ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาระบบการให้บริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ชนิด Warfarin โรงพยาบาลห้วยผึ้ง ปีงบประมาณ 2562
ผู้แต่ง : ณัชพล ปัตลา และคณะ ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ได้รับการพิสูจน์มาอย่างยาวนานถึงประโยชน์ในการรักษาและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในภาวะต่างๆ เช่น Atrial Fibrillation, Venous Thromboembolism, Valvular Heart Disease, Prosthetic Heart Valve โดยยา warfarin เป็นยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ ( Narrow therapeutic index ) มีเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ที่ซับซ้อน ขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายจึงแตกต่างกัน นอกจากนี้ warfarin เป็นยาที่มีความเสี่ยงสูง (High Alert Drug) หากโรงพยาบาลหรือระบบไม่เอื้อหรือไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องใช้ยานี้ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมความเสี่ยงจากการใช้ยาให้มีมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงจากโรคหรือตัวผู้ป่วย ความเสี่ยงจากยา และความเสี่ยงจากระบบบริการ ซึ่งง่ายต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ดังนั้นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา Warfarin จำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือด เพื่อควบคุมค่า PT/INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ และค่านี้สามารถใช้ประเมินความต่อเนื่องหรือความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยได้ ฝ่ายเภสัชกรรมจึงเห็นความสำคัญของผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin จึงพัฒนาจัดตั้ง Warfarin Clinic เพื่อบริบาลผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการรักษาด้วยยา warfarin ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานเริ่มจากการประชุมจัดตั้งทีมสหวิชาชีพผู้เกี่ยวข้องที่จะเริ่มในการจัดตั้งคลินิก วางแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษากับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา warfarin 2. เพื่อสร้างระบบในการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยา warfarin ในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ 3. เพื่อสนับสนุนนโยบายของโรงพยาบาลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ยากลุ่มความเสี่ยงสูง (High Alert Drugs)  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยทีมารับบริการในโรงพยาบาลห้วยผึ้งที่รับยาวาร์ฟารินจำนวน 39 ราย  
เครื่องมือ : แบบบันทึก warfarin clinic  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ขอบเขตการบริบาล: การบริบาลมาตรฐาน ณ จุดจ่ายยาผู้ป่วยนอก 1.1 เมื่อได้ผล PT/INR พยาบาลผู้ป่วยนอก ณ จุดซักประวัติส่งผู้ป่วยพบเภสัชกร ประเมินผล INR ตรวจสอบประวัติการใช้ยา ค้นหาปัญหา เช่น drug interactions หรือ medication error 1.2 บันทึกข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติลงในแบบบันทึก warfarin clinic ส่งผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ 1.3 จ่ายยา พร้อมให้คำแนะนำและทบทวนการรับประทานยาอีกครั้งแก่ผู้ป่วย 2. .ขอบเขตการบริบาล: การบริบาลมาตรฐาน ผู้ป่วยใน 2.1 ผู้ป่วยที่ได้ใช้ยา warfarin เป็นครั้งแรก หลังจ่ายผู้ป่วยถูกจำหน่ายกลับบ้าน ให้คำแนะนำด้านยาสำหรับผู้ป่วยใน ตาม Check lists ในแบบฟอร์ม Patient Education ที่ได้จัดทำขึ้นผู้ป่วยทุกรายจะได้คำแนะนำในการใช้ยา warfarin และปฏิบัติตนไปในทางเดียวกัน  
     
ผลการศึกษา : จากการเก็บข้อมูล จำนวนผู้ป่วยที่รับประทานยา Warfarin โรงพยาบาลห้วยผึ้ง (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) มีจำนวนทั้งหมด 39 ราย เป็นชาย 24 ราย (61.54%) และเพศหญิง 15 ราย (38.46%) ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย Atrial Fibrillation (AF) เป็นโรคที่เป็นข้อบ่งใช้ในการใช้ยา Warfarin มากที่สุด จำนวน 26 ราย(66.67%) โรค Deep vein thrombosis และ Pulmonary embolism จำนวน 7 ราย (17.95%) และโรคลิ้นหัวใจ (รวมการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ) 6 ราย (15.38%) โดยระดับ INR ที่อยู่ในช่วงการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแบ่งได้เป็น 2.0 - 3.0 36 ราย และ2.5 – 3.5 3 ราย ในด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมพบว่า ผู้ป่วยรับประทานยาได้อย่างทุกต้องตามแพทย์สั่งจำนวน 93 ครั้ง จากการให้คำแนะนำจากเภสัชกรที่ผ่าน Warfarin clinic ทั้งหมด 102 ครั้ง (91.18 %) และมีผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่ถูกต้องจำนวน 9 ครั้ง (8.82 %) โดยในจำนวน 9 ครั้ง มีผู้ป่วยลืมรับประทานยาบางวัน 4 ครั้ง และผู้ป่วยรับประทานยาผิดจำนวน 5 ครั้ง ในส่วนของการมาตามนัด ตามการในเดือนนั้นๆ ของผู้ป่วย พบว่าตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562 ผู้ป่วยมาตามนัด ≥ 80% ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจในการดูแลตนเองและตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาโรคของตนเอง และจากการดำเนินงานคลินิกในช่วงเวลาดังกล่าว เภสัชกรได้มี intervention แพทย์ในการปรับขนาดยา Warfarin 102 ครั้ง พบว่า แพทย์เห็นชอบกับการปรับยา warfarin โดยเภสัชกร 86 ครั้ง (84.31%)  
ข้อเสนอแนะ : การดำเนินงานการพัฒนาระบบการให้บริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ชนิด Warfarin โรงพยาบาลห้วยผึ้ง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น สร้างการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพ ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดในการพัฒนา เช่น การสร้างระบบการบันทึกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูล drug interaction ของยากับผัก ผลไม้พื้นบ้าน ซึ่งข้อมูลยังน้อย จึงต้องมีแนวทางในการพัฒนาต่อไป ความภาคภูมิใจ การดำเนินงานการพัฒนาระบบการให้บริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ชนิด Warfarin โรงพยาบาลห้วยผึ้ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ นับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่นำมาซึ่งความภูมิใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)