ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : โปรแกรมคลินิกมินิ กับการจัดการสารสนเทศ เพื่อสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : วิชัย ผิวเงิน, นรินทร์ ชื่นชม ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : จากการดำเนินงานคลินิก NCD โรงพยาบาลคำม่วง พบว่าร้อยละของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี (HbA1c<7 ) ตามตัวชี้วัดผลลัพธ์บริการ NCDClinicPlus ปี 2562 ต้องมีเกณฑ์เป้าหมายมากกว่าหรือเท่ากับ 40 % ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ในปีงบประมาณ 2559, 2560, 2561 และ 2562 (ข้อมูลจาก HDC วันที่ 30 มิถุนายน 2562) พบว่า ร้อยละของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี มีผลลัพธ์เท่ากับร้อยละ 8.61, 16.74, 26.02 และ 23.16 ตามลำดับ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ในการดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปรับขนาดยา ผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลจะใช้ค่า FBS (Fasting Blood Sugar) ในการติดตามระดับน้ำตาลผู้ป่วย เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของมูลค่าการตรวจ HbA1c โดยจะจัดกลุ่มตามเกณฑ์ปิงปองจราจรเพื่อช่วยในการดูแล จากการวิเคราะห์ข้อมูลเวชระเบียน พบว่า ข้อมูล HbA1c กับ FBS บางส่วนไม่สัมพันธ์กันส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแลรักษาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถทบทวนเวชระเบียนได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องใช้สารสนเทศเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์และจัดกลุ่มผู้ป่วย ในกลุ่มที่มี ผล HbA1c ไม่สัมพันธ์กับ FBS และเพื่อเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง Hypoglycemia, กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับขนาดยา นำไปสู่การวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มากขึ้น ผู้ศึกษาจึงได้พัฒนาโปรแกรมคลินิกมินิที่วิเคราะห์ และจัดการสารสนเทศเพื่อสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  
วัตถุประสงค์ : พัฒนาโปรแกรมคลินิกมินิที่วิเคราะห์ และจัดการสารสนเทศเพื่อสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการตรวจ HbA1c และ FBS ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลคำม่วง  
เครื่องมือ : โปรแกรมคลินิก มินิ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษานี้เป็นการศึกษาข้อมูลในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการตรวจ HbA1c และ FBS ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลคำม่วง โดยนำข้อมูลที่ได้มากำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์ ในการจัดกลุ่มผู้ป่วย ร่วมกับทีมผู้รับผิดชอบงาน NCD แล้วพัฒนาโปรแกรมคลินิก มินิ เพื่อส่งต่อและง่ายต่อการบริหารจัดการสารสนเทศผู้ป่วยโรคเรื้อรังดังนี้ 1. จัดแบ่งกลุ่มผู้ป่วยโดยใช้ผลHbA1c(ครั้งล่าสุด)แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่ม Control ( 1 ) ผู้ป่วยมีค่า HbA1c <7.0 mg% 2. กลุ่ม Uncontrolled ( 2 ) ผู้ป่วยมีค่า HbA1c 7.0-9.9 mg% 3. กลุ่ม PoorControl ( 3 ) ผู้ป่วยมีค่า HbA1c ≥10.0 mg% 2. จัดกลุ่มผู้ป่วยโดยใช้ผล FBS(ครั้งล่าสุดในแต่ละเดือน)ตามปิงปองจราจรแบ่งออกเป็น 4 สี 5 กลุ่ม 1. กลุ่มสีเขียวผู้ป่วยมีค่า FBS เท่ากับ 80-125 mg/dl 2. กลุ่มสีเหลืองผู้ป่วยมีค่า FBS เท่ากับ126-154 mg/dl 3. กลุ่มสีส้มผู้ป่วยมีค่า FBS เท่ากับ155-182mg/dl 4. กลุ่มสีแดงผู้ป่วยมีค่า FBS มากกว่าหรือเท่ากับ183 mg/dl 5. กลุ่มสีแดงผู้ป่วยมีค่า FBS น้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 mg/dl แบ่งกลุ่ม HbA1c และ FBSตามเงื่อนไข ด้วยชุดคำสั่งSQL แล้วประมวลผลข้อมูลที่ได้ เพื่อแยกกลุ่มตามเงื่อนไขรายงานสรุปความสัมพันธ์ระหว่าง HbA1c และ FBS  
     
ผลการศึกษา : จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในกลุ่ม Control (F) พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะเสี่ยงต่อ Hypoglycemia เนื่องจากมีพฤติกรรมการรับประทานน้ำหวาน เพื่อปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้น ก่อนมารับบริการ จึงทำให้ FBS มีค่าเกินเกณฑ์ ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณยาที่มากเกินไป ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับลดขนาดยาให้เหมาะกับร่างกาย ผู้ป่วยในกลุ่มUnControl (F) และ PoorControl (F) เป็นผู้ป่วยที่มีผลการตรวจ HbA1c กับ FBS ไม่สัมพันธ์กัน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมการควบคุมการรับประทานอาหารระยะสั้น ช่วงก่อนการมารับบริการ มีทัศนะคติที่ไม่อยากมารับบริการที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่ได้รับการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับร่างกาย หากกลุ่มนี้ ได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัว อย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนขนาดยาตามความเหมาะสม จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในกลุ่ม Control (T) ได้มากขึ้น  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง