ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชน ในอำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : อนุวัตน์ เพ็งพุฒ, ดุลศักดิ์ เทพขันธ์ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยที่อัตราการเสียชีวิตเกินกว่าครึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีนั้นเป็นประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอนามนมีอัตราที่มีความชุกของการติดเชื้อโรคพยาธิสูง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ การติดพยาธิใบไม้ตับ จากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบๆ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับซ้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนในอำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่ได้รับการตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับด้วยวิธี Kato thick smear และได้รับการให้สุขศึกษาพร้อมการรักษาด้วยยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) ในโครงการรณรงค์คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ประจำปี พ.ศ. 2558 และเข้ารับการตรวจซ้ำในโครงการรณรงค์คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ประจำปี พ.ศ. 2559 จำนวน 423 คน ในเขตตำบลหลักเหลี่ยม และตำบลสงเปลือย อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ คำนวณขนาดตัวอย่างกรณีใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจิสติก ได้ขนาดตัวอย่าง ดังนี้ กลุ่มศึกษา คือ ผู้ที่มีการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 136 คน กลุ่มควบคุม คือ ผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อซ้ำของพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 136 คน รวมทั้งหมด 272 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถามปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชน ในอำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ทำการสุ่มตัวอย่างจากทะเบียนผู้เข้ารับการตรวจพยาธิใบไม้ตับด้วยตารางเลขสุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างโดยตรง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจิสติก วิเคราะห์หาโมเดลที่ดีที่สุดด้วยวิธีขจัดออกทีละตัวแปร กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นำเสนอขนาดความสัมพันธ์ด้วย Adjusted odds ratio (ORadj) และค่าช่วงความเชื่อมั่น 95%  
     
ผลการศึกษา : พบว่า การได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การรับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับครอบครัว และการรับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน มีความสัมพันธ์กับต่อการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับ อย่างมีนัยสำคัญทางด้านสถิติที่ระดับ 0.05 โดยผู้ที่ไม่ได้รับข่าวสารความรู้เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีโอกาสติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำ เป็น 4.6 เท่า ของผู้ที่ได้รับข่าวสารความรู้เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (ORadj =4.16, 95% CI=1.28, 16.51 p=0.019,) ส่วนผู้ที่เคยรับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับครอบครัวจะมีโอกาสติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำ เป็น 1.9 เท่าผู้ที่ไม่รับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับครอบครัว (ORadj =1.9 95% CI=1.15, 3.15) และผู้ที่เคยรับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับเพื่อนบ้านในระแวกเดียวกันมีโอกาสต่อการติดเชื้อซ้ำของโรคพยาธิใบไม้ตับ เป็น 2.6 เท่า ของผู้ไม่เคยรับประทานก้อยปลาดิบร่วมกับเพื่อนบ้านในระแวกเดียวกัน (95% CI=1.55, 4.36)  
ข้อเสนอแนะ : การให้สุขศึกษาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมที่ดี การดำเนินงานต้องมีความต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน เพื่อให้เป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้ประชาชนกลับมาติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำอีกครั้ง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)