ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน บ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกุงศรี อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : มัณฑนา ตรีภพ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาของสาธารณสุขทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับอวัยวะที่สำคัญๆ ของร่างกายตามมา เช่น ไต หัวใจ สมอง และระบบประสาทส่วนปลาย ความพิการขึ้นทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น เป็นต้น เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในครอบครัว เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้ดูแลต้องเสียเวลาทำงานเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานทำให้ขาดรายได้ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว รวมทั้งประเทศชาติต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลและใช้บุคลากระทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก(กรมการแพทย์, 2557) และโรคเบาหวานยังเป็นโรคที่กำลังจะมีแนวโน้มการคุกคามสุขภาพของคนไทยเพิ่มมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการรับประทานอาหารที่เน้นความง่าย สะดวก สบายและรวดเร็ว ขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งยังมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยทุ่นแรงทำให้มนุษย์มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่งในสังคมทั้งชุมชนเมืองและชนบทนั้นยังทำให้มนุษย์หันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองน้อยลงจึงก่อให้เกิดโรคโรคเบาหวาน (สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, 2557) รายงานสถิติจากสหพันธ์เบาหวานโลกในปี 2558 นี้ พบว่า 1 ใน 11 ของประชาชนในวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ยังมีการทำนายล่วงหน้าอีกว่า 25 ปีข้างหน้าจะสามารถพบผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ 1 ใน 10คนของประชากรวัยผู้ใหญ่ และทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 415 ล้านคนเป็น 642 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2583(สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, 2558) สถิติการเสียชีวิตของประชากรโลกในปี 2005 ที่ผ่านมาพบว่า 1.3 ล้านคนหรือ ประมาณ 4% ของการเสียชีวิตนั้นมาจากโรคเบาหวาน และจากสถิติการตรวจสุขภาพประจำปีของคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2551 – 2552 พบความชุกของโรคเบาหวานเป็นร้อยละ 6.9 และยังพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมาก่อน และมีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานแต่ยังไม่ได้เข้าระบบการรักษาสูงถึง ร้อยละ 3.3 ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการสำรวจข้อมูลของประชากรวัยผู้ใหญ่ในประเทศไทย พบว่า ประชากรกว่า 3.2 ล้านคนหรือประมาณ 6.9 % มีภาวะนี้ตาลในเลือดสูงโดยยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะ ผู้ชายที่พบได้มากถึง 56.7 % (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2552) และผลการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรอายุ 35 ปี ขึ้นไป พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 300,000 คน พบผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ เสี่ยงจะป่วยอีก 2.4 ล้านคน และพบผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว รวม 176,000 คน (ไตเสื่อม 96,000 คน มีปัญหาทางตา 50,000 คน และมีอาการชาที่เท้า/หรือเท้าเป็นแผล 30,000 คน) ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีจากการสำรวจทางระบาดวิทยาพบว่าปี ค.ศ. 2000 มีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 171 ล้านคน และคาดการณ์ว่าปี ค.ศ. 2010 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มเป็น 221 ล้านคน และเพิ่มเป็น 366 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2030 (World Health Organization, 2006 อ้างถึงใน หงส์สกุล เกษมจิต, 2551) โดยมีอัตราชุกของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานทั่วโลกประมาณร้อยละ 4.5 และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 ในปีพ.ศ. 2030 (Wild et al, 2004 อ้างถึงใน วิลาวัณย์ ชมนิรัตน์, 2551) จากสถิติการเปรียบเทียบจำนวนและอัตราตายของผู้ป่วยเบาหวานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2556 พบว่า จำนวนผู้ป่วยจากทั่วประเทศมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยจาก 7,625, 7,749, 9647 คน ตามลำดับ ในขณะเดียวกันกลับพบว่ามีอัตราการตายเพิ่มมากขึ้นจาก 11.88, 12.06, 14.93 ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลของเขตส่งเสริมสุขภาพที่ 7 ซึ่งมีจำนวนและอัตราการตายของผู่ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี จากจำนวน 1,764 ,1,610, 1,923 คน ตามลำดับ และอัตราการตายก็พบว่าเพิ่มขึ้นตามลำดับคือ 35.30, 31.42, 38.2 ตามลำดับ และรายงานสถิติข้อมูลผู้ป่วยเบาหวานในจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มีความสอดคล้องกับข้อมูลในระดับเขตและระดับประเทศ คือ มีจำนวนผู้ป่วย 318, 309, 420 คน ตามลำดับ และอัตราการตาย 32.88, 31.42, 42.66 (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2556) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยโรคเบาหวานจากรายงานสรุปการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวานในภาพรวมของจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอหนองกุงศรีพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีของจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอหนองกุงศรี คือ ร้อยละ 40 และ 22.72 ตามลำดับ และจากข้อมูลการตรวจระดับ HbA1c ของจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอหนองกุงศรี พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการตรวจ HbA1c มีค่าน้อยกว่า 7 คิดเป็นร้อยละ 5 และ 16.45 ตามลำดับ (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2556) จากสถานการณ์โรคเบาหวานที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นกระทรวงสาธารณะสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่เกิดจากโรคเบาหวานที่เป็นปัญหาระดับต้นๆของประเทศ จึงได้จัดทำแผนเบาหวานแห่งชาติเพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินงานอย่างชัดเจนทั้งนโยบายระดับชาติ ระดับปฏิบัติการส่วนภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ให้สามารถนำแผนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีระยะในการดำเนินงาน 10 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2559 ซึ่งสาระสำคัญของแผนเบาหวานแห่งชาติมียุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนระบบบริการให้มีความครอบคลุมและผู้รับบริการสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานในเรื่องของการป้องกัน ควบคุม และการจัดการโรคเบาหวาน สนับสนุนให้มีโครงการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานในชุมชน(สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, 2550) ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญของการจัดการโรคเบาหวานนั้น คือ การคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ๆ ให้พบตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรกของโรคและให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต่อไป(สุพรรณ ศรีธรรมมา, 2557) ซึ่งผู้ป่วยนั้นจะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีความรู้ในการดูแลตนเองต่อเนื่องที่บ้านได้ นอกจากในส่วนของผู้ป่วยเอง ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย การปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับโรครวมไปถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อการควบคุมป้องกันโรคตามบริบทชุมชนของผู้ป่วย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชนและมีระบบเชื่อมโยงที่สนับสนุนการดูแลตนเองที่บ้านและในชุมชนอย่างเด่นชัดเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่ดีขึ้น(วิมลรัตน์ ภู่วราวุฒิพานิช, 2550 และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, 2557) การดำเนินงานด้านการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของคปสอ.หนองกุงศรีและรวมทั้งโรพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮนั้นมีนโยบายเพื่อลดการแออัดของผู้ป่วยโรคเบาหวานในโรงพยาบาลชุมชน ลดค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยจากบ้านไปยังโรงพยาบาลชุมชนในรายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตามได้ดีและยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้ผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน โดยได้มีการกำหนดเกณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านได้จะต้องอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และขึ้นทะเบียนจากโรงพยาบาลหนองกุงศรี สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จึงจะส่งตัวไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านซึ่งให้บริการโดยพยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามารถปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ตลอด หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน และผู้ป่วยที่รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้นจะได้รับการตรวจประเมินและให้การรักษาโดยแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และได้รับการตรวจสุขภาพคัดกรองภาวะแทรกซ้อนปีละ 1 ครั้ง คือ ตรวจน้ำตาลในหลอดเลือด ตรวจไขมันในหลอดเลือด ประเมินการทำงานของไต ตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตา ตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางเท้า(คณะกรรมการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอหนองกุงศรี, 2557) การจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮ ผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮนั้นมีทั้งหมด 82 คน และหมู่บ้านที่จะทำการศึกษาในครั้งนี้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 23 คน คิดเป็น ร้อยละ 28.05 ของผู้ป่วยทั้งหมดซึ่งการให้บริการแบบเดิมนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในคลินิกโรคเบาหวานในสถานบริการมีพยาบาลวิชาชีพ 1 คน และมีคลินิกเดือนละ 1 ครั้ง เฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยกิจกรรมในวันคลินิกโรคเบาหวาน คือ จะมีการเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและวัดความดันโลหิตให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานตั้งแต่เช้ามืดประมาณ 05.00 น – 06.00 น. ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจะเดินทางมารออยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮโดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ให้บริการในตอนเช้าของวันที่มีคลินิก และหลังจานั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจะรับประทานข้าวต้มที่ทางเจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ บางวันข้าวต้มหมดคนท้ายๆจะไม่ได้กินและบางคนไม่ชอบในรสชาติอาหารก็จะอดข้าวกลับไปกินที่บ้านของตนเอง จากนั้นจะเป็นการตรวจรักษา ให้สุขศึกษารายบุคคลตามอาการในแต่ละครั้งไป จ่ายยาให้กับผู้ป่วยโดยพยาบาลวิชาชีพที่รับผิดชอบงานควบคุมป้องกันโรคเรื้อรังและเจ้าหน้าที่ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แล้วผู้ป่วยก็เดินทางกลับบ้าน โดยมีการนัดรับยาอีกครั้งตอน 1 หรือ 2 เดือน แล้วแต่อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในแต่ละบุคคล ผู้ให้บริการจะไม่ได้ให้สุขศึกษาหรือพูดคุยกับญาติผู้ป่วยเพราะผู้ป่วยบางรายก็เดินทางมารับยาด้วยตัวเอง บางคนญาติมาส่งไว้ที่รพ.สต.แล้วก็เดินทางกลับบ้านไปเพื่อทำงานหารายได้แล้วค่อยมารับผู้ป่วยอีกทีตอนใกล้ๆเที่ยง บางรายญาติพามารับยาแต่ไปนั่งรอผู้ป่วยบนรถหรือรออยู่ด้านนอก ส่วนผู้ป่วยขณะที่มารับยาและพบเจ้าหน้าที่และตอนที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่บ้านจะมีความแตกต่างกันมากเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานมานานหลายปี ได้รับความรู้มามาก จำได้บ้าง ไม่ได้บ้างแล้วแต่ความสามารถและความตระหนักของแต่ละบุคคล และในแต่ละปีจะมีการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนโดยมีการตรวจตา ตรวจเท้าและตรวจเลือดตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอหนองกุงศรี จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมีการออกติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและในผู้ป่วยที่มีอาการไม่คงที่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ในการเยี่ยมบ้านยังไม่ครอบคลุมและครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องในชุมชนรวมทั้งภาวะงานด้านอื่นๆที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนมากเจ้าหน้าที่จะมีผู้ที่คอยช่วยเหลือในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน คือ อสม.ที่จะคอยเยี่ยมบ้านและส่งต่ออาการผู้ป่วยให้กับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบข้อมูลผู้ป่วย แต่เนื่องจากอสม.ยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและไม่สามารถประเมินอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ อีกทั้งในเรื่องของส่วนท้องถิ่นยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลตำบลคำก้าวเพื่อบริหารจัดการด้านการควบคุมป้องกันโรคเรื้อรังในแต่ละปี ส่วนมากจะเป็นงบประมาณด้านการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง ยังไม่มีการสนับสนุนในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกุล่มผู้ป่วยและสถานที่สำหรับออกกำลังกายที่เป็นกิจจะลักษณะและเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้านการส่งต่อผู้ป่วยจะมีแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยของ คปสอ.หนองกุงศรี ที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งอำเภอ ส่วนมากการส่งต่อผู้ป่วยจะกระทำโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์ติดต่อประสานงานกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานโรคเบาหวานแล้วเขียนอาการและประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตนเอง แต่ส่วนมากผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลสูงที่สมควรได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลจะปฏิเสธการไปโรงพยาบาลเนื่องด้วยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลคนไข้เยอะ รอนาน และมีภาวะหน้าที่ต้องรับผิดชอบที่บ้านและผู้ป่วยปฏิเสธว่าไม่มีอาการผิดปกติไม่อยากไปโรงพยาบาล จากการสุ่มสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตพื้นที่ชุมชนบ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 จำนวน 12 คน จากที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 23 คน คิดเป็นร้อยละ 52.17 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยขาดการรับยา 2 คน คิดเป็นร้อยละ 8.70 ผู้ป่วยสูบบุหรี่ 3 คน คิดเป็นร้อยละ 13.04 ผู้ป่วยดื่มสุรา 2 คน คิดเป็นร้อยละ 8.70 ผู้ป่วยดื่มกาแฟ – โอวัลติน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 17.39 เรื่องเกี่ยวกับความรู้ของผู้ป่วยพบว่าส่วนมากผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวาน โดยได้คะแนนรวม ร้อยละ 80 ขึ้นไป มี 8 คน คิดเป็นร้อยละ 34.78 และมีผู้ป่วยที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่าร้อยละ 80 มี 4 คน คิดเป็นร้อยละ 17.39 แต่บางส่วนไม่ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันของโรคเบาหวาน คือ ร้อยละ 58.33 ไม่ทราบว่าการหมดสติจากภาวะ Hypo – Hyperglycemia เป็นภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าโรคเบาหวานสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้นอกจากกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยร้อยละ 50 ตอบว่าไม่จำเป็นต้องทราบชื่อ การออกฤทธิ์และอาการข้างเคียงของยาเบาหวานที่รับประทานอยู่ทุกวัน และผู้ป่วยร้อยละ 50 ตอบว่าสามารถหยุดยาได้เองเมื่อมีอาการดีขึ้น จากการสัมภาษณ์และสังเกตเพิ่มเติมยังพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมทั้งประชาชนในเขตพื้นที่บ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 ขาดการออกกำลังกายและไม่มีสถานที่สำหรับออกกำลังกายที่เหมาะสมและจากการศึกษาชุมชนโดยใช้ Wheel Model ยังพบว่าในชุมชนแห่งนี้มีบุญประเพณีที่ต้องมีการกินเลี้ยงสังสรรค์ด้วยอาหารหวาน มัน รวมทั้งขนมหวานที่มีการทำอยู่เป็นประจำในประเพณีและความเชื่อทางศาสนาซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีบทบาทที่สำคัญในการทำบุญประเพณีต่างๆและเวลารวมตัวกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกันซึ่งอาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เช่น แกงกะทิ แกงเขียวหวาน ขนมจีนนำยากะทิ ส้มตำ แจ่วบอง(ปลาร้าทรงเครื่อง) ของหวาน ขนมหวานต่างๆ เป็นต้น จากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตพื้นที่บ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 23 รายและผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้อยู่ในระดับดีมีน้อยมาก จากการรวบรวมข้อมูลการตรวจระดับ HbA1c ปี 2556 – 2558 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนบ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 ที่มีระดับ HbA1c > 7 ร้อยละ 88.89, 83.33, 100.00 ตามลำดับ แต่ข้อมูลการเจาะระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วในการรับยาแต่ละเดือนในคลินิกโรคเบาหวานนั้นกลับมีค่าอยู่ในช่วง 130 – 180 mg% และพบว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนทางตา 2 ราย แทรกซ้อนทางไต 2 ราย และแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลายอีก 2 ราย (รายงานข้อมูลผู้ป่วยเบาหวาน รพ.สต.บ้านคำไฮ, 2558) และจากการสอบถามความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านและในชุมชนของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้อง จากปัญหาของผู้ป่วยโรคเบาหวานในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮที่มีมานานและมีการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่มาหลายรูปแบบ เช่น การอบรมอสม.เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถให้การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน แต่เนื่องด้วยมีการอบรมตัวแทนอสม.หมู่บ้านละ 3 คน จึงทำให้อสม.ไม่ได้รับการอบรมครบทุกคนและยังมีการสับเปลี่ยนตัวของอสม.ภายในหมู่บ้านและการลาออกของอสม.บางส่วนทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนขาดการต่อเนื่องไป และในการแก้ปัญหาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของชุมชนยังไม่มีการนำเอาทุนทางสังคมของชุมชนที่จำเป็นเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ป่วย คณะผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน ประชาชนทั่วไปและการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังขาดการต่อเนื่องในการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน จากปัญหาที่พบในชุมชนบ้านคำไฮดังที่ได้กล่าวมานั้นผู้ศึกษาจึงคิดว่าการที่สะดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้นจำเป็นที่จะต้องมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาตั้งแต่ผู้ดูแลหลักในครอบครัว อสม.ที่รับผิดชอบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คณะผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของเทศบาลที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานร่วมด้วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากรพ.สต.บ้านคำไฮที่เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง เป็นต้น จากการทบทวนผลของการศึกษาวิจัยที่มีการใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนทำให้พบว่าการที่สนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ปัญหา วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา วางแผนการดำเนินงาน ปฏิบัติร่วมกัน จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีมากกว่าผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพียงสองคน ดังนั้นผู้ศึกษาจึงใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนมาเป็นเครื่องมีสำคัญในการแก้ไขปัญหา การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนบ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกุงศรี อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของรพ.สต.บ้านคำไฮและเป็นหมู่บ้านที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อยที่สุดโดยคิดจากค่า FBS และ HbA1c. ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้นทำให้ผู้ศึกษาได้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีและเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในชุนชนบ้านคำไฮ หมู่ 8 ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ 2. เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านคำไฮ หมู่ที่ 8 ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่อยู่ในเขตพื้นที่บ้านคำไฮ ม.8 จำนวน 23 คน, ผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 23 คน, อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 13 คน  
เครื่องมือ : 1. การสัมภาษณ์เชิงลึก(สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ) 2. การสนทนากลุ่ม(สำหรับผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเบาหวานและอาสาสมัครสาธารณสุข)  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ขั้นตอนการวางแผน (Plan) หลังจากที่ได้ทำการศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน และได้ประเด็นปัญหาและสาเหตุของปัญหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ศึกษาได้ดำเนินการนำเสนอข้อมูลต่อชุมชนเพื่อชี้แจงข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชุมชนให้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ญาติผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อสม. คณะผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลคำก้าว ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำไฮ ผู้ศึกษาได้นำเสนอข้อมูลสถิติโรคเบาหวาน สถานการณ์โรคและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชนและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการพัฒนา และได้มีการระดมความคิดร่วมกันวางแผนพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน และหลังจากนั้นจะร่วมตัดสินใจในการเลือกแนวทางและวิธีการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน 2. ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ (Do) เป็นขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ซึ่งเป็นขั้นตอนการลงมือปฏิบัติตามแผนที่ได้วางเอาไว้ โดยดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดได้มีการทดลองปฏิบัติ สะท้อนการปฏิบัติและปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมหรือมีส่วนบกพร่องเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด และดำเนินการติดตามประเมินผลหลังเสร็จสินกิจกรรมในขั้นตอนนี้จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การเรียนรู้และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 3. ขั้นการประเมินผล (Check) ผู้ศึกษาและชุมชนร่วมกันประเมินผลภาพรวมของการดำเนินงาน ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วนั้นว่าได้ผลตามที่ความหวังไว้หรือไม่ 4. ขั้นตอนการปรังปรุงแก้ไข (Action) เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีปัญหาหรือความผิดพลาดแล้วลงมือแก้ไข ซึ่งในขั้นนี้อาจพบว่าประสบความสำเร็จหรือพบข้อผิดพลาดอีกด้วย ต้องตรวจสอบเนื้อของงานเพื่อหาทางแก้ไขและประเมิน วิเคราะห์ว่ามีโครงสร้างหรือขั้นตอนใดที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดหรือพัฒนาสิ่งที่ดีแล้วไห้ดียิ่งขึ้นไป จึงเป็นกระบวนการที่ไม่มีการหยุดนิ่งเป็นการพัฒนางานให้ดียิ่งๆขึ้นอย่างยั่งยืน  
     
ผลการศึกษา : สรุปและอภิปรายผล 1. สถานการณ์ปัญหาของผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน 1.1 ข้อมูลทั่วไปและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 23 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 78.3 มีอายุอยู่ในช่วง 60 – 69 ปี ร้อยละ 52.2 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ปี สถานภาพคู่ ร้อยละ 73.9 จบการศึกษาสูงสุดชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 100 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 82.6 รายได้ต่ำสุด น้อยกว่า 2,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.3 รายได้สูงสุด รายได้ต่อเดือนของครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณมากกว่า 4001 - 5,000 บาท ขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคเบาหวานอยู่ในช่วง 5 – 10 ปี ร้อยละ 60.9 พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ไม่มีโรคแทรกซ้อน คิดเป็นร้อยละ 73.9 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดครั้งล่าสุดอยู่ในช่วงมากกว่า 181 mg.% ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 34.8 ดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 25.0 – 29.9 คิดเป็นร้อยละ 47.8 ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ใช้ยาลดน้ำตาลชนิดเม็ด จำนวน 2 ชนิดขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 65.2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 87.0 และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ดื่มสุรา คิดเป็นร้อยละ 82.6 และจากการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับโรคเบาหวาน 1.2 ปัญหาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่บอกว่าโรคเบาหวานต้องกินยารักษาตลอดชีวิตแต่มี 2 คนบอกว่าสามารถรักษาหายได้ มีผู้ป่วย 10 คนไม่กลัวอันตรายที่เกิดจากโรคเบาหวานเพราะเป็นมาตั้งหลายปีไม่เห็นมีอาการผิดปกติอะไร การรับประทานยาและการรับบริการตามนัด มีผู้ป่วย 5 คนที่บอกว่าลืมรับประทานยาบ่อยครั้งโดยเฉพาะยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหารจนทำให้ยาเหลือมากกว่าตัวอื่นๆ และมีผู้ป่วย 3 คน กินยาทันทีที่นึกได้ว่าลืม อีก 2 คนไม่กิน รอกินพร้อมวันถัดไป บางคนยาไม่พอก็ไปขอยาจากเพื่อนบ้านที่เป็นโรคเบาหวานเหมือนกันและได้รับประทานยาชนิดเดียวกันมารับประทานต่อเนื่องจนถึงวันนัดครั้งต่อไป ผู้ป่วย 2 คน บอกว่าอ่านวันนัดและฉลากยาไม่ออกสายตาไม่ค่อยดีจำลักษณะของซองยาเอาว่าเป็นอย่างไรแล้วค่อยกินถูก บางครั้งมีอาการมือสั่นและยาก็เม็ดเล็กทำให้เม็ดยาหลุดมือหายเลยต้องแกะกินเม็ดใหม่ทำให้ยาไม่พอกินถึงวันนัด บางคนเดินทางไปต่างถิ่นลืมเอายาไปกินด้วยทำให้ไม่ได้กินยาไปหลายวันการไปรับยาตามนัด พบว่าผู้ป่วย 7 คน บอกว่ามักจะลืมวันนัดเพราะหลงลืมและอ่านหนังสือลำบากเจ้าหน้าที่เขียนวันนัดในสมุดตัวเล็กและเขียนไม่ชัดเจน บางครั้งถ้าลูกหลานไม่ดูให้ก็ลืมวันนัดไปบ้าง บางครั้งเขียนวันนัดใส่ปฏิทินไว้ดูลูกหลานก็ฉีดปฏิทินออกก็ลืมวันนัดอีก บางครั้งลืมวันนัดรับยาตื่นเช้าขึ้นมาก็กินข้าวกินยาเลยไม่ได้ไปเจาะเลือดที่รพ.สต. พอเลยวันนัดไปแล้วก็ไม่กล้าไปขอยากับเจ้าหน้าที่เพราะกลัวโดนด่าว่ามาไม่ตรงนัด การมารับยาและรับบริการที่สถานพยาบาลส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาเองด้วยการเดินมา มี 2 คนบอกว่าปั่นจักรยานมา และ มี 4 คน เดินไม่สะดวกต้องให้ลูกหลานมาส่ง การออกกำลังกายผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการทำงาน ทำไร่ ทำสวนก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอีก มีผู้ป่วย 3 คนบอกว่าตนออกกำลังกายโดยการเตะขาแกว่งแขนแต่ใช้เวลาในการออกกำลังกายไม่ถึง 30 นาทีและไม่มีเหงื่อออกและไม่มีการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่บอกว่าตนเองไม่มีเวลาออกกำลังกายและไม่รู้ว่าจะออกกำลังกายแบบไหน ผู้ป่วย 1 คนบอกว่าบางวันก็คิดเรื่องโรคที่ตนเองเป็นอยู่ว่าวันไหนจะหาย วันไหนจะได้เลิกกินยา กินยามากๆกลัวไตวาย คนอื่นๆก็ค่อยๆตายไปทีละคนๆ ผู้ป่วยเบาหวาน 3 คน สูบบุหรี่เป็นประจำประมาณวันละ 4 – 20 มวน และไม่คิดว่าการสูบบุหรี่จะมีผลกระทบต่อโรคเบาหวาน และมีผู้ป่วย 2 คน ดื่มสุราเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 1 – 2 แก้ว 1.3 การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ในครอบครัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ผู้ดูแลคือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยมีความสัมพันธ์เป็นบุตรและคู่สมรส โดยมีส่วนในการดูแลผู้ป่วย คือ 1) การประกอบอาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน 2) การพาไปรับบริการที่สถานบริการ 3) การกระตุ้นเตือนผู้ป่วยในการรับประทานยาและการไปรับบริการตามนัด พบว่า ผู้ดูแลส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ไม่มีการประกอบอาหารที่เหมาะสมกับโรคให้ผู้ป่วยรับประทาน ส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรับรู้ในเรื่องการรับประทานยาและการรับบริการตามนัดเพราะผู้ป่วยจะเป็นผู้ปฏิบัติเองทั้งหมด มีเพียง 4 คน ที่คอยรับ-ส่งผู้ป่วยในการรับบริการ ผู้ป่วยทุกคนไม่เคยได้รับการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน อสม.และผู้นำชุมชนไม่เคยรับทราบสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชนและไม่เคยได้รับการอบรมเรื่องโรคเบาหวานและอสม.บางคนมีการเยี่ยมผู้ป่วยอย่างไม่เป็นทางการ การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน มีอสม. 3 คน ที่เคยผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติ 1.4 ระบบบริการในคลินิกโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องอดน้ำอดอาหารเพื่อรอรับบริการแต่เช้าของวันนัดและต้องรอเจ้าหน้าที่เพื่อรับบริการ ระยะเวลาในการรับบริการในวันคลินิกประมาณ 5-6 ชั่วโมง และเมื่อเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลมาถึงก็จ่ายยาแล้วกลับบ้านไม่มีกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ไม่มีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและแนวทางการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทั้งมีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง 2. การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ได้มีการจัดกิจกรรม ดังนี้ 2.1 จัดการอบรมเชิงปฺฏิบัติการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน สาเหตุ อาการและอาการแสดง ภาวะแทรกซ้อน การประเมินอาการและการดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนและการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานในช่วงเช้าและช่วงบ่ายจัดกิจกรรมสาธิตการบริหารร่างกายด้วยท่าฤๅษีดัดตน 15 ท่า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสมและผู้ดูแลสามารถดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 44 คน ประกอบด้วยผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 22 คน ผู้ดูแล 18 คน และผู้สนใจเข้าร่วมอีก 4 คน กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อยู่ในช่วง 70 – 130 mg% ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนและผู้ดูแลสามารถดูแลสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม 2.2 กิจกรรมอบรมเชิงปฺฏิบัติการการสาธิตการประกอบอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีการให้ความรู้เรื่องอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล บอกปริมาณน้ำตาลที่สามารถรับประทานได้ในแต่ละวัน การบอกถึงข้อดีข้อเสียของและปริมาณที่เหมาะสมในการใช้เครื่องปรุงรสและสาธิตการประกอบอาหารพื้นบ้านที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ คือ ส้มตำ แกงหวาย นึ่งปลาและผักลวก จากนั้นมีการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับรู้วิธีการประกอบอาหารและรสชาติของอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีผู้เข้าร่วมการอบรม 45 คน ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 22 คน ผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 21 คน และประชาชนทั่วไปจำนวน 2 คน 2.3 กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของอสม.และผู้นำชุมชนในการดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน โดยในช่วงเช้ามีการอบรมให้ความรู้เรื่องสถานการณ์โรงเบาหวานในชุมชน สาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน การดูแลช่วยเหลือและประเมินอาการของผู้ป่วยแก่อสม.และผู้นำชุมชนและในช่วงบ่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและการวัดความดันโลหิตแก่อสม. กิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 15 คน มีเป้าหมายเพื่อให้อสม.และผู้นำชุมชนสามารถประเมินอาการและดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชนได้อย่างเหมาะสม 2.4 การพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยในคลินิกโรคเบาหวานของสถานบริการ ก่อนวันนัดเจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือประชาสัมพันธ์การรับยาของผู้ป่วยโรคเบาหวานถึงผู้ใหญ่บ้านและมีการจัดเตรียมยาไว้สำหรับผู้ป่วยที่นัดรับยาโดยมีการเขียนการใช้ยาและวันนัดรับยาไว้บนถุงยาด้วยปากกาเคมีทำให้เห็นชัดเจน พอถึงวันนัดตอนเช้า เวลาประมาณ 06.00 – 07.00 น. จะมีกิจกรรมการประเมินอาการเบื้องต้นให้แก่ผู้ป่วยโดยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและการวัดความดันโลหิตที่สุขศาลาของหมู่บ้านโดยการปฏิบัติงานของอสม.ในความกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ หลังจากรับบริการที่สุขศาลาผู้ป่วยก็จะกลับไปรับประทานอาหารที่บ้านแล้วเตรียมตัวไปรับบริการที่รพ.สต. กิจกรรมในรพ.สต.ในระหว่างการรอรับยานั้นเจ้าหน้าที่จะมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การใช้ยาเบาหวานชนิดต่างๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การดูแลเท้า การบริหารร่างกายและกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ป่วยคนอื่นๆสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี เป็นต้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆในแต่ละเดือน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสมสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และลดระยะเวลาในการรับบริการรวมถึงผู้ป่วยไม่ต้องอดน้ำอดอาหารเป็นเวลานานๆ 2.5 กิจกรรมการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่และอสม.จะมีการออกติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชนทั้งมีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามแนวทางการเยี่ยมบ้านที่ได้จัดทำขึ้น คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนต้องได้รับการเยี่ยมบ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือออกจากโรงพยาบาลต้องได้รับการเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไปจนกว่าอาการจะดีขึ้นและเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้งเหมือนกันผู้ป่วยคนอื่นๆ มีเป้าหมายเพื่อการติดตามประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วยและญาติหลังจากจัดกิจกรรมไปแล้วและให้คำแนะนำในส่วนที่มีปัญหาการปฏิบัติตัว โดยในการศึกษาครั้งนี้มีการเยี่ยมบ้านทั้งหมด 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เป็นการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินสภาพทั่วไปของผู้ป่วย ความเป็นอยู่และการปฏิบัติตัวขณะอยู่ที่บ้านรวมถึงเป็นการประเมินทบทวนความรู้ที่ได้จากการอบรมว่าผู้ป่วยและญาติปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ และติดตามให้ความรู้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เข้าร่วมการอบรมที่จัดขึ้น ครั้งที่ 2 เป็นการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินผลจากการอบรมให้ความรู้เชิงวิชาการ ปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิบัติพร้อมทั้งร่วมกันหาแนวทางในหารแก้ไขปัญหา ครั้งที่ 3 เป็นการติดตามเยี่ยมบ้านตามแนวทางการเยี่ยมบ้านและติดตามผลระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ครั้งที่ 4 ติดตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายรวมถึงการติดตามระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ของผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมถึงการประเมินผลการดำเนินโครงการและข้อเสนอแนะจากผู้ป่วยและญาติ หลังจากการดำเนินโครงการ 3. การประเมินผลการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน 3.1 การประเมินผลในภาพรวม จากการสัมภาษณ์และการสังเกต พบว่า ผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวานมากขึ้นและสามารถปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับโรคได้ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล พึงพอใจในบริการในคลินิกโรคเบาหวานของสถานบริการ ผู้ดูแล อสม.และผู้นำชุมชนสามารถดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชนได้ เจ้าหน้าที่และอสม.มีแนวทางในการเยี่ยมบ้านและการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชน 3.2 การประเมินผลลัพธ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนทำการศึกษา คือ มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) ลดลงจากเดิมจำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.61 และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสะสม (HbA1C) ลดลงจากเดิมจำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.30 การอภิปรายผล 1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากการศึกษาสถานการณ์ในชุมชนพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้รับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อน แนวทางการรักษา การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่ปฏิบัติตาม และยังขาดทักษะในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับโรคเบาหวานทั้งด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหารและการประกอบอาหารที่ไม่เหมาะสมกับโรค ผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารตามใจปากและไม่ควบคุมอาหารซึ่งบางคนก็ไม่สามารถประกอบอาหารรับประทานเองได้ต้องให้ผู้ดูแลเป็นผู้ประกอบอาหารให้และไม่มีการจำกัดปริมาณของการปรุงอาหาร ยังประกอบอาหารที่มีรสหวาน มัน อยู่เป็นปกติ และผู้ป่วยก็ชอบรับประทานข้าวเหนียวกับผลไม้สุกซึ่งมีรสหวานมาก จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงได้มีการวางแผนและร่วมกันจัดกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน การปฏิบัติตัวและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับโรค การออกกำลังกายที่เหมาะสมและการแนะนำให้ผู้ป่วยใช้แบบบันทึกการรับประทานอาหารเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับโรค เมื่อผู้ป่วยได้เห็นถึงผลของการรับประทานอาหารต่อระดับน้ำตาลในเลือดแล้วผู้ป่วยมีการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน น้อยลงหรือไม่รับประทานเลย ในงานบุญต่างๆที่เคยรับประทานของหวาน น้ำอัดลม หรือขนมเทียนที่ทำในงานบุญก็รับประทานน้อยลง และพยายามหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนอื่นๆที่ร่วมวงกันรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน ส่วนคนที่ประกอบอาหารรับประทานเองนั้นมีการใช้เครื่องปรุงรสที่มีผลต่อระดับน้ำตาลน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อให้ลดลงจากก่อนการศึกษาได้ถึงแม้บางคนจะมีระดับน้ำตาลลดลงไม่ได้ถึงระดับที่ควบคุมได้ดี แต่ก็ลดลงจากก่อนการศึกษาและผู้ป่วยยังมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมโดยการปฏิบัติตามท่าการบริหารของฤๅษีดัดตน 15 ท่า ตามที่เจ้าหน้าที่สาธิตและฝึกปฏิบัติไป บางคนจำได้ไม่หมดก็สามารถดูจากแผ่นพับที่แจกให้ได้ ดังนั้นทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2.2 การมีส่วนร่วมของอสม.และผู้นำชุมชนในการการดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานของผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากปัญหาที่พบ คือ ผู้ดูแลหลัก มีความเข้าใจที่ไม่เพียงพอในเรื่องโรคเบาหวานและการดูแลสุขภาพ สนับสนุนส่งเสริมผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ดูแลไม่เคยมีส่วนร่วมในการในดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานเลย ผู้ศึกษาและชุมชนจึงร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้น หลังจากได้รับความรู้และทักษะจากกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วพบว่าผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้นทั้งในด้านการกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับยาตามนัดในรายที่ชอบลืมวันนัดรับยาและพาไปรับยาและรับบริการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องตามแผนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน การประกอบอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถรับประทานได้อย่างไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หลีกเลี่ยงการประกอบอาหารที่มีรสหวาน มัน ไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องกินอาหารหวาน มันเพราะไม่อยากให้ต้องเป็นโรคเบาหวานเหมือนผู้ป่วย การกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ดูแลก็ได้มีการออกกำลังกายบริหารร่างกายตามท่าฤๅษีดัดตน 15 ท่า เพราะผู้ดูแลส่วนใหญ่ปฏิบัติแล้วอาหารปวดหลังปวดไหล่จากการทำงานดีขึ้น รวมถึงการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสมและติดต่อประสานอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำและแนวทางการดูแลรวมถึงการส่งต่อได้อย่างทันท่วงที สอดคล้องกับสุนิดา พวงมณี ที่ได้กล่าวไว้ว่า การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลเท้าและการดูแลด้านจิตใจ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะถ้าครอบครัวไม่มีความผูกพันธุ์และไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจะมีความสำเร็จในการรักษาน้อยกว่าครอบครัวที่มีความผูกพันธุ์กันมากกว่า 2.3 การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จากสถานการณ์ปัญหาในชุมชน พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขขาดความรู้ในเรื่องของสถานการณ์และแนวโน้มของโรคเบาหวานในชุมชน ขาดความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการส่งเสริมสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและยังไม่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ที่สำคัญอาสาสมัครสาธารณสุขขาดความรู้และความมั่นใจในการให้บริการตรวจประเมินอาการเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและการวัดความดันโลหิต ผู้ศึกษาจึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน และฝึกทักษะให้อาสาสมัครสาธารณสุขสามารถประเมินอาการเบื้องต้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและการวัดความดันโลหิต รวมถึงการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน พบว่า ผู้นำชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ผู้นำชุมชนให้ความสนใจและตระหนักในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้น มีการเข้าร่วมและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขมีความรู้และความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้นโดยเฉพาะการประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินก่อนทำการช่วยเหลือลำดับต่อไป สามารถปฏิบัติการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วและวัดความดันโลหิตให้กับผู้ป่วยที่สุขศาลาโดยอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีความมั่นใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเปลี่ยนแปลงในภาวะฉุกเฉินด้วยตอนเองและร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างเมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับ นีรนาท ที่กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขและชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและได้แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเองและการมีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในชุมชน 2.4 การพัฒนารูปแบบบริการและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งในสถานบริการและในชุมชน จากปัญหาที่พบ คือ การให้บริการในคลินิกโรคเบาหวานของสถานพยาบาลไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนทำให้เกิดปัญหาในบริการ คือ ผู้ป่วยต้องอดน้ำ อดอาหารเป็นเวลานานและต้องเสียเวลากับการมารับบริการคลินิกโรคเบาหวานเป็นเวลานานทำให้ไม่สามารถไปทำงานหรือทำอย่างอื่นได้ในวันนั้น และเนื่องจากการให้บริการในวันคลินิกโรคเบาหวานมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมารับบริการเป็นจำนวนมากทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้ความรู้กับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง การรับบริการในแต่ละครั้งจะเป็นเพียงการมารับยาเท่านั้นเจ้าหน้าที่มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยน้อยมากจะสามารถทำได้เพียงการให้สุขศึกษารายบุคคลบางรายเท่านั้นทำให้ผู้ป่วยบางส่วนรับประทานยาไม่ถูกบ้าง ลืมนัดบ้างและส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับโรค ส่วนการให้บริการในชุมชนพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านที่เหมาะสม และไม่มีแนวทางการเยี่ยมบ้านที่ชัดเจนทำให้ไม่มีความยั่งยืน จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ศึกษาและชุมชนร่วมกันพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งในสถานบริการและในชุมชนขึ้น หลักการพัฒนาพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการบริการของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั้งในสถานบริการและในชุมชน ผู้ป่วยไม่ต้องอดน้ำอดอาหารเป็นเวลานาน ลดระยะเวลาในการให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานในคลินิกโรคเบาหวานในแต่ละเดือน ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับความรู้ในการดูแลตนเองและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับโรค มีแนวทางการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ชัดเจนมากขึ้น คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนจะได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือกลับจากเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลจะได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติจึงจะได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้งเหมือนคนอื่นๆ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีความรู้ความสามารถ และได้ฝึกทักษะการประเมินอาการและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะ 1. การที่ผู้ป่วยจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่องนั้นทั้ง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ดูแลหลัก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ควรได้รับการฟื้นฟูความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นการฟื้นฟูความรู้อยู่เสมอ 2. การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการประเมินอาการผู้ป่วยโรคเบาหวานก็ ควรปฏิบัติอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากอาสาสมัครสาธารณสุขปะจำหมู่บ้านมีการลาออกและเข้าใหม่อยู่ตลอดและเป็นการฟื้นฟูความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอเพื่อให้การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคเบาหวานในชุมชนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การจัดกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นควรมีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น การออกกำลังกายซึ่งอาจจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยอยากออกกำลังกายมากขึ้นเมื่อมารวมกลุ่มกับผู้ป่วยคนอื่นๆหรือคนที่มีอายุใกล้เคียงกัน และควรมีการหาผู้นำในการทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)