|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การมีส่วนร่วมในการลดการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกพืชไร่ อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
นางสาวภัคนันท์ เรืองช่อ |
ปี : 2559 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมสามารถปลูกพืชได้ตลอดปีเนื่องจากตั้งอยู่เขตอบอุ่นสภาพอากาศโดยทั่วไปจึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของศัตรูพืชทำให้เกิดปัญหาด้านศัตรูพืชรุนแรงทำความเสียหายต่อผลผลิตได้มาก ทำให้ปัจจุบันมีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าไปมากเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เกษตรกรจึงนิยมเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ใช้สะดวก กำจัดศัตรูพืชได้เร็ว ส่งผลให้เกษตรกรมีการสั่งซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากต่าง ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ๑๓๗,๗๓๙ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๑๖,๘๓๗ ล้านบาท และในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากถึง ๑๓๔,๔๘๐ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๑๙,๓๗๙ ล้านบาท โดยสารเคมีที่นำเข้ามากที่สุด ๓ ลำดับแรก คือ สารกำจัดแมลง (Insecticide) สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) ตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, ๒๕๕๖) เกษตรกรจึงใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากเกินความจำเป็นและใช้ไม่ถูกต้องต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นปัญหา คือ เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน แหล่งน้ำ และอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร
จากการเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยการสุ่มตรวจระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกร พบว่ามีระดับปลอดภัย ร้อยละ ๕๔.๑ และระดับ ไม่ปลอดภัย ร้อยละ ๔๕.๙ ซึ่งปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือด มีความสัมพันธ์กับการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มสารออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต เพราะสารทั้งสองกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยับยั้งเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเกือบร้อยละ ๕๐ ของเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, ๒๕๕๗)
อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชาชนประกอบอาชีพหลักคือการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าว สามารถทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง และเกษตรกรมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จากที่เป็นพื้นที่ทำนาปีละ ๒ ครั้ง และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลาย เกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีอยู่เป็นประจำ เป็นการเพิ่มโอกาสได้รับสารเคมีจนเกิดการสะสมในร่างกาย จากการสุ่มตรวจระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรพื้นที่อำเภอดอนจาน พบว่ามากกว่าร้อยละ ๖๐ มีระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ในระดับมีความเสี่ยงและระดับไม่ปลอดภัย (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอดอนจาน, ๒๕๕๘) จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการได้รับพิษเรื้อรังจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และผู้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือทำงานกับผลิตผลทางการเกษตรที่มีสาเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ผู้ป่วยเหล่านี้มักได้รับพิษทางเดินหายใจ และการปนเปื้อนสารเคมีที่ผิวหนังเป็นหลักนอกจากนนี้ยังอาจได้รับพิษจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาการเจ็บป่วยค่อยๆ เกิดขึ้นจึงไม่ชัดเจนทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเล็กน้อยถึงปานกลางมักมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ มองไม่ชัด ปวดท้อง อาเจียน แน่นหน้าอก และหายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจมีอาการดังกล่าวเป็นเวลานานหลายเดือนกว่าจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นพิษเรื้อรัง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเมื่อตรวจระดับการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase) ในผู้ป่วยดังกล่าวมักจะมีระดับลดลงจากระดับที่วัดก่อนการทำงานถึงร้อยละ ๕๐ นอกจากนี้อาการซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่มีรายงานความเป็นพิษต่อประสาทระยะหลังคือ กลุ่มอาการทางจิตประสาทเรื้อรัง (Delayed Psychopathologic Neurologic Syndrome) กลุ่มอาการนี้มีรายงานในคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการในระบบประสาทควบคุมอัตโนมัติบกพร่องก่อให้เกิดอาการ ปวดศีรษะอาการระบบทางเดินอาหาร และระบบไหลเวียนโลหิต สมรรถนะทางเพศเสื่อม ทนต่อสุรา นิโคติน และยาต่างๆ ไม่ได้ ดูแก่เกินวัย ไม่มีชีวิตชีวา และขาดความกระตือรือร้น ผู้ป่วยบางรายมีอาการซึมเศร้า เป็นลม หลงลืมและความจำเสื่อมร่วมด้วย (จุฑามาศ ตรีรัตน์พันธุ์, ๒๕๕๐) จากข้อมูลสถานการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่าปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังเพิ่มขึ้นและมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีการนำกระบวนการมีส่วนร่วม (Participation) ในการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้กลุ่มเกษตรกร ได้รับรู้ถึงโอกาสเสี่ยงและความรุนแรงจากการได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มกลุ่มเกษตรกรมีการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการปฏิบัติตัวในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้อย่างถูกต้อง และส่งผลให้ระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของกลุ่มเกษตรกรกลับสู่ระดับที่ปลอดภัยได้ในที่สุด
|
|
วัตถุประสงค์ : |
๑. เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร
๒. เพื่อความเสี่ยงของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
๓. เพื่อศึกษาทางเลือกและเสนอแนวทางปฏิบัติในการทดแทนและลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในพืชต่างๆ
๔. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และความสำเร็จของการดำเนินงานลดการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
ศึกษาในกลุ่มเกษตรผู้ปลูกพืชไร่ อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีอายุ ระหว่าง 30-60 ปี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการตอบแบบสอบถาม จำนวน 377 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสนทนากลุ่ม คัดเลือกแบบเจาะจง จำนวน 78 คน |
|
เครื่องมือ : |
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยแบบประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการสนทนากลุ่มของเกษตรกรและภาคีเครือข่ายในการเสนอทางเลือกและแนวทางปฏิบัติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูลทั่วไป ใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลทางด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จะใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอผลการศึกษาในรูปของการบรรยาย |
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
ขั้นตอนการดำเนินงานแบ่งเป็น ๔ ระยะ
๑. ระยะเตรียมการ ศึกษาปัญหา วิเคราะห์สถานการณ์ รวบรวมข้อมูลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรส จัดตั้งคณะทำงาน
๒. ใช้แนวคิด DHS สู่การทำงานและเทคนิคการมีส่วนร่วมโดยการสนทนากลุ่ม (Focus Group)
- ทบทวนความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
- นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สถานการณ์ ความรู้ และการปฏิบัติตัว ให้กลุ่มเป้าหมายทราบ
- ร่วมกันเสนอทางเลือกและแนวทางปฏิบัติ เพื่อลดการใช้ และหาสิ่งทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
๓. การดำเนินงานตามรูปแบบการขับเคลื่อนการลดการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกร
๔. การประเมินผล
- ประเมินตัวชี้วัดเชิงปัจจัยนำเข้า (input)
- ประเมินตัวชี้วัดเชิงกระบวนการ (Process)
- ประเมินตัวชี้วัดเชิงผลลัพธ์ (output/outcome)
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
1 ข้อมูลทั่วไป
จากการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร พบว่า ลักษณะประชากรที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 53.33 อายุระหว่าง 31-45 ปี ร้อยละ 50.00 อายุเฉลี่ย 46 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 98.33 ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 60.00 มีอาชีพทำนาข้าว มากที่สุด ร้อยละ 91.67 ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ต่ำกว่า 7,000 บาท ร้อยละ 42.11 ร้อยละ 76.67 เกษตรกรมีวิธีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยฉีดสารเคมี มากที่สุดร้อยละ 82.50 และเกษตรกรมีเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดคือ อยู่ในบริเวณที่มีการฉีดพ่นหรือสัมผัสพืชที่ฉีดพ่น
2 ข้อมูลการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปฏิบัติตัวในขณะทำงาน
จากการตอบแบบสอบถามข้อมูลการใช้สารเคมี และการปฏิบัติตัวขณะทำงาน ของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 377 คน เพื่อประเมินพฤติกรรมเสี่ยงในภาพรวม พบว่า เกษตรกรมีพฤติกรรมสี่ยงอยู่ในระดับมาก มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 59.41 รองลงมา อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 40.05
เมื่อประเมินพฤติกรรมเสี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปฏิบัติตัวในขณะทำงาน รายข้อ ด้านพฤติกรรมการใช้การใช้สารเคมี พบว่า เกษตรกรมีการดื่มเหล้า/เบียร์/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณที่ทำงาน มากที่สุด ร้อยละ 57.56 รองลงมา เกษตรกรมีอาการผิดปกติหลังจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 57.03 และด้านพฤติกรรมการปฏิบัติตัว พบว่า เกษตรกรหลังเลิกการฉีดพ่นท่านเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีทันที ณ.จุดทำงาน มากที่สุด ร้อยละ 11.14 รองลงมา เมื่อเสื้อผ้าเปียกชุ่มสารเคมี ท่านอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายหลังเลิกงานทันที ณ.บริเวณที่ทำงาน ร้อยละ 10.88
3 ข้อมูลความเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการใช้หรือสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
จากข้อมูลความเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการใช้หรือสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ร้อยละ 67.82 และในส่วนที่มีอาการผิดปกติ ร้อยละ 32.18 จะมีอาการในกลุ่ม ระบบหายใจ ผิวหนัง และอาการอ่อนเพลีย เหงื่อออก ร้อยละ 87
4 ข้อมูลการตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรสในเลือดเกษตรกร
จากการตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรสในเลือดเกษตรกร มีจำนวนวัยแรงงานภาคเกษตรกรรมทั้งหมด 10,570 คน ได้รับการประเมินตามแบบประเมินความเสี่ยงในการทำงานของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด (นบก.1-56) จำนวน 5,959 คน คิดเป็นร้อยละ 56.38 ผลการคัดกรองระดับโคลีนเอสเตอเรสในเลือดเกษตรกร พบว่า เกษตรกรอยู่ในระดับเสี่ยง 1,060 คน คิดเป็นร้อยละ 36.25 และอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย จำนวน 432 คน คิดเป็นร้อยละ 14.77
5 ข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group)
จากการสนทนากลุ่มของเกษตรกรเพื่อลดการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อค้นหาสภาพปัญหาและหาทางเลือกและสารทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยการกลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน อสม. เกษตรตำบล ตัวแทนเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่แต่ละชนิด เช่น ข้าว อ้อย มันสำประหลัง ยางพารา และพืชอื่นๆ จำนวน 78 คน แบ่งกลุ่ม ออกเป็น 5 กลุ่ม
จากการสนทนากลุ่ม เกษตรกรได้ออกมาอภิปรายผล และร่วมกันสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา และร่วมกันจัดลำดับความสำคัญ ได้โครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จำนวน 7 โครงการ สรุปได้ ดังนี้
1. โครงการที่ชุมชน สามารถดำเนินการได้เอง ได้แก่
- โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชน ปิดป้ายรณรงค์
2. โครงการที่ชุมชนไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ ได้แก่
- โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตสารฆ่าหญ้า โดยใช้“น้ำหมักหน่อกล้วย” สารฆ่าเชื้อราโดยใช้“ไตรโคเดอมา”และสารฆ่าราโดยใช้“บิวเวอเรีย”
- โครงการจัดตั้งคลินิกสุขภาพเกษตรกร
- โครงการเฝ้าระวังสุขภาพโดยการเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อหาปริมาณสารเคมีในเลือด
- โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในร่างกาย
3. โครงการที่ชุมชนร่วมดำเนินการหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- โครงการกองทุนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในชุมชน
- โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ทุกตำบล
อภิปรายผล
จากผลการศึกษา การมีส่วนร่วมในการลดการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกพืชไร่ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการปฏิบัติตัวอยู่ในระดับเสี่ยงมากและอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง ขาดความตระหนักในการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง และชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายยังไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงต้องสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกรด้วยวิธีการ เช่น การจัดอบรม การประชาสัมพันธ์สอดแทรกความรู้ผ่านหอกระจายข่าว วิทยุท้องถิ่น และกิจกรรมที่ได้จากการมีส่วนร่วม ได้โครงการที่จะไปดำเนินงานต่อไป จำนวน 7 โครงการ โดยขอสนับสนุนงบประมาณโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบแผนพัฒนาสุขภาพ ตลอดจนการบูรณาการโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการทำงานในภาพของ DHS โดยบริหารจัดการตำบลบนหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม ดำเนินงานชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาตนเองช่วยเหลือเกื้อกูลคนชุมชน สร้างแกนนำส่งเสริมคนต้นแบบ จิตอสา ร่วมสร้างสุขภาพให้คนดอนจาน และบูรณาการสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อร่วมพัฒนาอำเภอดอนจาน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยดูจากการแสดงความคิดเห็น เสนอปัญหา จนได้แนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรูปแบบโครงการออกมา และการมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปฏิบัติตนเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไปในทางที่ดีขึ้น
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
ควรมีการประเมินผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการที่ได้จากการสนทนากลุ่ม |
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง
|
|
|
|
|