ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ประสิทธิผลการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำลดปวดสำหรับโรคลมปลายปัตฆาต ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ธนธร กานตอาภา, ดุษฎี มงคล, ขวัญชัย ศรีทารัตน์, ณัฐณิชา จงเจริญ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์โรคเรื้อรังอำเภอคำม่วง ปี 2562 พบว่าโรคเรื้อรัง (NCD)ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวาย เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังพบสาเหตุการตายของผู้ป่วยจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่าตายด้วยโรคไตวายเป็นลำดับที่ 3 จากฐานข้อมูลโรงพยาบาลคำม่วง มีผู้โรคเรื้อรัง จำนวน 8,308 คน เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 2,915 คน โรคความดันโลหิตสูงจำนวน 3,942 คน และผู้ป่วยโรคไตวาย ระยะ ที่ 1-4 จำนวน 1,451 คน,ระยะที่ 4-5 จำนวน 419 คน จากการวิเคราะห์ปัญหาภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มักจะพบปัญหาจากการทำงานส่วนใหญ่จะมีอาการปวดเกร็งของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ปวดบ่าไหล่ร้าวลงแขน ปวดต้นคอร้าวขึ้นศีรษะ ปวดหลังร้าวลงเอว หรือปวดสะโพกร้าวลงขาและยังมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าร่วมด้วย ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า myofacail pain syndrome และจะจ่ายยาจำพวกคลายกล้ามเนื้อกลุ่ม NSAIDs ให้ผู้ป่วย จึงเป็นเหตุที่ทำผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคตายวายเพิ่มขึ้นทุกปี[³] และเมื่อเทียบเคียงอาการของ โรค myofacail pain syndrome กับโรคทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่าโรคที่เกิดจากลม หรือโรคลมปลายปัตฆาต สามารถอธิบายได้โดยสรุปว่าเมื่อร่างกายอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆจะทำให้กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานมากเกินไปจนเกิดการหดเกร็ง กล่าวคือธาตุดินในร่างกายเริ่มเกิดการแข็งตัวขวางการเคลื่อนที่ของธาตุน้ำและธาตุลมทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวกส่งผลกระทบไปยังธาตุไฟในบริเวณดังกล่าวทำให้ผิวบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและธาตุน้ำซึ่งขาดธาตุลมที่ช่วยในการเคลื่อนไหวส่งผลทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการชาและท้ายที่สุดเมื่อธาตุดินขาดธาตุน้ำในการล่อเลี้ยงและมีธาตุลมในบริเวณนั้นมากเกินไปยิ่งส่งผลให้ธาตุดินแข็งตัวมากยิ่งขึ้นธาตุลมที่เคลื่อนไหวทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกค้างอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมากเกินไปหรือศัพท์ทางแพทย์แผนไทยเรียกว่า“ลมอั้น” จึงทำให้คนไข้มีอาการปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อส่วนนั้นร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เข้ามารับการรักษาอาการปวดจากโรคลมปลายปัตฆาตทีคลินิกแพทย์แผนไทย OPD คู่ขนาน โรงพยาบาลคำม่วง ปี 2561 มีจำนวน 356 คน แพทย์แผนไทยทำการรักษาโดยการ นวดบำบัด การประคบสมุนไพร การจ่ายยาสมุนไพรและจ่ายยาทาภายนอก[8] จากการทบทวนวรรณกรรมสมุนไพรกระดูกไก่ดำ พบว่า ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบฤทธิ์การแก้ปวด แก้อักเสบ ได้ดีพอๆกับยาต้านการอักเสบแผนปัจจุบันสารทีออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่ม Flavonoids คือ Vitexin และ Apigenin ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันกับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง Cyclooxygenase (COX) และ Lipoxygenase pathways ทำให้มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น Prostaglandins, Histamine, NO, iNOS, MMP-9, Prostaglandins และยังพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำยังออกฤทธิ์ที่ Opioid receptor ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับมอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์ลดปวดน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 2 - 5 เท่า[10] จึงเป็นแรงจูงใจ ให้ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะทำการศึกษาวิจัยสเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่ใช้ลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี มาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายต่อไปและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้ยั่งยืนสืบต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อวัดผลเปรียบเทียบก่อนและหลังการศึกษาผลการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ ลดอาการปวดสำหรับโรคลมปลายปัตฆาตในผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่มีอาการปวดจากโรคลมปลายปัตฆาต จำนวน 30 คน ซึ่งมีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ  
เครื่องมือ : - แบบสอบถาม - แบบวัดระดับความเจ็บปวด (Pain Scole) - แบบประเมินความพึ่งพอใจ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 4.1 ระยะเตรียมการ (Pre-Research Phase) 4.1.1 ประสานแพทย์และพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วย 4.1.2 ประชุมเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยในการดำเนินงาน ประเมินความเจ็บปวดและการทำหัตถการฉีดพ่นยาสเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ 4.1.3 สำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่าง 4.1.4 ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 4.1.5 จัดเตรียมสถานที่ 4.1.6 ชี้แจงวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม 4.2 ระยะดำเนินงานวิจัย (Research Phase) ในระยะดำเนินการวิจัยครั้งครั้งนี้ มีอาสาสมัคร จำนวน 30 คน กิจกรรมรายละเอียดในการดำเนินงานดังนี้ 1. เลือกกลุ่มเป้าหมาย 2. ทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 3. ทำการตรวจวินิจฉัยทางหัตถเวชโรคลมปลายปัตฆาต 4. ประเมินความเจ็บปวดก่อนและหลัง การทำหัตถการฉีดพ่นยาสเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ ประเมินผล 1 ชั่วโมงหลังการรักษาและติดตามประเมินซ้ำ 24 ชั่วโมง 4.3 ระยะหลังจากดำเนินงานวิจัย (Summative Evaluation Phase) ผู้วิจัยเก็บข้อมูลหลังการทดลอง โดยการใช้แบบสอบถามชุดเดิม ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไป แบบประเมินความเจ็บปวด แบบประเมินความพึงพอใจ สรุป สิ่งที่ได้จากการทำวิจัยในครั้งนี้ แก่ผู้ป่วยกลุ่มทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป  
     
ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา ทั้งหมด 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 25 คน คิดเป็น ร้อยละ 83.33 เพศชาย 5 คน คิดเป็นร้อยละ 16.67 อายุของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 70-75 ปี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 และกลุ่มอายุ 50-59 ปี จำนวน 10 คน ร้อยละ 33.33 รองลงมากลุ่มอายุ 40-49 ปีจำนวน 4 คน ร้อยละ 13.33 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษา ระดับประถมศึกษา จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 86.67 และรองลงมาคือระดับปริญญาตรี 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.67 พบว่าเป็น โรคเบาหวาน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 รองลงมาโรคความดันโลหิตสูง 14 คน คิดเป็น 46.67 และโรคไต 6 คน คิดเป็นร้อยละ 20.00 ทดสอบความแตกต่างพบว่า ก่อนใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ ระดับความเจ็บปวดเท่ากับ 8.13+0.23 และเมื่อได้รับสเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ ระดับความเจ็บปวดลดลงเท่ากับ 2.93+0.23 และเมื่อนำมาทดสอบด้วยสถิติทดสอบ พบว่า ค่าความเจ็บปวดก่อนและหลังการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติที่ p-value <0.05 โดยหลังการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ คะแนนความเจ็บปวดลดลง 5.2 คะแนน (95% CI = 4.86-5.53 ) การประเมินความพึงพอใจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างพึงพอใจในการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำในการลดปวด อยู่ที่ระดับมาก ร้อยละ 83.33 หลังการใช้สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำฉีดพ่นบริเวณผิวหนังไม่พบอาการแพ้ร้อยละ 100  
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการใช้ยากินแก้ปวดหันมาใช้ยาทาภายนอกโดยเฉพาะสเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ แทนเมื่อมีอาการเจ็บปวดก็จะทำให้ปลอดภัยและลดภาวะไตวายได้อีกทางหนึ่ง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)