ประเภทบทความ/งานวิจัย : เรื่องเล่า สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : เปิงบ้าน กับความเชื่อ ความเข้าใจ ในระยะสุดท้ายของชีวิต
ผู้แต่ง : พวงเพชร เพชรโทน, นงลักษณ์ คำแสน ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ดิฉันเป็นพยาบาล ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคลินิกกัลยาณสุข ซึ่งเป็นคลินิกดูแลผู้ป่วยประคับประคองหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในทุกวันดิฉันจะปฏิบัติหน้าที่ประจำที่หอผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยที่คับคั่งแน่นขนัดไปด้วยผู้ป่วย ในโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทุกๆ วันมีญาติและเจ้าหน้าที่พลุกพล่าน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง ดิฉันมองผ่านกระจกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยและสังเกตความเป็นไปในหอผู้ป่วยแห่งนี้ทุกวัน เมื่อมองไปยังผู้ป่วยหญิงเตียง 2 ที่นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง มีคุณลุงท่านหนึ่งซึ่งเป็นสามีของคุณป้าที่เฝ้ามองดูอยู่ข้างเตียงตลอดเวลาด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง คอยเปลี่ยนเสื้อผ้า คอยเช็ดตัวให้ผู้ป่วยด้วยความใส่ใจ และทุกวันที่แพทย์มาตรวจ คุณลุงจะมีน้ำตาซึมตลอดเวลา จนกระทั่งแพทย์เจ้าของไข้แจ้งกับดิฉันว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว และได้คุยกับญาติ ญาติไม่ต้องการให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ต้องช่วยฟื้นคืนชีพและไม่ต้องส่งต่อ เขาอยากไปเสียชีวิตที่บ้าน 5 นาทีต่อมา ดิฉันเห็นคุณลุงยืนอยู่ข้างเตียงจึงเข้าไปทักทายและประเมินการรับรู้ข้อมูลของคุณลุง “คุณลุงคะ ไม่ทราบว่าคุณหมอได้ให้ข้อมูลกับคุณลุงว่าคุณป้าเป็นโรคอะไรคะ” คุณลุงตอบกลับมาว่า “นี่แหละครับที่ผมอยากทราบ เมียผมเป็นโรคอีหยังกันแน่ครับ บอกผมมาตรงๆ โลดคุณหมอ ถ้าเป็นหลายบ่เซา ผมจะพาเมียผมกลับบ้าน” ทันทีที่เสียงคุณลุงจบลง ดิฉันจึงได้ทราบว่าจริงๆ แล้วคุณลุงยังไม่ทราบคุณป้าเป็นโรคอะไรเลย ดิฉันจึงได้วางแผนปรึกษาหารือการดูแลคุณป้ากับทีมงานคลินิกกัลยาณสุข โดยการทำ Family meeting เพื่อจะได้ให้ข้อมูลแก่คุณลุงและครอบครัวต่อไป ในการทำ Family meeting ในครั้งนั้นมี แม่ พี่ชาย สามี และลูกสาวคนเดียวของคุณป้า เข้ามานั่งพร้อมหน้ากันและทีมคลินิกกัลยาณสุข หลังจากมีการทักทายกันเล็กน้อย คุณหมอเริ่มให้ข้อมูลเรื่องโรคที่คุณป้ามีภาวะเลือดออกในกระโลกศีรษะ เคยได้รับการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดอีก ถึงจุดนี้คุณลุงน้ำตาซึม พร้อมพูดขึ้นว่า “ผมไม่ยอมให้ภรรยาของผมได้รับการผ่าตัดอีกเด็ดขาด ผมไม่ยอมให้ภรรยาของผมใส่ท่อช่วยหายใจตลอดเวลา” คุณป้ายังมีปัญหาของเรื่องไข้ เสมหะมาก คุณหมอสงสัยว่าอาจติดเชื้อดื้อยา และรอผลเพาะเชื้ออีกประมาณ 3 วัน ความจริง คุณป้าต้องได้รับอาหารเหลวทางสายยางแต่คุณป้ารับอาหารไม่ได้ จึงทานได้แต่น้ำหวาน และยังมีแผลกดทับด้วย คุณป้าไม่สามารถพูดคุยสื่อสารได้ ทำได้เพียงการกระพริบตา คุณป้าหายใจลำบากต้องคอยดูดเสมหะออกบ่อยๆ ก่อนหน้านี้คุณลุงได้เก็บเงินซื้อที่นอนลมและเครื่องดูดเสมหะเพื่อดูแลคุณป้า ด้วยปัญหามากหมายคุณหมอได้ถามคุณลุงว่าถ้าผู้ป่วยซึมลง มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะอีกจะทำอย่างไร คุณลุงตอบว่า “ผมสงสารภรรยาครับ ไม่อยากให้คนไข้ผ่าตัดอีก ไม่อยากให้ใส่ท่อช่วยหายใจ เห็นแล้วก็ทรมาน” สมาชิกในครอบครัวทุกคนเห็นด้วยกับคุณลุง คุณหมอแจ้งว่าต้องรอผลเพาะเชื้ออีก 3 วัน คุณลุงพูดแทรกขึ้นมาว่า “ต้องรออีกเหรอครับคุณหมอ” ดิฉันเองก็แปลกใจ ทั้งทีคุณลุงท่าทางรักคุณป้ามาก แต่ทำไมจึงอยากพาคุณป้ากลับบ้าน ด้วยความสงสัย ดิฉันจึงได้ถามไปว่า “คุณลุงทำไมถึงอยากพาคุณป้ากลับบ้านเร็วจังคะ รอให้คุณหมอดูเรื่องไข้ให้ก่อนดีไหมคะ” หลังสิ้นคำถามดิฉัน คุณลุงร้องไห้ออกมาอย่างสะอึกสะอื้นโดยไม่อายใครๆ “ผมไม่ว่าคุณหมอ คุณหมอจะทำอะไรก็ได้ แต่คุณหมอต้องช่วยให้ผมพาภรรยาผมกลับบ้านให้ได้ อย่าให้ภรรยาผมเข้าบ้านไม่ได้” ด้วยความสงสัยดิฉันจึงถามไปว่า “ทำไมละคะ ทำไมถึงเข้าบ้านไม่ได้คะ” คุณลุงตอบกลับมาทั้งน้ำตาว่า “เปิงบ้านผม คนตายข้างนอก ไม่ให้เอาศพเข้าหมู่บ้านครับ ผมกลัวเหลือเกินถ้าใกล้ๆ จะเสียชีวิต คุณหมอต้องรีบบอกผมนะครับ ผมจะรีบนำภรรยากลับบ้านให้ทันครับ ผมไม่หวังอะไร นอกจากภรรยาผมจะได้กลับบ้านครับคุณหมอ” ผลเพาะเชื้อของคุณป้าพบเชื้อดื้อยาหลายชนิด ทางโรงพยาบาลได้ทำตามหลักป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยได้แยกผู้ป่วยในห้องแยกโรค คุณลุงและญาติๆ ได้เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันการติดเชื้อด้วยความตั้งใจ คุณลุงได้แจ้งว่าคุณลุงพร้อมที่จะนำคุณป้ากลับบ้านแล้ว คุณหมอได้อธิบายว่าคุณป้าอาจต้องอยู่ต่ออีกประมาณ 1 สัปดาห์หรือส่งต่อ เมื่อคุณหมอพูดจบ สีหน้าคุณลุงครุ่นคิด และแจ้งแก่คุณหมอว่า “ผมไม่ไปครับคุณหมอ ผมอยากอยู่ที่นี่ ผมไม่อยากให้ภรรยาผมต้องเจออะไรที่ทุกข์ทรมานอีกแล้ว” คุณหมอจึงขอดูเรื่องไข้ของคุณป้าก่อน หากไม่มีไข้อาจให้กลับบ้านได้ วันรุ่งขึ้น คุณป้าความดันโลหิตต่ำอยู่ในภาวะช็อก ดิฉันรีบรายงานแพทย์ด้วยสัญญาใจที่ว่า คุณป้าต้องได้กลับบ้านก่อนเสียชีวิต แพทย์อนุญาตให้คุณป้ากลับบ้านได้ โดยให้รถพยาบาลไปส่งที่บ้าน ดิฉันและทีมคลินิกกัลยาณสุขได้ไปเยี่ยมคุณป้าที่บ้านในวัดถัดไป พร้อมกับเจ้าหน้าที่รพ.สต.และพระสงฆ์ 2 รูป ครอบครัวของคุณลุงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี คุณหมอได้ประเมินคนไข้ พยาบาลได้ให้การพยาบาลแก่คุณป้า พบว่าคุณป้าอาการทรงตัว คุณยายแม่ของคุณป้าแสดงความดีใจเป็นอย่างมาก เพราะด้วยความยากจน ครอบครัวไม่มีที่ทำกิน บ้านทรุดโทรม ไม่มีโอกาสเลยที่จะได้ไปวัดทำบุญเหมือนคนอื่นๆ แต่ทางทีมคลินิกกัลยาณสุขมาเยี่ยมและพาพระสงฆ์มาโปรดถึงที่บ้าน เมื่อพูดถึงจุดนี้คุณยายได้ชี้ให้ดูเสื่อกกที่คุณป้าทอด้วยความชำนาญ เสื่อกกสวยงาม มีความประณีต คุณยายบอกว่าคุณป้าทอเสื่อได้ดี นี่เป็นสิ่งของที่มีค่าที่สุดที่ทางครอบครัวอยากร่วมทำบุญถวายแก่พระสงฆ์และมอบให้ทางโรงพยาบาล พวกเราทุกคนฟังด้วยความตื้นตันใจ ขณะที่อีกด้านหนึ่งของบ้าน เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในการซักล้างเสื้อผ้าผู้ป่วย และได้สังเกตเห็นว่ามีต้นพริกที่ออกดอกเต็มต้น จึงได้แนะนำให้คุณลุงถอนออก เพราะเกรงว่าจะมีใครเอาพริกที่โดนน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อดื้อยาไปรับประทาน ทันใดนั้นคุณลุงร้องไห้ พร้อมกับพูดว่า “ผมขอเก็บต้นพริกต้นนี้ไว้ได้ไหม ผมสัญญาว่าจะไม่ให้ใครเอาพริกไปกิน ต้นพริกต้นนี้ภรรยาผมปลูก ผมอยากเก็บไว้ดูต่างหน้า ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว” ดิฉันนิ่งไปชั่วขณะ และบอกให้คุณลุงเก็บต้นพริกไว้ได้ คุณลุงมีสีหน้าดีขึ้นเมื่อได้รับคำอนุญาตให้ดูแลต้นพริกนี้ต่อไปได้ อีกไม่กี่วันต่อมา คุณป้าได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ดิฉันและทีมคลินิกกัลยาณสุขได้ไปร่วมแสดงความเสียใจในการจากไปของคุณป้า หลังจากนั้นคุณลุงและญาติๆ ได้นำเสื่อกกฝีมือของคุณป้าหลายผืนมาขอมอบให้โรงพยาบาลและวัดเพื่อทำบุญตามที่ได้ตั้งใจไว้ ดูสีหน้าทุกคนคลายทุกข์ เพราะได้ทำในสิ่งที่เชื่อว่าดีที่สุดแก่คุณป้าในวาระสุดท้าย คุณป้าได้กลับบ้านอย่างที่ทุกคนและคุณป้าหวังไว้ ได้ทำตามเปิงบ้านที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเข้าใจ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แต่ช่วงเวลาสั้นๆ จะเป็นที่จดจำไปตลอดกาลของทุกคนในครอบครัวของคุณป้า รวมถึงดิฉันที่ได้ทำให้ความหวังเล็กๆ ของคุณลุงคุณป้าเป็นจริง ขอขอบคุณคุณหมอ ทีมคลินิกกัลยาณสุขทุกคนที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ ถึงแม้เราจะเปลี่ยนแปลงประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมไม่ได้ แต่เราก็สามารถช่วยให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตและครอบครัวสามารถก้าวข้ามปัญหาที่ค้างคาใจของพวกเขาไปได้ด้วยความเข้าใจ.......ขอบคุณทีมคลินิกกัลยาณสุขทุกคนจริงๆค่ะ  
วัตถุประสงค์ :  
กลุ่มเป้าหมาย :  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ :  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนนำเสนอระดับเขตได้รางวัลรองชนะเลิศ ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง