ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : สมุนไพรแช่เท้าเบาหวาน
ผู้แต่ง : น.ส. จุฑามาศ ภูนีรับ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โรคเบาหวานเป็นโรคหนึ่งที่พบผู้ป่วยในพื้นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งในเขตตำบลนาจำปามีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 70 ราย ปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานนอกจากเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ปัญหาการมึนชาฝ่าเท้าก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไข เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น งานแพทย์แผนไทยจึงเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และอยากนำภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยเบาหวาน  
วัตถุประสงค์ : ใช้สมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นแก้ปัญหาอาการมึนชามือและเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน  
กลุ่มเป้าหมาย : อาสาสมัครตามความสมัครใจที่ป่วยเป็นเบาหวานและมีอาการมึนชาฝ่ามือฝ่าเท้า จากหมู่ 8 จำนวน 10 ราย  
เครื่องมือ : วัสดุอุปกรณ์ 1.มะกรูด 50 กรัม มีสรรพคุณช่วยให้ผิวชุ่มชื้น น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกลดอาการซึมเศร้า ใช้ใบหรือผิวมะกรูดก็ได้ 2.เหง้าขมิ้นชัน 50 กรัม ทำให้ผิวนุ่มนวล ช่วยสมานแผล 3.ใบบัวบก 50 กรัม เป็นยาเย็นลดอาการอักเสบ 4.ใบย่านาง 50 กรัม ลดอาการผดผื่นคันจากการแพ้ทำให้สบายผิว 5.ใบมะขาม 50 กรัม ชำระล้างความสกปรกรูขุมขนคราบไขมันบนผิวหนังได้ดี หมายเหตุ ใช้สมุนไพรสด ขั้นตอนการทำ 1. นำสมุนไพรทั้งหมดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆพอประมาณ 2. นำไปตากจนแห้งสนิท 3. บรรจุสมุนไพรแห้งในถุงซิปใส ขนาด 250 กรัม ปิดปากถุงให้สนิทเพื่อป้องกันเชื้อราและป้องกันการปนเปื้อน 4. บันทึกวันผลิตและวันหมดอายุ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ขั้นตอนการทดลอง 1. คัดเลือกอาสาสมัครตามความสมัครใจที่ป่วยเป็นเบาหวานและมีอาการมึนชาฝ่ามือฝ่าเท้า จากหมู่ 8 จำนวน 10 ราย 2. ตรวจคัดกรองอาการมึนชาฝ่าเท้าโดยดูระบบประสาทที่เท้าโดยใช้ monofilament 3. สาธิตการใช้สมุนไพรลดอาการมึนชา ซึ่งมีวิธีการดังนี้ - นำสมุนไพรแห้งผสมน้ำ 1 ขัน หรือประมาณ 1 ลิตร ต้มให้เดือด ยกเว้นมะกรูด ให้ใส่เมื่อน้ำเดือดได้ที่ - ยกลงผสมน้ำเย็นจนพออุ่น ก่อนแช่เท้าต้องแน่ใจว่าน้ำไม่ร้อนมาก หรือพออุ่น แช่นานประมาณ 15 นาที เช้าและเย็น นาน 7 วัน - ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง 4. มอบสมุนไพรแห้งให้อาสาสมัครคนละ 7 ห่อ สำหรับใช้นาน 7 วัน  
     
ผลการศึกษา : จากผลการทดลองสรุปว่าการแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพรวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น นาน 7 วันทำให้อาสาสมัครมีผลการประเมินจุดประสาทที่เท้าดีขึ้น 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 มีอาการคงเดิม 4 ราย และไม่พบอาสาสมัครมีอาการแย่ลง จากการติดตามรายคนพบว่า อาสาสมัครที่มีอาการคงเดิมส่วนใหญ่จะพบจุดความผิดปกติของประสาทที่เท้าอย่างน้อย 3 จุด จากทั้งหมด 4 จุด ซึ่งการแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพรนาน 7 วันอาจจะยังไม่เพียงพอในการลดอาการมึนชา ควรจะมีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย เช่นการอกกำลังและบริการนิ้วเท้าและฝ่าเท้า แต่อย่างไรก็ตามไม่พบอาสาสมัครมีอาการแย่ลงหลังการทดลอง แสดงให้เห็นว่าการแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพรมีส่วนช่วยการลดอาการมึนชาฝ่าเท้าได้  
ข้อเสนอแนะ : ควรเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานที่ชัดเจน และขยายไปตำบลอื่นๆ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง