ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก “ดี เอส โมเดล” บ้านดงสวนพัฒนา ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : กฤตเมธ อัตภูมิ , วิชัย ขันผนึก ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : การระบาดของโรคไข้เลือดออกของอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 มีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออก 27.23 ,108.91 ,330.62, 86.66 และ 443.42ตามลำดับ (อัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก < 50 ต่อแสนประชากร)ปี 2558 ในช่วงเดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม 2558ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 44 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 406.27/100,000 ปชก. ซึ่งเป็นการระบาดสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำม่วง, 2558) การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเนื่องจากเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนขาดความตระหนัก และความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก(ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ และคณะ, 2556)มาตรการสำคัญที่น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกควรเน้นที่ 2 มาตรการ คือ มาตรการ ที่ 1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (สุปรียา ตันสกุล, 2550) และมาตรการที่ 2 การมีส่วนร่วมของชุมชน (ชนินทร์ เจริญสุข, 2545)  
วัตถุประสงค์ : 1) พัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ตัวแทนครัวเรือนตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1640 ครัวเรือน กลุ่มตัวอย่าง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงที่สุด ระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2558 ในเขตอำเภอคำม่วง คือ ตำบลนาทัน จากนั้นเลือกหมู่บ้านที่มีอัตราป่วยในช่วงเวลาเดียวกันที่ใกล้เคียงกัน แล้วใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับสลาก ให้ได้จำนวน 2 หมู่บ้านและพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเข้าศึกษาคือ ตัวแทนครัวเรือนอายุ 18 ปีขึ้นไป อ่านออกเขียนได้ สื่อสารได้อย่างชัดเจน ไม่ย้ายออกจากหมู่บ้านในระยะดำเนินการวิจัย และสมัครใจเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งได้แก่ หมู่ที่ 15 บ้านดงสวนพัฒนาตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 120 ครัวเรือน และหมู่ที่ 16 บ้านนาไร่เดียวตำบลนาทัน เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ จำนวน 116 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 236 ครัวเรือนกลุ่มทดลอง  
เครื่องมือ : 1.เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรงต่อโรคไข้เลือดออก พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และแบบสำรวจภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย 2.เครื่องมือในการพัฒนา ได้แก่ โปรแกรมการพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย การสร้างองค์ความรู้เรื่องไข้เลือดออก โดยการบรรยายให้ความรู้ การทำแผนที่วิเคราะห์ความเสี่ยง การใช้สื่อวีดีทัศน์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยวิเคราะห์ปัญหา ระดมความคิดหามาตรการ วิธีการในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก การวางแผนการดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ขั้นตอนการพัฒนา ประกอบด้วย การสร้างองค์ความรู้เรื่องไข้เลือดออก โดยการบรรยายให้ความรู้ การทำแผนที่วิเคราะห์ความเสี่ยง การใช้สื่อวีดีทัศน์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยวิเคราะห์ปัญหา ระดมความคิดหามาตรการ วิธีการในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก การวางแผนการดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก กลุ่มเปรียบเทียบดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรงต่อโรคไข้เลือดออก พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และแบบสำรวจภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย เก็บข้อมูลก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4, สัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติเชิงพรรณนา และทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ Repeated Measure ANOVA with Generalized Estimate Equation(GEE)  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า หลังจากได้รับโปรแกรมการพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกสัปดาห์ที่4 พบว่า ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรงต่อโรคไข้เลือดออก พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และสัดส่วนของจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลายทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ส่วนในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05และความแตกต่างของอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกก่อนทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออก 147.73/100,000 ปชก. และ 156.97/100,000 ปชก.หลังการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออก9.23/100,000 ปชก. และ 92.34/100,000 ปชก. ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มทดลองมีอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกลดลง นอกจากนี้เกิดนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น จุลินทรีย์หน่อกล้วยกำจัดลูกน้ำ ตุ๊กตาปูนแดง มะกรูดลอยน้ำ ระบบน้ำหยด กับดักยุง เป็นต้น และสูตรในการพ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ “1-3-7 พิชิตยุงลาย”  
ข้อเสนอแนะ : รูปแบบการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกบ้านดงสวนพัฒนา “ดี เอส โมเดล” ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายลดลงส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกในชุมชนได้ และควรนำผลการศึกษาไปเป็นแนวทางการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกหรือนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้  
     
รางวัลที่ได้รับ : ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ระดับ ระดับจังหวัด  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง