ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : นวัตกรรม ถุงผ้าใส่ยา มาหาหมอ
ผู้แต่ง : กัลยา พลซ้าย ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ในปัจจุบันประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหายาเหลือใช้ในครัวเรือนที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ในการรักษาโรคของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในครัวเรือน การมียาเหลือใช้ในครัวเรือนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญที่ผู้ป่วยหลายคนมียาเหลือใช้มากมายเพียงนี้คือ ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่งสูงถึง 90% และใน จำนวน 90% ที่ไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่งนั้น 25% รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ส่วนอีก 65% ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาเลย จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการใช้ยาและยาเหลือใช้ตามบ้าน อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ จากผลการรักษาที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย และภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นที่ตามมาได้"สาเหตุหนึ่งของยาเหลือใช้ เป็นเพราะมีการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นยาต่างประเทศที่มีราคาแพง การจ่ายยาครั้งละหลายๆ เดือน พบว่ามียาเหลือใช้ในครัวเรือนจำนวนมาก""สาเหตุเพราะผู้ป่วยซื้อยามาเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมดเพราะอาการหายไปแล้ว หรือจากการที่แพทย์เปลี่ยนการรักษามาใช้ยาตัวใหม่ ยาเดิมไม่ใช้แล้วแต่ผู้ป่วยยังมียาเหลือจำนวนมาก หรือบางครั้งผู้ป่วยปรับลดขนาดยาที่ใช้เอง หรือผู้ป่วยเสียชีวิต หรือจากการที่ผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีความเชื่อผิดๆ (ที่มา : http://www.thaihealth.or.th) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านภูฮัง รับผิดชอบทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 210 คน การให้บริการคลินิกกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ให้บริการที่สุขศาลา ปัญหาที่พบในการให้บริการแต่ละครั้งในระหว่างรับยา ผู้ป่วยบางรายขอยาเพิ่มบอกยาไม่พอ บางรายบอกไม่เอายา เพราะยาเหลืออยู่ ซึ่งตามหลักความเป็นจริงในการจ่ายยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง แล้วทำไหมจึงเกิดปัญหาว่ายาไม่พอและยาเหลือ ดังนั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านภูฮัง จึงหาวิธีในการแก้ไขปัญหาโดยการใช้ “ถุงผ้าใส่ยา มาหมอ”  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ใช้ยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งได้อย่างถูกต้อง 2.เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ยาและยาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  
เครื่องมือ : 1.แบบสอบถามการใช้ยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง 2.ถุงผ้าใส่ยา มาหาหมอ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.สำรวจการใช้ยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้แบบสอบถาม 2.วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ที่ใช้ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 3.มอบ “ถุงผ้าใส่ยา มาหาหมอ” ให้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 4.ติดตามผลการใช้ถุงผ้าในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในทุกเดือนที่มารับบริการ 5.เปรียบเทียบการใช้ถุงผ้า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้และไม่ใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 6.สรุป ประเมินผล  
     
ผลการศึกษา : การสำรวจการใช้ยาและการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บ้านห้วยหินลาด หมู่ที่ ๘ จำนวน ๒๑ คน พบว่า มีการใช้ยาและการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ส่วนมากรับประทานยาไม่ถูกต้องและยาเหลือ จำนวน ๑๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๔๒ และรับประทานยาได้ถูกต้องและยาพอ จำนวน ๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๕๘ สาเหตุการรับประทานยาไม่ถูกต้องและยาเหลือ ส่วนมากจำวันนัดให้บริการคลาดเคลื่อน จำนวน ๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๖.๖๗ ลืมรับประทานยา จำนวน ๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓๓ รับประทานยาแล้วมีอาการผิดปกติจึงหยุดยาเอง จำนวน ๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๓๓ และมีการปรับยาโดยแพทย์จึงทำให้รับประทานยาไม่ถูกต้อง จำนวน ๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๖.๖๗ การสำรวจจำนวนยาที่เหลือและสอบถามการรับประทานยาที่ถูกต้อง ทุกๆ ๓ เดือน/ครั้ง เปรียบเทียบหลังการใช้นวัตกรรม“ถุงผ้าใส่ยา มาหาหมอ” ระยะเวลา ๓ เดือน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีการรับประทานยาไม่ถูกต้องและยาเหลือ จำนวน ๑๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๑.๔๒ และรับประทานยาได้ถูกต้องและยาพอ จำนวน ๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๕๘ ระยะเวลา ๖ เดือน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยรับประทานยาได้ถูกต้องและยาพอ จำนวน ๑๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๙๐ และรับประทานยาไม่ถูกต้องและยาเหลือ จำนวน ๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๐๙ ระยะเวลา ๙ เดือน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยรับประทานยาได้ถูกต้องและยาพอ จำนวน ๒๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๕.๒๓ และรับประทานยาไม่ถูกต้องและยาเหลือ จำนวน ๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔.๗๖ ความพึ่งพอใจนวัตกรรม “ถุงผ้าใส่ยา มาหาหมอ” ด้านความเหมาะสมของนวัตกรรมต่อการนำไปใช้ ด้านความรู้ความเข้าของเนื้อหาสาระ ด้านความรู้ความเข้าใจต่อนวัตกรรมและด้านประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรม มีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ ๔.๘๓ คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๖๗  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)