ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : แนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาในบ้านเราพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 4-6 ของประชากรทั่วไป และพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มีการสำรวจพบว่าคนไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวาน ร้อยละ 9.6* ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ และมักมีภาวะน้ำหนักเกินร่วมด้วย (สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, 2553) โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วย ต่อครอบครัว ต่อประเทศชาติ เนื่องจากโรคนี้เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หายขาดและต้องดูแลต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานไม่เพียงแต่มีผลกระทบทางกายแต่รวมไปถึงทางจิตใจ ที่ผู้ป่วยอาจมีความไม่สบายใจในการควบคุมอาหาร ในการมาติดตามนัดต่อเนื่อง ต้องกินยา หรือฉีดยา การดูแลตนเองครอบครัวต้องร่วมรับรู้ให้กำลังใจ ทีมที่ให้การดูแลรักษาต้องเน้นตามมาตรฐานการรักษาและการส่งตรวจ คัดกรองโรคแทรกซ้อน ต้องมีการทำงานเป็นทีมแบ่งหน้าที่ร่วมดูแลผู้ป่วยและครอบครัว (กระทรวงสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง, 2554) โรคเบาหวานเป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย สาเหตุการเกิดโรคมีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของคนไทย อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ 2541-2551) พบคนไทยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า เฉพาะปี 2551 มีผู้ที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยโรคเบาหวานคิดเป็นนาทีละ 49 ครั้งและอัตราความชุกของโรคเบาหวานสูงขึ้นอย่างมาก จากการสำรวจสถานะสุขภาพอนามัยของคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ในช่วงปี 2547 – 2549 พบว่าอัตราความชุกของโรคเบาหวานมีถึงร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3.2 ล้านคน แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อของคนไทยเพิ่มมากขึ้นในประชากรที่มีอายุมากคือ กลุ่มอายุ 45 – 59 ปี เป็นกลุ่มที่เริ่มพบการเกิดโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อสูงขึ้นโดยพบโรคเบาหวานในชายร้อยละ 11.4 หญิงร้อยละ 12.4 (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2549) คาดว่าคนไทยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน กำลังเผชิญกับโรคเบาหวาน ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทำให้พฤติกรรมต่างๆรวมทั้งพฤติกรรมสุขภาพเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือ การเกิดโรคต่างๆ ซึ่งมีพฤติกรรมสำคัญที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจาก พันธุกรรม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน จากสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้การดำเนินชีวิตของคนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้ พฤติกรรมต่างๆของบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งพฤติกรรมสุขภาพ เช่น บริโภคนิสัยหรือพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนเป็นนิยมบริโภคอาหาร ไขมันสูง โปรตีนสูง กากใยต่ำ ประกอบกับขาดการออกกำลังกาย ได้ส่งผลต่อภาวะสุขภาพของบุคคล เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆที่เกิดจากนิสัยการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของบุคคล เช่น ภาวะความอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย(BMI)ในชายมากกว่าหรือเท่ากับ 24 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และในหญิงมากกว่าหรือเท่ากับ 21 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนจากบริโภคนิสัยที่เสี่ยงเป็นบริโภคนิสัยที่เหมาะสม โรคเบาหวานเป็นสาเหตุทำให้เกิดการป่วยและตายก่อนวัยอันสมควร จากภาวะแทรกซ้อนต่อฟันและเหงือก ตา ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดสมอง โดยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานเกือบร้อยละ 50 (กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2551) การค้นหาผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ยังไม่มีอาการ การลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงเป็นมาตรการที่จะช่วยลดและชะลอการเกิดโรคและผลกระทบดังกล่าว ซึ่งโรคเบาหวานมีสาเหตุหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกันที่สามารถป้องกันได้ ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศไว้ว่าโรคเบาหวานชนิดที่2 มากกว่าร้อยละ 80 สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภคอาหารให้เหมาะสม (สุดสงวน ชิณโน, 2553) จากสถานการณ์โรคเบาหวานทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจเพื่อการรักษาโรคเบาหวาน พบว่าค่าใช้จ่ายมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปีในปี 2549 มีค่าใช้จ่ายประมาณ 7,702 – 18,724 บาท ต่อคนต่อปีและในปี 2552 ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคสูงถึง 3.8 – 9.2 หมื่นล้านบาทต่อปีซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นค่ายา ค่ารักษา เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน และการสูญเสียที่คิดมูลค่าไม่ได้ เช่น เกิดการพึ่งพาคนอื่นอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจก่อให้เกิดความพิการ หรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน นอกจากการสูญเสียที่กล่าวมาแล้วนั้น โรคเบาหวานยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงซึ่งโรคแทรกซ้อนที่สำคัญได้แก่ ตาบอด ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง การถูกตัดขาจากแผลติดเชื้อลุกลามปลายประสาทอักเสบทำให้ชาตามปลายมือปลายเท้า และทำให้เกิดแผลอักเสบที่เท้า จนอาจต้องตัดขา ซึ่งอัตราการตัดขาในผู้ป่วยเบาหวาน มีตั้งแต่ 2.1 ถึง 13.7 รายต่อพันคนต่อปี และหลังถูกตัดขาข้างหนึ่งไปแล้ว พบว่ามากกว่า ร้อยละ 50 จะถูกตัดขาอีกข้างภายใน 2 – 3 ปีและผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร พบว่าผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานก่อนอายุ 35 ปี จะมีอายุสั้นลงกว่าผู้ที่ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ผลกระทบทางด้านร่างกาย อาจก่อให้เกิดความพิการ และเสียชีวิต สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานจังหวัดกาฬสินธุ์ โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยในปี 2551 พบว่าอัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานของจังหวัดเท่ากับ 1,490.6 ต่อประชากรแสนคน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,524.2 ต่อประชากรแสนคนในปี 2552 ตามลำดับ(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2553) การลดภาวะโอกาสเสี่ยงและความรุนแรงของโรคเบาหวานให้ได้ผลนั้น ต้องมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต วิถีชีวิตที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ระบบบริการสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานแบบผสมผสาน สร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงวัยของชีวิต ในบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประชาชนไทยทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 – 5 ธันวาคม 2552 เพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน โดยมีผู้รับการคัดกรองเบาหวานทั้งหมด 20,985,133 คน พบว่า ปกติ 17,861,207 คน (85%) กลุ่มเสี่ยงสูง 1,710,521 คน(8.2%) กลุ่มเบาหวานรายใหม่ 353,189 คน (1.7%) กลุ่มเบาหวานรายเก่า 1,070,777 คน (5.1%) สถานการณ์โรคเบาหวาน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี2554 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2,900 คน คิดเป็นอัตราป่วย 2,333 ต่อแสนประชากร ปี2555 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3,379 คน คิดเป็นอัตราป่วย 2,718 ต่อแสนประชากร และในปี2556 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3,579 คน คิดเป็นอัตราป่วย 2,873 ต่อแสนประชากร โดยในปี 2556 มีประชากรอายุ 35ปีขึ้นไป จำนวน 60,701 คน ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวาน จำนวน 54,697 คน คิดเป็นร้อยละ90.11 มีผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน จำนวน 3,526 คน คิดเป็นร้อยละ6.45 และมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มสงสัยเป็นโรคเบาหวานในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2,106 ราย และได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์เป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 204 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.69 ( สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง, 2556) สถานการณ์โรคเบาหวาน ตำบลกลางหมื่น(โซนเหล่ากลาง)ในปี2556 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 73 คน คิดเป็นอัตราป่วย 33.79 ต่อประชากรพันคน ปี2557 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 74 คน คิดเป็นอัตราป่วย 34.25 ต่อประชากรพันคน และในปี2558 พบจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน 76 คน คิดเป็นอัตราป่วย 35.18 ต่อประชากรพันคน โดยในปี 2558 มีประชากรอายุ 35ปีขึ้นไป จำนวน 582 คน ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวาน จำนวน 580 คน คิดเป็นร้อยละ 99.66 มีผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน จำนวน 102 คน คิดเป็นร้อยละ 17.53 และมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มสงสัยเป็นโรคเบาหวานในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 12 ราย และได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์เป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.67 (รพ.สต.บ้านเหล่ากลาง, 2559) จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงมีความสนใจที่จะศึกษาแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ และเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภคอาหารให้เหมาะสม จะส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพดี ซึ่งการมีสุขภาพดีจะสามารถลดอุบัติการณ์ในการเกิดโรคต่างๆ และทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการใช้บริการทางการแพทย์ และจะมีผลไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาผลการใช้แนวทางแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : 1. ประชากรเป้าหมาย การศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และผู้รับผิดชอบงานโรคไม่ติดติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข 2. กลุ่มตัวอย่าง คัดเลือกแบบเจาะจง จากประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่รับผิดชอบของรพ.สต.ทั้ง 6 หมู่บ้าน ตามบัญชีรายชื่อทะเบียนผู้มารับบริการ เกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง 2.1 มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป 2.2 มีระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 mg/dl 2.3 มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ 2.4 สามารถอ่านเขียนไทยได้ 2.5 ยินดีเข้าร่วมโปรแกรม ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 24 คน และ และผู้รับผิดชอบงานโรคไม่ติดติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 6 คน  
เครื่องมือ : เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล 2.1 อุปกรณ์เครื่องมือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ เครื่องกลูโคสมิเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว (Capillary blood glucose monitoring, CBG) 2.2 แบบสอบถาม ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นประกอบด้วย 5 ส่วน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.การศึกษาและพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ของประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้ 1.1 การนำเสนอ และวิเคราะห์สถานการณ์โรคเบาหวาน 1.2 การนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของประชาชนกลุ่มเสี่ยว 1.3 การกำหนดแนวทางร่วมกันโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2. การนำแนวทางแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ของประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมครั้งที่ 1 ,สัปดาห์ที่ 1 จัดกิจกรรมสุขศึกษา ระยะก่อนชั่งใจ (Precontemplation) กิจกรรมครั้งที่ 2, สัปดาห์ที่ 2 จัดกิจกรรมสุขศึกษา ระยะชั่งใจ (contemplation) กิจกรรมครั้งที่3,สัปดาห์ที่ 3 จัดกิจกรรมสุขศึกษา ระยะพร้อมปฏิบัติ (Ready for Action) กิจกรรมครั้งที่ 4 , สัปดาห์ที่ 5 ระยะคงไว้ซึ่งพฤติกรรม (Maintenance) 3. การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือด ของประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยทำการติดตามประเมินผลหลังจาการใช้แนวทางทันที และหลังใช้แนวทางแล้ว 2 สัปดาห์  
     
ผลการศึกษา : จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าแนวทางการเสริมสร้างบริโภคนิสัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยการประยุกต์ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Stage of Change) ประกอบด้วย ๕ ขั้น คือ ขั้นก่อนชั่งใจ ขั้น ชั่งใจ ขั้นพร้อมจะปฏิบัติ ขั้นปฏิบัติ และขั้นคงไว้ซึ่งพฤติกรรม เพื่อให้หลีกเลี่ยง ลด ละ เลิกบริโภคนิสัยที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการกลุ่มในการวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเหล่ากลาง ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จ และได้ผลที่ดี และมีความคงอยู่ ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เกิดความตั้งใจ ความตระหนัก และการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการบริโภคอาหารโดยลด ละ เลิก และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและบริโภคนิสัยที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ในทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)