ประเภทบทความ/งานวิจัย : เรื่องเล่า สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา: กรณีศึกษาการป้องกันโรคไข้เลือดออก ชุมชนบ้านจาน ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : เจนณรงค์ ละอองศรี ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์ไข้เลือดออกในตำบลโนนนาจานในระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2558 พบว่า มีผู้ป่วย 10 ราย 8 รายและ 16 ราย ตามลำดับ ซึ่งในปี พ.ศ.2558 มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงเป็นอันดับที่ 1 จากทั้งหมด 5 ตำบล ในเขตอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตและจากรายงานทางระบาดวิทยา รพ.สต.โนนนาจาน ปี 2558 พบว่า กลุ่มอายุที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ เด็กอายุ 10 - 14 ปี แต่ปัจจุบันก็พบในผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่พบคือ 59 ปี จากการศึกษาสถานการณ์ไข้เลือดออกในชุมชนบ้านจานหมู่ที่ 1 และ 9 พบว่า มีผู้ป่วยรวมกันทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 6 คน ส่วนใหญ่มีอายุ 12 – 18 ปี การเลือกใช้รูปแบบการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชนมีหลากหลายแนวคิดที่มีประสิทธิภาพเช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำให้เกิดรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน (ไชยรัตน์ เอกอุ่น, 2557) ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจมาใช้ในกลุ่มเด็กจิตอาสาในการป้องกันโรคไข้เลือดออก  
วัตถุประสงค์ : เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย : คัดเลือกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง นักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวน 43 คน  
เครื่องมือ : โปรแกรมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างในการสนทนากลุ่ม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ กลุ่มเด็กจิตอาสา หรือ อสม.น้อย คัดเลือกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 43 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ โปรแกรมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นจากการประยุกต์กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจของกิ๊บสัน (Gibson, 1995) ประกอบด้วย ขั้นตอนการค้นพบสถานการณ์จริง xการตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติด้วยตนเอง การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างในการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติพรรณนา  
     
ผลการศึกษา : 1. อสม. น้อยได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจผ่านกระบวนการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรม ตั้งแต่การค้นพบสถานการณ์จริง (Discovering Reality) การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Reflection) การตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติด้วยตนเอง (Taking Charge) การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ (Holding on) เกิดความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวในการจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มอาสาสมัครน้อยในการดำเนินกิจกรรม กลุ่มอาสาสมัครน้อยได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ตลอดจนเกิดกระบวนการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเด็กเหล่านี้ 2. ผลลัพธ์ของการเสริมสร้างพลังอำนาจ ด้านความรู้ เมื่อพิจารณาระดับความรู้เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกของ อสม.น้อย จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน พบว่าก่อนการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก อสม.น้อยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44.4) ได้คะแนนต่ำกว่า 10 คะแนน และร้อยละ 37.8 มีคะแนนอยู่ในระหว่าง 11-15 คะแนน มีเพียง ร้อยละ 17.8 เท่านั้น ที่มีคะแนนมากกว่า15 คะแนนขึ้นไป หลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการป้องกันโรคไข้เลือดออกพบว่า อสม.น้อยมีความรู้เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกดีขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46.6) มีคะแนนมากกว่า 15 คะแนนขึ้นไป ร้อยละ 35.6 มีคะแนนอยู่ในระหว่าง 11-15 คะแนน และร้อยละ 8.9 มีคะแนนต่ำกว่า 10 คะแนน โดยก่อนและหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก อสม.น้อยมีคะแนนความรู้เฉลี่ย 10.93 และ 17.18 คะแนน ตามลำดับ  
ข้อเสนอแนะ : การเสริมสร้างพลังอำนาจเป็นกระบวนการที่ทำให้ อสม.น้อยเกิดความตระหนัก ส่งเสริมความสามารถของตนเอง และสามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ในเบื้องต้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ อสม.น้อยกลายเป็นแรงผลักดันให้คนในชุมชนหันมาสนใจและใส่ใจในการดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกมากขึ้น นำไปสู่กระบวน การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆของ อสม.น้อย โดยกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ อสม.น้อยผ่านกระบวนการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันโรค การตัดสินใจเลือก การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งการประเมินผลการดำเนินกิจกรรม ทำให้เกิดความรู้ที่ดี ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานของ อสม.น้อยมีความต่อเนื่อง ควรมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จาก อสม.น้อยและแม่ อสม. จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ใบประกาศ ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)