ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พุทธพล ญาติปราโมทย์,วิเศษ คำไชโย,จิรสุดา ศรีรังษ์ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอที่ขึ้นชื่อด้านเกษตรกรรม เช่น เป็นพื้นที่ทดลองเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรกๆ ของประเทศ และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกหลายโครงการที่พัฒนาด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ มีผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อ คือ ข้าวเหนียวเขาวง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แต่ปัจจุบันพบปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการตกค้างของสารเคมีในพืชผัก จากการตรวจเลือดเกษตรกรหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย พบผลเลือดมีความเสี่ยงหรือไม่ปลอดภัย สูงถึงร้อยละ 43.1 พบสารเคมียาฆ่าแมลงตกค้างในระดับที่เป็นอันตรายในพืชผัก ร้อยละ 7.5 ของจำนวนตัวอย่าง(5) และพบว่าพืชผักส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในตลาดรับมาจากแหล่งผลิตนอกอำเภอเขาวง ซึ่งยากต่อการติดตามควบคุม ส่วนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักที่มีแนวคิดในการผลิตอาหารปลอดภัยในอำเภอเขาวงยังพบปัญหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเกษตรแบบใช้สารเคมีสู่การเกษตรแบบอินทรีย์ทั้งเรื่ององค์ความรู้และปัจจัยสนับสนุน พร้อมทั้งยังขาดการส่งเสริมกระบวนการแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับที่ผ่านมาพบปัจจัยที่ลดทอนความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ปัจจัยจากภาครัฐที่มีการดำเนินการแบบสั่งการตัดสินใจแทนเกษตรกรขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ส่งผลให้โครงการที่ผ่านมาไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ และสร้างความขัดแย้งให้กับกลุ่มเกษตรกรในเรื่องความไม่เข้าใจในการจัดสรรงบประมาณและการแจกแบ่งปันปัจจัยการผลิตลงมาในพื้นที่ เกษตรกรรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวขาดการพึ่งตนเอง จากปัญหาดังกล่าวฝ่ายเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลเขาวง ร่วมมือกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ฮักแพง-แบ่งปัน อำเภอเขาวง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางในการพัฒนาการเกษตรที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงได้จัดให้มีแหล่งจำหน่ายสินค้าตลาดอาหารปลอดภัยขึ้นที่โรงพยาบาลเขาวง เพื่อเป็นตลาดเรียนรู้การผลิต การแปรรูปสินค้า และจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ในชุมชน ส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาพในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคนำไปสู่ความเข้าใจ และความตระหนักในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ตามบริบทของชุมชนวัฒนธรรมชาวผู้ไทเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้ชื่อตลาดว่า “ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง” ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์จังหวัดกาฬสินธุ์(2558-2560) ที่ว่า กาฬสินธุ์ถิ่นท่องเที่ยววิถีไทยอีสาน แหล่งอาหารปลอดภัย ผ้าไหมแพรวาลือเลื่อง เมืองคนดีมีน้ำใจ แม้ว่าตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว แต่ยังพบปัญหาการการดำเนินงานพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้า การตลาด และกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักอาหารปลอดภัย  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาบริบทการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายสินค้าในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง 2.ศึกษากระบวนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : สมาชิกตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง ทั้งสิ้น 13 คน  
เครื่องมือ : การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม, แบบเก็บข้อมูล, และประชุมกลุ่ม โดยศึกษาข้อมูลบริบท วิเคราะห์วางแผน ปฏิบัติการ สรุปบทเรียนและนำเสนอที่ประชุมกลุ่ม พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกัน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : มุ่งศึกษาบริบทการผลิต การแปรรูปสินค้า และการจำหน่ายสินค้าในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงในอดีตและปัจจุบัน แนวคิดวิธีปฏิบัติของกลุ่ม กระบวนการมีส่วนร่วม การวางแผน ปฏิบัติการและติดตามประเมินผล การเรียนรู้แลกเปลี่ยนของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบเก็บข้อมูล, แบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริโภค, การประชุมกลุ่ม วิเคราะห์สถานการณ์ของกลุ่มเกษตรกร หาจุดแข็ง จุดอ่อน ภัยคุกคามและโอกาสของกลุ่ม พร้อมทั้งกลุ่มร่วมกันวางแผนสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดเวทีการตรวจสอบโดยนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการตลาดตรวจสอบข้อมูลให้มีความสอดคล้องและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ การดำเนินการวิจัย (1)พัฒนาโจทย์วิจัย (2)เตรียมทีมวิจัย/ทีมชุมชน (3)สร้างเครื่องมือเก็บข้อมูล (4)ลงพื้นที่เก็บข้อมูล (5)รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ (6)วางแผนงาน/กิจกรรมพัฒนา (7)ปฏิบัติการและบันทึกผลลัพธ์ (8)สรุปบทเรียนและนำเสนอที่ประชุมกลุ่ม  
     
ผลการศึกษา : ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง มีคณะกรรมการตลาด จำนวน 13 คน มีสมาชิกทั้งสิ้น 38 คน โดยมีสมาชิกที่มาจำหน่ายสินค้าในตลาดเป็นประจำ 13 คน (แผงสินค้า จำนวน 9 แผง) ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี(GAP) จำนวน 8 คน และผ่านการรับรองการผลิตข้าวเหนียวเขาวงเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ(GI) จำนวน 8 คน ผ่านการอบรมสุขาภิบาลด้านอาหาร จำนวน 13 คน ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาด 13 คน มีพื้นที่ทำนาทั้งสิ้น 74 ไร่ ผลผลิตข้าวประมาณ 30 ตันต่อปี มีพื้นที่ปลูกผัก 15 ไร่ 3 งาน ผลผลิตพืชผักประมาณ 9,395 กิโลกรัมต่อปี ตลาดมีสินค้าจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 222 รายการ แยกเป็นสินค้าประเภทพืชผักอาหารสด ร้อยละ 52.7 , อาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคร้อยละ 42.8, สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้อยละ 4.5 มูลค่าการจำหน่ายสินค้ารวม(ข้อมูล ม.ค.-มิ.ย.59) พบว่ามีค่าเฉลี่ย 11,243 บาทต่อครั้ง(SD=926, Min=9,713, Max=12,192) หรือมีค่าเฉลี่ย 75,839 บาทต่อเดือน(SD=9,370, Min=67,811, Max=92,760) รายการสินค้าที่ขายดี คือ อาหารพื้นบ้าน, ขนมพื้นบ้านผู้ไท(ข้าวแดะงา), แหนมหมู, ผัก, ผ้าพื้นเมือง กระติบข้าว เป็นต้น ผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 3.6 (จำนวนตัวอย่างพืชผักส่งตรวจ 28 ตัวอย่าง พบในต้นอ่อนทานตะวัน ซึ่งเป็นสมาชิกตลาดรายใหม่) ตลาดมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น ประชาสัมพันธ์ทางเวบไซด์ Khaowongshop.com, และ Facebook.com/ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง, จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ และวันสงกรานต์, จัดทำโรงทานและบริจาคในงานบุญต่างๆ เป็นต้น มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติของสมาชิก และมีกองทุนพัฒนาตลาด(จ่ายแผงละ10บาทต่อครั้ง) มีเงินในกองทุนสะสม 11,760 บาท, กองทุนเงินออม(ออมเงินไม่น้อยกว่า 50 บาทต่อครั้ง) มีเงินออมสะสม 82,090 บาท(ข้อมูล มิ.ย.59) เมื่อสำรวจความคิดเห็นลูกค้า จำนวน 116 คน พบว่าเป็นเพศหญิงร้อยละ 83 เพศชายร้อยละ17 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 82 ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล ร้อยละ18 ผู้ตอบแบบสอบถามมาซื้อของในตลาดเฉลี่ย 4 ครั้งต่อเดือน เป็นลูกค้าประจำ ร้อยละ 12 (6- 9 ครั้งต่อเดือน) ลูกค้าใช้จ่ายเงินในการซื้อของในตลาดน้อยกว่า 100 บาทต่อครั้งร้อยละ 47 ระหว่าง 100-300 บาทต่อครั้ง ร้อยละ 43 และมากกว่า 300 บาทต่อครั้งร้อยละ 10 ลูกค้าเห็นว่าคุณภาพสินค้าสด สะอาดให้คะแนนระดับมากและมากที่สุดร้อยละ 76 สินค้ามีความน่าเชื่อถือระดับมากและมากที่สุด ร้อยละ 70 สาเหตุที่มาซื้อสินค้าในตลาด เพราะ สินค้าสดและสะดวกใกล้ที่พัก โดยมีข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรมีการเพิ่มความหลากหลายสินค้า มีผลิตภัณฑ์ชุมชน, มีการประชาสัมพันธ์และจัดสถานที่ให้โดดเด่นน่าเดินน่าเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย 1.การก่อร่างสร้างกลุ่ม กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ฮักแพง-แบ่งปันอำเภอเขาวง เริ่มรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2552 สมาชิกกลุ่มจะผ่านการอบรมจากศูนย์พัฒนาคุณธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ นายวิเศษ คำไชโย ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสมาชิก 447 รายให้ประธานกลุ่ม โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานที่ว่า “พึ่งตนเอง ,พึ่งพากันเอง, สร้างภาคีเครือข่ายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้” มีการดำเนินการขยายผลเกษตรทฤษฏีใหม่ มีจำนวนเกษตรกรเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 720 ราย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “1 ไร่ไม่ยากไม่จน” ภายใต้ 3 ตัวชี้วัด คือ 1)หลุมพอเพียง 2)พืชปลอดสารพิษ และ 3)การทำบัญชีครัวเรือน พร้อมทั้งสร้างเกษตรประณีต จาก 1 ไร่ไม่ยากไม่จน เป็น 1 ไร่ 1 แสน โดยมีวิธีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พัฒนาตลาดนัดสีเขียว(เริ่มดำเนินการวันที่ 16 กรกฎาคม 2553)ขายสินค้าทางการเกษตรทุกวันศุกร์ที่ตลาดเทศบาลตำบลกุดสิม ดำเนินการภายใต้โครงการขยายผลเกษตรทฤษฏีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด รางวัลดีเยี่ยม ประจำปี 2553 กลุ่มได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตจนสมาชิกกลุ่ม จำนวน 60 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี จี เอ พี(GAP:Good Agricultural Practice) และข้าวเหนียวเขาวงผ่านการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มาตรฐาน จี ไอ(GI:Geographical Indication) ต่อมาเกษตรกรสมาชิกได้ร่วมกลุ่มก่อตั้งเป็นสหกรณ์ข้าวเหนียวเขาวง จำกัด การดำเนินงานตลาดนัดสีเขียวของกลุ่มเปิดดำเนินการได้ 8 เดือน ประสบปัญหาการบริหารจัดการตลาด ผลผลิตทางการเกษตรมีไม่ต่อเนื่องประกอบกับสถานที่จำหน่ายสินค้าไม่เอื้อต่อการทำตลาดสีเขียว ต่อมาปี พ.ศ.2556 กลุ่มเกษตรกร ร่วมกับ เภสัชกรโรงพยาบาลเขาวง วิเคราะห์และวางแผนเปิดตลาดอาหารปลอดภัย ในชื่อว่า ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง มีเป้าหมาย 1) เพื่อเป็นตลาดอาหารปลอดภัย ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ชุมชนวิถีชาวผู้ไท 2)เพื่อเป็นตลาดแห่งการแบ่งปัน ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชาวผู้ไท 3)เพื่อเรียนรู้การตลาดพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของสมาชิกสอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนภายใต้โครงการขยายผลเกษตรทฤษฏีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2557 งบประมาณดำเนินการเริ่มต้น 33,000 บาท เปิดดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2557 มีผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดที่เป็นสมาชิก 30 ราย มีแผงจำหน่ายสินค้าเป็นประจำประมาณ 2 ถึง 20 แผงต่อวัน โดยเริ่มต้นเปิดตลาดเฉพาะวันศุกร์ เวลา 7.00 น.-13.00 น. ต่อมาต้นเดือนกรกฎาคมได้เพิ่มดำเนินการเปิดตลาดในวันอังคารด้วย ดำเนินการมาต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าวันอังคาร หรือวันศุกร์จะตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงก็ยังเปิดดำเนินการ ข้อมูลตั้งแต่เดือน ก.พ.57 ถึง มิ.ย.59 เปิดตลาดจำนวนทั้งสิ้น 236 ครั้ง 2.การจัดองค์กรและบริหารจัดการกลุ่ม คณะกรรมการตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง 2557-2558 มีคณะกรรมการจำนวน 14 คน โดยมีนายวิเศษ คำไชโย เป็นประธานคณะกรรมการ ต่อมามีการเลือกตั้งคณะกรรมการตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง 2559-2560 มีจำนวน 13 คน โดยมีนางศุภาพิชญ์ พันลำ เป็นประธานคณะกรรมการ ปัจจุบันมีสมาชิก 21 คน มีการประชุมประจำเดือนๆ ละ 1 ครั้ง มีการกำหนดระเบียนแนวทางปฏิบัติหลักๆ ดังนี้ - ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาด ต้องใส่เสื้อพื้นบ้าน หรือ เสื้อผู้ไทแบบมีแขน สวมผ้ากันเปื้อน สวมหมวก หรือเน็ตคลุมผมขณะปรุงประกอบอาหารในตลาด กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดปรับครั้งละ 10 บาท - สมาชิกที่มาจำหน่ายสินค้าในตลาดต้องมีการออมเงินฝากธนาคาร วันละไม่น้อยกว่า 50 บาท - สมาชิกที่มาจำหน่ายสินค้าในตลาด จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาตลาด ครั้งละ 10 บาท - อาหารที่นำมาขายในตลาดเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ผู้ประกอบอาหารต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลด้านอาหารจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล - สินค้าทางการเกษตรมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ - สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น เครื่องจักรสาน ผ้า และอื่นๆ ต้องเป็นสินค้าผลิตในชุมชน - ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชุมชน กลุ่มผู้ป่วยผลิตขึ้น ผ่านการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพจาก เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล - กรณีสุ่มตรวจสินค้า ผลการตรวจด้านชีวภาพและเคมี ถ้ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนในอาหารผู้จำหน่ายสินค้าต้องหยุดนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาดทันที พักปรับปรุงกระบวนการผลิต และต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตใหม่ - การสมัครสมาชิกตลาดต้องบันทึกข้อมูลในสมุดทะเบียนสมาชิก พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน - สมาชิกทุกคนต้องเข้ารับการอบรมเรื่องอาหารปลอดภัย และผ่านการตรวจสถานที่ผลิตอาหาร/ สถานที่ปลูก โดยมีสมาชิกกลุ่มเกษตรกรในชุมชนรับรองกระบวนการผลิตในการประชุมประจำปี 3.การดำเนินโครงการ/กิจกรรมของกลุ่ม การประชุมเตรียมทีม พบว่ากลุ่มได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม คือ 1)กลุ่มจะเข้มแข็งได้ต้องมีการบริหารจัดการกลุ่ม มีคณะกรรมการ แนวทางปฏิบัติร่วมกันการสื่อสาร ทุน และมีสมาชิกหรือทายาทเกษตรกร 2)กลุ่มต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน สินค้าอาหารปลอดภัย กระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ 3)กลุ่มต้องมีการจัดการความรู้ เรียนรู้การผลิต การแปรรูป และการตลาดร่วมกัน ซึ่งนำไปสู่การวางแผนดำเนินงานพัฒนากลุ่มหาแนวทางสร้างอัตลักษณ์ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงที่จะเป็นตลาดอาหารปลอดภัย ตลาดแห่งการแบ่งปันและเรียนรู้พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบวิถี ผู้ไท และพบว่ามีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี(2559-2563) มีวิสัยทัศน์ของกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ฮักแพง-แบ่งปัน ว่าเป็น “เครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่สืบทอดภูมิปัญญาวิถีผู้ไทอย่างยั่งยืน” มีพันธกิจดังนี้ 1)ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน 2)สิ่งเสริมเกษตรกรเพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพากันเอง สร้างเครือข่าย เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ด้านการเกษตรวิถีผู้ไท 3)พัฒนาข้าวเหนียวเขาวงให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าข้าว ผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลพลอยได้จากข้าว 4)พัฒนาตลาดสินค้าทางการเกษตรแบบวิถีผู้ไทมีมาตรฐานความปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนา 4 ประเด็นดังนี้ 1)สร้างความเป็นผู้นำการผลิตข้าวเหนียวเขาวง พืชผักเกษตรอินทรีย์ อำเภอเขาวง 2)สร้างสินค้านวัตกรรมภูมิปัญญาผู้ไท 3พัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านการตลาด 4)บริหารจัดการกลุ่มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบวิถีผู้ไท จากการศึกษาพบว่ากลุ่มสมาชิกตลาดมีการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมในรอบปีที่ผ่านมาที่สร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ดังนี้ 3.1 กิจกรรมการส่งเสริมการตลาดในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ และวันสงกรานต์ จุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการตลาดจัดให้มีการแสดงหมอลำส่งเสริมสุขภาพ แจกของชำร่วยเป็นเมล็ดพืชผัก หน่อกล้วย ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ และมีการแจกคูปองส่งชิงโชคแจกรางวัล ผลทำให้มีลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้น และเป็นการประชาสัมพันธ์ตลาด พร้อมทั้งสร้างกิจกรรมให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมพบว่าในรอบปีที่ผ่านมามีกลุ่มลูกค้านอกโรงพยาบาลที่ตั้งใจมาซื้อสินค้าในตลาดเพิ่มมากขึ้น 3.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สุขาภิบาลอาหาร และความปลอดภัยด้านอาหาร มีผู้เข้าประชุม 13 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าในตลาดให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเรื่องความสะอาด และปลอดภัย 3.3 การสุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพสินค้าในตลาด เช่น ตรวจเฝ้าระวังสารเคมียาฆ่าแมลงตกค้างในพืชผัก พบสินค้าพืชผักมีความปลอดภัย ร้อยละ 96.4 3.4 การพัฒนาระบบสารสนเทศของตลาด โดยมีการพัฒนาฐานข้อมูลพื้นฐาน และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเวบไซด์ และสื่อสังคมออนไลน์ ผลพบว่ามีหน่วยงานราชการและภาคเอกชนมาขอข้อมูลเกี่ยวกับตลาด 2 ครั้ง และข้อมูลข้าวเหนียวเขาวง 2 ครั้ง จำนวนผู้เข้าชมเวบไซด์ ประมาณเฉลี่ย 249 ครั้งต่อวัน และผู้ถูกใจเฟสบุ๊กตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง 155 คน 3.5 มีการทบทวนระเบียบแนวทางปฏิบัติของตลาด กำหนดให้สมาชิกต้องทำบัญชีครัวเรือนการจำหน่ายสินค้าตลาด และมีการออมทรัพย์ที่เน้นการสะสมไม่เน้นกู้ยืม ผลพบว่าเริ่มดำเนินการออมเดือนกุมภาพันธุ์ – มิถุนายน 2559 มียอดเงินออมสะสม 82,090 บาท 3.6 มีแผนพัฒนาตลาดด้านปรับภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเป็นตลาดอาหารปลอดภัย โดยมีการเข้าแผนโรงพยาบาลเขาวง และมีการระดมทุนรับบริจาคเน้นการมีส่วนร่วมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ 3.7 มีจัดทำเสื้อทีมคณะกรรมการตลาด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตลาดเวลาสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน 3.8 การมีส่วนร่วมของสมาชิกในกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม พบว่ากลุ่มมีส่วนร่วมในการประชุมของกลุ่มเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่กลุ่มจะมีการประชุมในวันศุกร์ เวลา 13.00น.– 15.00 น. หรือประชุมกลุ่มย่อย ช่วงเวลา 10.00-11.00 น. ร่วมกันวางแผนโครงการ ดำเนินงานกิจกรรม การประเมินผลโครงการโดยมีที่ปรึกษาตลาดเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทำบทบาทเป็นคุณอำนวยร่วมกระบวนการกลุ่มทั้งแบบไม่เป็นทางการ และแบบที่เป็นทางการ 4. บทเรียนจากการดำเนินงานของกลุ่ม 4.1 กระบวนการผลิต และแปรรูป กลุ่มมีผลผลิตพืชผักประมาณ 9,395 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 345,900 บาทส่วนใหญ่ผลผลิตที่ได้มีการจำหน่ายหมดทั้งที่จำหน่ายในตลาดวิถีผู้ไทชาว เขาวง และตลาดในชุมชน มีเพียงผักอยู่ 4 รายการเท่านั้นที่จำหน่ายไม่หมด ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ผักกาดดอก และผักสลัด เนื่องจากกลุ่มจะพยายามปลูกพืชผักให้ผลผลิตมีปริมาณตามความต้องการของตลาด การที่จะพัฒนาเพิ่มผลผลิตและเพิ่มช่องทางการตลาดผักปลอดสารเคมีในพื้นที่ต้องทีพัฒนาทั้งกลุ่มผู้ผลิตในด้านชนิด คุณภาพและปริมาณผักที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค พร้อมกับหากลุ่มลูกค้าเฉพาะที่ตะหนักถึงความสำคัญของการบริโภคผักปลอดสารและมีกำลังซื้อ เช่น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มทำงานบริษัทเอกชน, โรงครัวโรงพยาบาล, และร้านอาหารเป็นต้น ซึ่งต้องมีการสำรวจความต้องการผู้บริโภคและพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสาร จึงจะทำให้เกิดตลาดสีเขียวผักปลอดสารเคมีในพื้นที่อย่างยั่งยืนได้ ส่วนกระบวนการรับรองคุณภาพสินค้าทางการเกษตรที่ภาครัฐกำหนดที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนไม่สอดคล้องกับบริบทของตลาดในชุมชนแทนที่จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตอาหารปลอดภัย อาจเป็นการกีดกันหรือกำแพงปิดกันผู้ผลิตไม่ให้มีโอกาสได้มาเรียนรู้การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย และบางครั้งผู้บริโภคก็ไม่รับรู้ หรือไม่มั่นใจในตราคุณภาพนั้นๆ ไม่สามารถนำไปสู่การส่งเสริมการตลาดให้กลุ่มเกษตรกรได้ สำหรับการแปรรูปสินค้าของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าต้องอาศัยการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องทุน รูปแบบแนวคิด การจัดซื้อจัดหา และการตลาด เพราะด้วยศักยภาพของกลุ่มไม่สามารถพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. 2 การตลาด เมื่อวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาดของตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง พบว่า 1)เรื่องสินค้า(Product) พบว่าตลาดยังมีสินค้าไม่หลากหลายส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคที่ขายดี มีการพัฒนาสินค้าในตลาดทั้งสร้างขึ้นมาใหม่และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เช่น ขนมพื้นบ้านผู้ไทข้าวหวาน, ข้าวโลมะอูบ, ข้าวหัวหงอก, ข้าวแดะงา, แหนมหมูพันตอก เป็นต้น ส่วนประเด็นคุณภาพสินค้าในตลาดพบว่ามีความสดใหม่ แต่มีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 3.6 เนื่องจากกระบวนการคัดกรองตรวจสอบผู้ผลิตและคุณภาพสินค้ายังต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง และมีวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้จำหน่ายสินค้าต้องร่วมกันสร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในตลาด สร้างการรับรู้ทำความเข้าใจกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีเลือกซื้อสินค้าจากเรา หรือที่เรียกว่าการสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์(Brand) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างคุณค่า 2)เรื่องราคา(Price)สินค้าส่วนใหญ่มีราคาเท่ากับตลาดในอำเภอ มีสินค้าบางรายการอาจแพงกว่าหรือถูกกว่าท้องตลาด 3)เรื่องสถานที่(Place) พบว่าปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงดำเนินการได้อย่างราบรื่น เนื่องจากความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค กลุ่มลูกค้าหลักคือเจ้าหน้าที่ และผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลโดยเฉพาะวันอังคารและวันศุกร์เป็นวันคลินิกโรคเบาหวานซึ่งมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้มีลูกค้าเดินผ่านตลาดจำนวนมาก ซึ่งแนวคิดนี้ควรมีการส่งเสริมให้ส่วนราชการที่จะทำตลาด หรือศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนพิจารณาสถานที่ตั้งให้เป็นแหล่งชุมชน และมีผู้บริโภคเดินทางผ่านจำนวนมากที่เอื้อต่อการจำหน่ายสินค้าไม่ใช่มีที่ว่างของที่ไหนก็จะทำตลาดที่นั้นซึ่งเราพบเห็นการสร้างอาคารร้างศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ทั่วไปในส่วนราชการ 4)การส่งเสริมการตลาด(Promotion) ต้องมีการสื่อสารที่ดีที่ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อใจและเชื่อถือในตัวสินค้า ที่จะส่งผลให้เกิดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดใช้ช่องทางสื่อสารผ่านกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ผ่อนสื่อออนไลน์ และแผ่นป้าย แต่เนื่องจากตลาดของชุมชนส่วนใหญ่จะไม่มีงบประมาณมากในการส่งเสริมการตลาดเหมือนบริษัทห้างร้านทั่วไป ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา และการสื่อสารสร้างคุณค่าการตลาดเพื่อสังคม ค่อยๆพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน ไม่ใช่พิธีเปิดตลาดอย่างใหญ่ แต่ตลาดอยู่ไม่ได้ผู้ซื้อไม่มี ผู้ขายก็ไม่มา 4.3 การจัดการความรู้และสารสนเทศ เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในการมาจำหน่ายสินค้าในตลาดสัปดาห์ละ 2 วัน พบมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในกลุ่ม มีการนัดประชุมปรึกษาหารือในวันดังกล่าว หรือกรณีส่วนราชการจะขอพบกับกลุ่มเกษตรกรจะมีการนัดมาพบที่ตลาดโรงพยาบาล ทำให้เกิดศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล และพบว่าเกษตรกร 5 ใน 13 คนเริ่มใช้สื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลถึงสมาชิกในเครือข่ายหรือผู้บริโภค การพัฒนาคลังความรู้เป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ผ่านเวบไซด์ทำให้กลุ่มเกษตรตอบสนองการขอข้อมูลจากส่วนราชการได้เป็นอย่างดี แต่ศักยภาพในการใช้ข้อมูล หรือการใช้เทคโนโลยีของกลุ่มเกษตรกรยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพในส่วนที่ขาด 4.4 การบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกร พบว่าผู้นำพาทำพาทบทวนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ตลาดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและช่วยแก้ปัญหาของสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งทบทวนเป้าหมายของการร่วมกลุ่ม หรือการสร้างตลาด เพื่อให้สมาชิกเห็นคุณค่าของการดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของตลาดสีเขียวอาหารปลอดภัย  
ข้อเสนอแนะ : การขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผลเรียนรู้ และร่วมรับผลประโยชน์ โดยมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ฮักแพงแบ่งปัน อำเภอเขาวง สื่อสารทำความเข้าใจขับเคลื่อนกิจกรรมและติดตามประเมินผลเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน หน่วยงานภาครัฐเป็นคุณอำนวยช่วยเหลือส่งเสริมให้เกลุ่มเกษตรกรคิดเป็นทำเป็นพึ่งตนเองได้ ทั้งการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และงบประมาณบางส่วนจึงจะสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มได้อย่างยั่งยืน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)