ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : มยุเรศ ห้วยทราย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ดรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธ์ุ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 600 ล้านคน จากการสำรวจพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยโดยกลุ่ม โรคหนอนพยาธิ สำนักงานโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ ปี พ.ศ.2552 พบว่าคนไทย 6 ล้านคน ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ ร้อยละ 8.7 ทั้งนี้พบการติดเชื้อสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 16.6 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำมูลจะมีอัตราการติดเชื้อสูงเกือบทุกจังหวัด สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์มีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ ร้อยละ 27.4 จากการตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิใบไม้ตับในปี พ.ศ.2557 พบว่าจังหวัดกาฬสินธุ์มีอัตราความชุกโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 22.3 สูงเป็นอันดับ 1 ของพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 7 ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ส่วนอำเภอห้วยผึ้ง พบอัตราความชุกโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 46.7 (เกษร แถวโนนงิ้ว. ภาพนิ่ง. 2558) จึงถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขของพื้นที่ จากรายงานการศึกษาของศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับซ้ำซากเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในผู้ป่วยมะเร็ง ท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิใบไม้ตับที่พบในบุคคลนั้นและความถี่หรือจำนวนครั้งที่ได้รับพยาธิใบไม้ตับนอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำออกไปตั้งแต่ 10 กิโลเมตร ขึ้นไปถึง 5 เท่า สถานการณ์โรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยพบเป็นมะเร็งท่อน้ำดีตับร้อยละ 70 เป็นมะเร็งเซลล์ตับร้อยละ 30 จังหวัดกาฬสินธุ์ มีอัตราตายสูงสุดจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นอันดับ 5 ของประเทศ ร้อยละ 50.9 ในปี พ.ศ.2554 จังหวัดกาฬสินธุ์ พบอัตราป่วยโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร้อยละ 50.68 ต่อประชากรแสนคน อัตราตายโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร้อยละ48.24 ต่อประชากรแสนคน อำเภอห้วยผึ้งพบอัตราป่วยโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร้อยละ 49.16 ต่อประชากรแสนคน พบอัตราตายโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร้อยละ 42.61 ต่อประชากรแสนคน (สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกาฬสินธุ์. 2557 : 5-6) จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกสุขอนามัย อย่างไรก็ตามหากเราสามารถทำให้ประชาชนรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค รับรู้ความรุนแรงของโรค และรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกสุขอนามัยและป้องกันการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีต่อไปได้ จากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ที่ใช้ในการทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคได้สรุปไว้ว่า การที่บุคคลมีการรับรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค รับรู้ความรุนแรงของโรค รับรู้ประโยชน์และอุปสรรคในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค จะส่งผลให้บุคคลนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องมากขึ้น ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมนั้นกล่าวว่า การสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและมีบทบาทอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมสุขภาพของบุคคลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากนำแนวคิดทั้งสองนี้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและวงจรคุณภาพในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับจะทำให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับได้  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ วัตถุประสงค์เฉพาะ 1. เพื่อเปรียบเทียบการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนการทดลองและหลังการทดลองในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ 2. เพื่อเปรียบเทียบการรับรู้ความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ก่อนการทดลองและหลังการทดลองในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ 3. เพื่อเปรียบเทียบการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนการทดลองและหลังการทดลองในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ประชาชนที่มีพฤติกรรมบริโภคปลาดิบ อายุ 35 ปี ขึ้นไป มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 35 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จากสูตรคำนวณขนาดตัวอย่าง สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ขนาดกลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ คำนวณโดยใช้สูตรคำนวณขนาดตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน ดังนี้ n/กลุ่ม = (2σ^2 〖(Z_α+Z_β)〗^2)/〖(μ_1-μ_2)〗^2 โดยที่ n= จำนวนกลุ่มตัวอย่างในแต่ละกลุ่ม σ2=ค่าความแปรปรวนร่วม Z_α=ค่าสถิติของการแจกแจงแบบปกติมาตรฐานที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % Z_β=ค่าสถิติของการแจกแจงแบบปกติมาตรฐานที่กำหนดอำนาจการทดสอบ μ_1=ค่าเฉลี่ยของคะแนนในกลุ่มทดลอง μ_2=ค่าเฉลี่ยของคะแนนในกลุ่มเปรียบเทียบ การคำนวณขนาดตัวอย่าง ใช้ผลการศึกษาของ บุรี ทิพนัส และประวัติบุญ โกมุด (2552 : 96-104) ซึ่งได้ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนกลุ่มลำน้ำชี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มทดลอง 30 คน หลังการทดลองในระยะติดตามผลพบค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9.3 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.51 และกลุ่มเปรียบเทียบ 30 คน ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 7.4 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.8 จากการศึกษาดังกล่าวสามารถแทนค่าได้ดังนี้ n/กลุ่ม = (〖2((2.8+1.51)/2)〗^2 (1.96+1.64)^2)/(9.3-7.4)^2 n/กลุ่ม = 21.9 จากการคำนวณขนาดตัวอย่างได้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 21.9 คน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง จึงใช้ขนาดกลุ่มตัวอย่างไม่น้อยกว่า 30 ตัวอย่าง(บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. 2551) ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงใช้ขนาดตัวอย่างกลุ่มละ 30 คน รวม 60 คน โดยเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มเปรียบเทียบอีก 30 คน  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ สื่อวีดีทัศน์เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับ ภาพนิ่ง เอกสารแผ่นพับ คู่มือ เกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับ และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ความตรงในด้านโครงสร้างและเนื้อหา การตรวจสอบความเที่ยง (Reliability) วิเคราะห์หาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ โดยการวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบัค ( Cronbach’s Alpha Coefficient ) แบบสอบถามทั้งฉบับได้เท่ากับ 0.85 แบบสอบถามประกอบด้วยข้อมูล 5 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปด้านลักษณะประชากร การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ การรับรู้ความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับ การรับรู้ถึงประโยชน์ของการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ และ พฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ขั้นตอนวิธีการรวบรวมข้อมูล 1. การเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนการทดลองในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบโดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแล้ว 2. การเก็บรวบรวมข้อมูลหลังการทดลองในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบโดยใช้แบบสอบถามเดิมที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนการทดลอง วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาใช้อธิบายข้อมูลทั่วไปนำเสนอด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ใช้ทดสอบสมมติฐานเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ย การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ภายในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนการทดลองและหลังการทดลองด้วยสถิติ paired t- test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนการทดลองและหลังการทดลองด้วยสถิติ Independent Sample t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05  
     
ผลการศึกษา : ผลการวิจัย 1. ข้อมูลทั่วไปด้านคุณลักษณะประชากรของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มทดลองส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 46-56 ปี รองลงมาอายุระหว่าง 57-67 ปี อายุเฉลี่ย 53 ปี สถานภาพสมรสคู่ ระดับการศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา รองลงมาระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน 5,100-10,000 บาท เคยตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิใบไม้ตับร้อยละ 96.67 พบไข่พยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 20.69 และมีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ ร้อยละ100 ส่วนใหญ่ได้รับทราบข้อมูล และความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. หลังการทดลอง กลุ่มทดลองรับทราบข้อมูล และความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับจาก แผ่นพับ หอกระจายข่าว ป้ายประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ผู้นำ และอื่นๆ ร้อยละ 100 กลุ่มเปรียบเทียบ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 46-56 ปี รองลงมา 35-45 ปี และ 57-67 ปี อายุเฉลี่ย 51.73 ปี สถานภาพสมรสคู่ ระดับการศึกษาสูงสุด ประถมศึกษา รองลงมามัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน ต่ำกว่า 5,000 บาท เคยตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 100 พบไข่พยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 36.67 มีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ ร้อยละ 100 รับทราบข้อมูลและความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับ จาก อสม. รองลงมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2. การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ก่อนทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับภายหลังการทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1 และข้อที่ 2 3. การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับภายหลังการทดลองเพิ่มขึ้น มากกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 4. การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ภายหลังการทดลองเพิ่มขึ้น มากกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1 และข้อที่ 2 5. การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับภายหลังการทดลองเพิ่มขึ้น มากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) อภิปรายผล จากผลการวิจัยจะเห็นว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับเพิ่มขึ้น มากกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ สอดคล้องกับสมมติฐานข้อที่ 1 และข้อที่ 2โดยพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ) เนื่องจากกลุ่มทดลองเกิดการเรียนรู้และพัฒนาระดับการรับรู้จากโปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นซึ่งจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เน้นให้กลุ่มทดลองมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกขั้นตอนของวงจรคุณภาพ PDCA ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การดำเนินงานตามแผน การประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากผู้ป่วยและญาติ ดูวิดิทัศน์ แจกคู่มือความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นสื่อในการเรียนรู้ประกอบการบรรยาย การสะท้อนความคิด การอภิปรายกลุ่ม การระดมความคิด การแสดงความคิดเห็น โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ความรู้ สาเหตุ การติดต่อ อาการ พยาธิสภาพ การรักษา การป้องกัน จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อหาแนวทางป้องกันและควบคุม การจัดทำแผนแก้ไขปัญหา การประกาศพันธะสัญญา เราจะเลิกกินปลาดิบ มีการกระตุ้นเตือน และติดตามเยี่ยมกลุ่มทดลองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และผู้นำชุมชน ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ ทางหอกระจายข่าว มีป้ายประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน เกิดเป็นกระแสการรณรงค์ เลิกกินปลาดิบในชุมชนเป็นไปตามทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมและทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงของหมู่บ้านในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ สอดคล้องกับการศึกษาของ ณัฐดนัย จันทา ที่พบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีการรับรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค และการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส ของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ และสอดคล้องกับการศึกษาของ ศิวัชญ์ ทองนาเมือง ได้ศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีในนักเรียนประถมศึกษา อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่ากลุ่มทดลอง มีการรับรู้ประโยชน์ อุปสรรคของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะการนำผลการวิจัยไปใช้ โปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ใช้กระบวนการกลุ่มในการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนมีการรับรู้พฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับโดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมโปรแกรมมีส่วนร่วมทุกกิจกรรมทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาระดับการรับรู้เพิ่มขึ้นตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากผู้เกี่ยวข้องในชุมชน ทำให้โปรแกรมนี้ใช้ได้ผลกับประชาชนในอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดังนั้นหากจะนำโปรแกรมนี้ไปใช้การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบควรประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป ข้อเสนอแนะการวิจัยครั้งต่อไป 1. ควรนำโปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ไปประยุกต์ใช้เพื่อขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป 2. ควรศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศึกษาถึงพฤติกรรมของประชาชนในระยะยาว 6 เดือนหรือ 1 ปี ต่อไปว่าโปรแกรมนี้ทำให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคปลาดิบสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลิกบริโภคปลาดิบได้หรือไม่ เพื่อทราบประสิทธิผลและความยั่งยืนของการใช้โปรแกรมการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการรับรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ในการนำไปพัฒนาใช้ในระดับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป 3. ควรทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)