเป็นพฤติกรรมภายใน ก็จะส่งผลต่อการแสดงออกซึ่งการกระทำ พฤติกรรมต่างๆที่เป็นไปในทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมภายในนั้นเอง ในทางสุขภาพก็เช่นกันถ้าบุคคลมีความเชื่อหรือการรับรู้ความสามารถของตนเองที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในทางที่ดีแล้วนั้น จะนำมาซึ่งการมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสมตามมา ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยงานเขียนของ Phongpiboon (2010) อธิบายว่าบุคคลมีการตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพ การมีวินัยในตนเอง ก็จะนำไปสู่การมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และการออกกำลังกายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทำให้ร่างกายแข็งแรงและสอดคล้องกับการศึกษาของ เพ็ญศรี พงษ์ประภาพันธ์ และคณะฯ (2553) ศึกษาการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมของผู้ป่วยเบาหวาน ในชุมชนวัดปุรณาวาส ผลการศึกษาพบว่า คะแนนรวมพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างหลังการทำกิจกรรมเพื่อกาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าก่อนการทำกิจกรรมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 ในส่วนของความสัมพันธ์กับองค์กร พบว่าระดับระดับสุขภาพจิตด้านความสัมพันธ์กับองค์กรของแกนนำสภาชุมชน มีค่าเฉลี่ยรวมของคะแนน อยู่ในระดับ สูงมาก โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 4.41 และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 0.71 ซึ่งเป็นผลมาจากการอบรมและการทำกิจกรรมร่วมกันมาตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ทั้งการออกกำลังกายและการเข้าร่วมการอบรมสุขภาพจิตตามรูปแบบกิจกรรมที่กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนุตชา ภิญโญภาพ (2547) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตในการทำงานกับความผูกพันต่อองค์กร กรณีศึกษาบริษัทขนส่งข้าวข้ามชาติแห่งหนึ่ง พบว่าความผูกพันต่อองค์กรโดยรวมอย่ในระดับปานกลาง ความผูกพันต่อองค์กรด้านความรู้สึกอยู่ในระดับปานกลาง ความผูกพันด้านนี้เป็นความรู้สึกผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร รู้สึกว่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จากการทำกิจกรรมต่างๆตามรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพและหลังจากปิดโครงการได้มีการแบบสอบถามความพึงพอใจ ซึ่งพบว่าระดับระดับความพึงพอใจในกิจกรรมของแกนนำสภาชุมชน มีค่าเฉลี่ยรวมของคะแนน อยู่ในระดับ ความพึงพอใจระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 4.74 และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 0.54 การอบรมเรื่องการเขียนโครงการเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยู่นรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพซึ่งได้มีการวัดคะแนนก่อน-หลังและใช้คะแนนเฉลี่ยความรู้ เรื่องการเขียนโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของแกนนำสภาชุมชน โดยใช้สถิติ ทดสอบ Pair t-test ในการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าคะแนนเฉลี่ยความรู้ เรื่องการเขียนโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของแกนนำสภาชุมชน สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องการดูแลสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (t= -4.542; p-value<0.001)เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยของ Jopang et al.(2015, p.2144) พบว่าภายหลัง อสม.ให้ความรู้ผู้เข้าร่วมวิจัยที่อยากจะมีบุตรในชุมชนร้อยละ 92.2 ตกลงที่จะรับการตรวจคัดกรอง นอกจากนั้นยังพบว่าทัศนคติที่มีต่อการป้องกัน และความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียที่ดีขึ้นกว่าก่อนเข้าอบรม และ Alam et al.(2015, p.1) พบว่าเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพในชุมชนและบุคลากรทางด้านสุขภาพเป็นบุคคลสำคัญที่จะให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ และความรู้ขณะตั้งครรภ์และการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก เช่นเดียวกันกับ Wulandari and Whelan (2011, p.867) ที่พบว่าตัวหญิงตั้งครรภ์เอง และบุคคลากรทางด้านสุขภาพมีบทบาทสำคัญต่อการให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำในระหว่างตั้งครรภ์ และส่งผลการต่อการปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ดังนั้นหากจัดการให้กลุ่มตัวอย่างได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับสื่อที่ดีก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการให้ความรู้ทั้งเรื่องการเขียนโครงการและการอบรมเกี่ยวกับการสุขภาพจิตแล้วนั้น ยังมีการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆโดยมีการวัด ก่อนและหลังได้รูปแบบกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีมวลกาย (BMI) ของแกนนำสภาชุมชนลดลง ก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องการดูแลสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (t= 4.706; p-value<0.001) การติดตามและวัดน้ำหนักของกลุ่มตัวอย่างโดยพบว่าค่าเฉลี่ยของน้ำหนักตัวของแกนนำสภาชุมชนลดลง ก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (t= 5.042 ; p-value<0.001) รวมไปถึงรอบเอวของกลุ่มตัวอย่างด้วย พบว่ามีค่าเฉลี่ยของรอบเอวของแกนนำสภาชุมชน ลดลง ก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องกาดูแลสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.033 (t= 2.270; p-value<0.05)ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ สุรพงษ์ โสธนะเสถียร (2533)กล่าวว่ากลุ่มตัวอย่างมีจุดประสงค์ในการออกกําลังกายและสามารถลดน้ำหนัก หรือเพื่อความสนุกสนาน จึงส่งผลให้ กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติที่ดีต่อการออกกําลังกาย เห็นได้จาก การออกกําลังกายสม่ำเสมอสามารถลด คลอเลสเตอรอลในเลือดได้การออกกําลังกายเป็นประจําทําให้หัวใจและปอดแข็งแรง และการออก กําลังกายสามารถ เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาได้ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าประสิทธิผลของโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวมที่สร้างขึ้น สามารถเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานได้ สอดคล้องกับแบบจำลองส่งเสริมสุขภาพของเพ็นเดอร์(2006) อธิบายไว้ว่า พฤติกรรมที่ดีที่สุดตัวหนึ่งคือ ความบ่อยของการปฏิบัติพฤติกรรมที่เหมือนคล้ายกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยพฤติกรรมที่เคยปฏิบัติในอดีตมีอิทธิพลโดยตรงต่อการปฏิบัติพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ เนื่องจากพฤติกรรมที่เคยปฏิบัติมานั้นได้กลายเป็นนิสัย (habit formation) และบุคคลปฏิบัติพฤติกรรมนั้นได้โดยอัตโนมัติโดยอาศัยความตั้งใจเพียงเล็กน้อยก็ปฏิบัติพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพได้และจากการศึกษาครั้งนี้เมื่อกลุ่มทดลองได้เข้าโปรแกรมและมีการแนะนำการปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพตนเองแล้วนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเกิดการปฏิบัติส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรมการส่งเสริมสุขภาพตนเองดีขึ้น มีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพดีขึ้น(Perder,N.J., 2006) ส่งผลให้ระดับค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติลดภาวะแทรกซ้อนได้ และยังสามารถลดน้ำหนักได้ด้วยและยังสอดคล้องกับการศึกษาของ Annesi, J. & Gorjala, S. ศึกษาความสัมพันธ์ของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการกำกับดูแลตนเองและการรับรู้ความสามารถของตนเองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออกกำลังกาย พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และค่าดัชนีมวลกาย ผลการทดลองพบว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออกกำลังกายและพฤติกรรมการรับประทานอาหารมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีมวลกาย R²=0.26(p < 0.001) และสอดคล้องกับการศึกษาของสุวภัทร คำโตนดและคณะศึกษาการประยุกต์ทฤษฎีความสามารถตนเองเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและกิจกรรมทางกายของสตรีที่มีภาวะอ้วนลงพุงโรงพยาบาลสามโก้จังหวัดอ่างทอง พบว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถตนเองความคาดหวังในผลดีของการปฏิบัติและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และกิจกรรมทางกายสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเส้นรอบเอวลดลงมากกว่าก่อนการทดลอง และลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต ค่าเฉลี่ยของรายจ่ายที่เกิดจากการซื้อผักในครอบครัวของแกนนำสภาชุมชนลดลง ก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องการดูแลสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .000 (t= 2.270; p-value<0.001) และค่าเฉลี่ยของจำนวนบ้านที่ปลูกผักอย่างน้อย 5 ชนิด ในกลุ่มของแกนนำสภาชุมชนเพิ่มขึ้นก่อนการใช้รูปแบบกิจกรรมเรื่องการดูแลสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .022 (t= -2.472; p-value<0.05) ที่เป็นผลมาจากกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนกินเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมในด้านการกินอยู่ด้วย  
ข้อเสนอแนะ : 1.การประยุกต์ใช้รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดโปรแกรมการให้สุขศึกษาเพื่อการลดน้ำหนัก มีประสิทธิผลทำให้กลุ่มทดลองสามารถลดน้ำหนักได้จริง แต่ควรมีการประยุกต์ใช้ร่วมกับการปรับกิจกรรมให้เหมาะสม ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่ทำการศึกษา 2.การใช้แบบสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยควรทำการสัมภาษณ์เองทั้งหมดเนื่องจากต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาของแบบสอบถามและประเมินกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมากควรพิจารณาเพิ่มเวลาและสัมภาษณ์ด้วยตัวผู้วิจัยเอง หรือเพิ่มบุคลากรและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างตรงกลุ่มเดิมเนื่องจากต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาของแบบสัมภาษณ์และประเมินกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.ผู้วิจัยควรเป็นตัวแบบในการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีและเห็นผลจริงพร้อมกับมีหลักฐานยืนยัน เช่นภาพก่อนลดน้ำหนักและภาพหลังการลดน้ำหนัก เป็นต้นเพื่อสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่น ในการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มตัวอย่าง 4.การมีสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวผู้วิจัยกับกลุ่มตัวอย่างและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จและความสุขของการวิจัยและอาจจะเป็นการจุดประกายให้เกิดการสานต่อกิจกรรม ในพื้นที่ได้ด้วย 5. ควรสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโครงการของบุคลากรในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อสร้างโอกาสในการขยายผลกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและการประชาสัมพันธ์เมื่อสิ้นสุดโครงการ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง