|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : ภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
นางอดิศร อุดรทักษ์, นางสาววนิดา ใจอ่อน, นายชัยสิทธิ์ พลกล้า |
ปี : 2563 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
ในประเทศไทย แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ปี 2560 มีจำนวน 20.8 ล้านคน และปี 2561 21.2 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบ
ร้อยละ 55.5 ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคการบริการและการค้า ร้อยละ 33.2 และภาคการผลิตร้อยละ 11.3 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึงปัญหาของแรงงานนอกระบบ ปี 2561 พบว่า เป็นผู้มีปัญหาจำนวน 6.7 ล้านคน หรือร้อยละ 31.6 ของแรงงานทั้งหมด โดยมีปัญหาจากการทำงาน ร้อยละ 73.1 จากสภาพแวดล้อมการทำงานร้อยละ 46.3 และความไม่ปลอดภัยในการทำงานร้อยละ 40.3 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) ในด้านอาชีวอนามัย มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุชัดถึงปัญหาด้านอาชีวอนามัยของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะ สภาพการทำงานที่เป็นอันตราย (ชวพรพรรณ จันทร์ประสิทธิ์,
ธานี แก้วธรรมานุกูล, วันเพ็ญ ทรงคำ และธาดาทิพย์ เจริญทรัพย์,2553) กลุ่มแรงงานนอกระบบจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งนี้เพราะขาดความคุ้มครองด้านสุขภาพ เข้าไม่ถึงระบบบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามกฏหมายบังคับที่เอื้อเฉพาะงานในระบบ (ชวพรพรรณ จันทร์ประสิทธิ์, ธานี แก้วธรรมานุกูล, วันเพ็ญ ทรงคำ และธาดาทิพย์ เจริญทรัพย์, 2553)
ภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงานหมายถึง การเจ็บป่วยและบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน สัมผัสปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมการทำงาน และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Roger, 2003) การทำความเข้าใจภาวะสุขภาพตามความเสี่ยง ทั้งในระดับบุคคลและกลุ่ม นำไปสู่การจัดทำโปรแกรมสร้างความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มคนทำงาน (O’Donnel, 2002) การประเมินภาวะสุขภาพตามความเสี่ยง เป็นการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตามปัจจัยอันตรายที่เกี่ยวข้องของแต่ละบุคคล (Centers for Disease Control and Prevention, 2012) สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงโดยเฉพาะ การประเมินสุขภาพคนทำงานนั้น โพเวล (Powell as cited in Rogers, 2003) มีข้อเสนอแนะว่า ควรประเมินสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง 8 องค์ประกอบ คือ การทำหน้าที่ด้านร่างกาย บทบาททางกาย ความเจ็บปวดของร่างกาย สุขภาพทั่วไป ความมีพลัง หน้าที่ทางสังคม บทบาททางอารมณ์ และสุขภาพจิตของคนทำงาน ร่วมกับประเมินภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงในการทำงาน (health risk appraisal) ซึ่งหมายถึง การประเมินภาวะสุขภาพ ตามการสัมผัสปัจจัยอันตรายทั้งในสภาพแวดล้อมในการทำงาน ร่วมกับสภาพการทำงาน
การทำนาถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากการทำนาก็มีการสานกระติบข้าวเป็นงานเสริม เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ตำบลสงเปลือยมี 16 หมู่บ้าน 2,150 ครัวเรือน การสานกระติบข้าวจะทำในเกือบทุกครัวเรือนๆละ 2-3 คน นับเป็นอาชีพเสริมที่ดี สามารถทำรายได้ตลอดทั้งปี จากรายงานการเจ็บป่วย 10 อันดับแรกของผู้มารักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพกุดบอด ตำบลสงเปลือย ปี 2559-2561 พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง เป็นกลุ่มสานกระติบข้าว(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพกุดบอด, 2561) การจัดการระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับ การเจ็บป่วยและบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในกลุ่มนี้ จึงมีความสำคัญ เพื่อการวางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษา ภาวะสุขภาพ ความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ และลดความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว อย่างมีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทการทำงาน
|
|
วัตถุประสงค์ : |
เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
กลุ่มตัวอย่างคือกลุ่มสานกระติบข้าว ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 150 คน |
|
เครื่องมือ : |
เป็นแบบสัมภาษณ์ภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบแผนการดำเนินชีวิต
ส่วนที่ 2 ข้อมูลการสัมผัสปัจจัยอันตรายจากการทำงาน
ส่วนที่ 3 ข้อมูลภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงาน
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบแผนการดำเนินชีวิต
กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงร้อยละ 66.7 และเพศชาย ร้อยละ 33.3 มีอายุอยู่ในช่วง 25-91 ปี อายุเฉลี่ย 56.58 ปี S.D. = 12.99) โดยกลุ่มตัวอย่างมีอายุช่วง 50-59 ปี มากที่สุด คือร้อยละ37.82 กลุ่มตัวอย่างมีสถานภาพสมรสคู่มากที่สุด (ร้อยละ78.7) ด้านการศึกษากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่(ร้อยละ81.3) มีการศึกษาระดับประถมศึกษา รายได้ของครอบครัวโดยเฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในช่วง 300-50,000 บาท (รายได้เฉลี่ย 3,291 บาท S.D. = 7,290) และเมื่อพิจารณาความเพียงพอของรายได้ต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีรายได้พอใช้ไม่เหลือเก็บร้อยละ 44.7 และมีรายได้ไม่พอใช้เป็นหนี้ร้อยละ 36.7
-แบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มสานกระติบข้าวตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กลุ่มตัวอย่างหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำร้อยละ 28.7 รับประทานอาหารที่มีรสจัดเป็นประจำร้อยละ 21.3 มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48 ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ด้านกิจกรรมทางกาย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.7 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการออกกำลังกายที่กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติเป็นประจำในสัดส่วนสูง คือกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายขณะอยู่บ้าน (ร้อยละ 74.7) มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.3 ที่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อขณะทำงาน ส่วนด้านการใช้สารเสพติดกลุ่มตัวอย่างเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78)ไม่มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 80.7 หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ มากกว่าวันละ 2 แก้ว เป็นประจำ ร้อยละ 58.7 ด้านการพักผ่อนและการจัดการกับความเครียด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) มีการนอนหลับเพียงพอ วันละ 6 - 8 ชั่วโมงเป็นประจำ กิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทำเมื่อรู้สึกเครียดเป็นประจำ คือการพูดคุยกับคนในครอบครัว/เพื่อน และฟังวิทยุ/ดูโทรทัศน์/อ่านหนังสือ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 68.7 และร้อยละ 64.7 ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.7) ไม่เคยใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท
-ส่วนที่ 2 ข้อมูลการสัมผัสปัจจัยอันตรายในการทำงาน
การสัมผัสปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมการทำงานของ
กลุ่มตัวอย่างพบว่า ด้านการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านกายภาพ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40 ได้สัมผัสอากาศร้อนอบอ้าว/ถ่ายเทไม่สะดวกนานๆครั้ง และร้อยละ 54.60 ไม่ได้สัมผัสกับอากาศร้อนอบอ้าว/ถ่ายเทไม่สะดวก มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 0.7 ที่สัมผัสอากาศร้อนอบอ้าว/ถ่ายเทไม่สะดวกตลอดเวลา ด้านการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านเคมี พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 91.3) ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมี พบกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.7 และร้อยละ 28.7 มีการสัมผัสฝุ่นตอก ควันไฟ บ่อยครั้งและตลอดเวลาการทำงานตามลำดับ ด้านการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านการยศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 62 และร้อยละ 56 มีท่าทางก้มศีรษะขณะทำงานบ่อยครั้ง และทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 2 ชั่วโมง กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 41.3 มีการบีบเกร็งข้อมือในการจับอุปกรณ์ตลอดเวลา ด้านการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านชีวภาพ พบว่ามีการทำงานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89.3) ไม่มีสัตว์พิษกัดต่อย การสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านจิตสังคมมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.7 เร่งรีบกับการทำงานตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลผลิตตามเวลา ในขณะที่ร้อยละ 32 ระบุมีรายได้หรือค่าตอบแทนไม่แน่นอนตลอดเวลา ส่วนการสัมผัสปัจจัยอันตรายจากสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66 ใช้อุปกรณ์/เครื่องมือมีคมตลอดเวลา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.7 ระบุที่ทำงานมีการจัดวางเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่เป็นระเบียบตลอดเวลา และอีกร้อยละ 22.7 มีการจัดวางเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่เป็นระเบียบบ่อยครั้ง
ส่วนที่ 3 สุขภาพตามความเสี่ยงจากข้อมูลภาวะการทำงาน
การเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการสัมผัสปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมการทำงานในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าการเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านการยศาสตร์ เป็นปัญหาที่พบในสัดส่วนสูง คืออาการปวดหลัง (ร้อยละ 80) ไหล่ (ร้อยละ 79.33) และต้นคอ (ร้อยละ 76.0) ส่วนอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากการสัมผัสปัจจัยอันตรายด้านกายภาพพบบ่อยรองลงมาคือมีอาการเมื่อยล้า มึนศีรษะจากอากาศร้อนอบอ้าว/ถ่ายเทไม่สะดวกร้อยละ 77.3 สำหรับอาการเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากปัจจัยด้านจิตสังคม พบกลุ่มตัวอย่างมีความเครียด/กังวลจากรายได้หรือค่าตอบแทนไม่แน่นอน และเครียด/กังวลจากงานที่เร่งรีบร้อยละ 62.66 และร้อยละ 58 ตามลำดับ
-การบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของกลุ่มตัวอย่าง
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.7 เคยได้รับบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน มีลักษณะการบาดเจ็บคือแผลฉีกขาด บาดแผลตื้นร้อยละ 52 และมีอาการเคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ ร้อยละ 42 สำหรับอวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่ได้รับการบาดเจ็บที่พบในสัดส่วนสูงสุดคือมือ นิ้วมือ (ร้อยละ 58.3) รองลงมาคือขา หน้าแข้ง น่อง หัวเข่า (ร้อยละ 40.7) สาเหตุของการบาดเจ็บมากที่สุดคือถูกเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความคม ตัด บาด ทิ่มแทง (ร้อยละ 53.3) รองลงมาคือเกิดจากการสะดุดสิ่งของ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ (ร้อยละ 41.3)
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้
จากผลการศึกษาครั้งนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงของกลุ่มตัวอย่าง สามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพดังนี้
1. พัฒนาการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการยศาสตร์(การทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม) โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคือ จนท. รพ.สต. จนท.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ควรร่วมดำเนินการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมการทำงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความตระหนัก และลดความเสี่ยงจากการทำงานของกลุ่มสานกระติบข้าว
2. พัฒนาโปรแกรมสร้างสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงาน โดยการประสานงานกับ บุคลากรทางด้านสาธารณสุข หรืออปท. ผู้นำชุมชน ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เช่นการยืดเหยียดร่างกาย ท่าทางการทำงานที่ถูกต้อง สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการทำงาน รวมทั้งความเหมาะสมของการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เพื่อสร้างความตระหนักในการทำงานที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากการทำงาน
3. ด้านการศึกษา สามารถนำผลการวิจัยไปเป็นข้อมูลสนับสนุน หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ ในประเด็นภาวะสุขภาพความเสี่ยงจากการทำงาน หรือใช้เป็นกรณีตัวอย่างทางการศึกษาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)
|
|
|
|
|