ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2559
ผู้แต่ง : ขวัญชัย เบ้าจังหาร ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ในปัจจุบันปัญหาด้านทันตสาธารณสุขเป็นปัญหาที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพราะช่องปากเป็นปราการด่านแรกของระบบทางเดินอาหาร และเป็นส่วนประกอบสำคัญของใบหน้า เด็กอายุช่วง 3 – 5 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในชีวิตพัฒนาการทางด้านต่างๆ การเลี้ยงดูเอาใจใส่จึงมีความสำคัญเป็นอย่ายิ่ง เพื่อให้เด็กได้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางสมอง ทางร่างกายและจิตใจ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลทันตสุขภาพมาโดยตลอด แต่ปัญหาในช่องปากก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังเรื่อยมา โดยเฉพาะปัญหาโรคฟันผุเป็นโรคในช่องปากที่แพร่หลายโรคหนึ่งของประชากรทั่วโลก โรคนี้จะเกิดขึ้นได้ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทุกสถานภาพทางเศรษฐกิจและทุกอายุ แต่ในวัยเด็กจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าในวัยผู้ใหญ่ โรคฟันผุเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคไปอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้รับการตรวจและรักษาในระยะแรก ๆ แล้ว โรคก็จะลุกลามต่อไปจนกระทั่งถึงจุดที่เกิดพยาธิสภาพขึ้นกับเนื้อเยื่อปลายรากฟันและรอบรากฟัน ซึ่งทำให้มีความยุ่งยากในการรักษา เพื่อจะอนุรักษ์ฟันนั้นไว้และมักจะต้องได้รับการรักษาด้วยการถอนออกในที่สุด โรคในช่องปากเป็นโรคที่ป้องกันได้และประชาชนเองเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการป้องกัน เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของการรับประทานอาหารและการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 องศ์การอนามัยโลกได้กำหนดว่า ปัญหาด้านทันตสุขภาพของประเทศไทยเป็นปัญหาสาธารณสุขประการหนึ่ง ที่ต้องรีบแก้ไขด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมองเห็นความสำคัญของงานด้านทันตสาธารณสุข จึงได้มีการบรรจุแผนงานด้านทันตสาธารณสุขลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524 ) มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ลดอัตราโรคฟันผุ และดำเนินการต่อเนื่อง มาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ( พ.ศ. 2525 - 2529 ) ซึ่งได้มีการยึดเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าปี พ.ศ. 2543 มีการกระจายบริการทันตสาธารณสุขไปสู่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านให้มากขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ( พ.ศ. 2530 - 2534 ) ได้เน้นการควบคุมโรคฟันผุในเด็กนักเรียนและประชาชน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ( พ.ศ. 2535 - 2539 ) ได้เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีกิจกรรมเน้นการแก้ปัญหาทางการเจ็บป่วยในช่องปาก ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมป้องกันให้ชุมชนเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาของตน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ( พ.ศ. 2540 - 2545 ) เน้นให้มีการพัฒนาและเน้นลดอัตราการเกิดโรคฟันผุในเด็กนักเรียน จนกระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ( พ.ศ. 2545 - 2549 ) ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพคือ เน้นให้เกิด การสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ โดยเน้นให้มารดาเป็นผู้ดูแลทันตสุขภาพของบุตรอย่างถูกต้อง ซึ่งการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ต้องเริ่มตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้นและดูแลต่อไปอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ในวัยเด็กเริ่มมีพัฒนาการทางสังคมซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการ มีฟันน้ำนมขึ้นเต็มที่ จากรายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2544 ประเทศไทย สภาวะโรคฟันผุในฟันน้ำนมกลุ่มอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นระยะที่มีฟันครบทุกซี่ในช่องปาก ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 65.7 เป็นผู้ที่มีฟันน้ำนมผุ เด็กที่มีฟันผุยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 65 เด็กที่มีการสูญเสียฟัน ร้อยละ 4.58 ค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด 3.61 ซี่ / คน ลักษณะการผุของเด็กจะมีฟันผุมากที่บริเวณ ฟันหน้าบน รองลงมาฟันหน้าล่าง และฟันกรามบน เด็กที่มีฟันผุจะต้องถอนเนื่องจากไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้ร้อยละ 12.2 จากข้อมูลการสำรวจสภาวะทางทันตสุขภาพจังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2558 ในกลุ่มเด็กอายุ 3 ปี พบว่ามีความชุกของโรคฟันผุร้อยละ 37.24 และในปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีความชุกของโรคฟันผุร้อยละ 38.24 ซึ่งมีแนวโน้มในการเกิดโรคฟันผุสูงขึ้น (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์. 2559 : ไม่มีเลขหน้า) และเขตอำเภอกมลาไสยกลุ่มงานทันตสาธารณสุข จากการสำรวจสภาวะฟันผุในปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีความชุกของโรคฟันผุร้อยละ 38.33 ซึ่งสูงกว่าค่ากำหนดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ (กลุ่มงานทันตสาธารณสุขโรงพยาบาลกมลาไสย 2549 :ไม่มีเลขหน้า) จากการสำรวจสภาวะทางทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งหมดจำนวน 100 คน พบเด็กฟันผุ 75 คน (รายงานงวด เมษายน - ตุลาคม 2559) จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าปัญหาการเกิดโรคฟันผุในกลุ่มเด็กเล็กยังมีความชุกและแนวโน้มการเกิดโรคอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเด็กวัยนี้ควรได้รับการดูแลทันตสุขภาพอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมทันตสุขภาพในเด็กและสามารถนำไปแก้ไขปัญหาที่แท้จริงในชุมชนได้อย่างประสิทธิภาพ เมื่อคำนึงถึงทรัพยากรและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาทันตสาธารณสุขของตำบลหนองแปน จะมุ่งเน้นการทำงานในชุมชนและส่งเสริมทันตสุขภาพของประชาชน เน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลทันตสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ ดังนั้นจึงมีได้ทำการศึกษา พฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2559  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาความรู้ของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3. เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 4. เพื่อศึกษาการปฏิบัติของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ปกครองเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งหมดจำนวน 100 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ติดต่อประสานงานกับและขออนุญาตครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้แจงวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบแบบสอบถามแก่ผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครองเด็ก เพื่อเก็บข้อมูล 2. ดำเนินการในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง 3. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของแบบสอบถามและเก็บรวบรวมข้อมูล 4. ลงรหัสและบันทึกข้อมูล 5. ตรวจสอบความถูกต้องในการนำเข้าข้อมูล 2 ครั้ง โดยนำมาเปรียบเทียบความถูกต้อง 6.การวิเคราะห์ข้อมูล  
     
ผลการศึกษา : ความรู้ของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความรู้ในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับดี จำนวน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 71 ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาของจิตติมา ไชยประโคม ได้ศึกษาวิจัยเรื่องความรู้ และพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพของผู้ปกครองเด็กอายุ 3- 5ปี พบส่วนใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง และวิภารัตน์ คิดกล้า ( 2548 ) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์เด็กเล็กตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ พบว่าส่วนใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง และสอดคล้องกับการศึกษาของชาญ สุขกาย (2546) ได้ทำการศึกษาความรู้และการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพช่องปากที่เกี่ยวกับการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 – 5 ปี ของผู้ปกครอง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานีอนามัยดอนชุมช้าง ตำบลโนนทองหลาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบว่าผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่มีความรู้ในการดูแลทันตสุขภาพช่องปากที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคฟันผุอยู่ในระดับสูง ทัศนคติของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีทัศนคติในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับทัศนคติปานกลาง จำนวน 75 คน คิดเป็นร้อยละ 75 ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาของ วิภารัตน์ คิดกล้า ( 2548 ) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์เด็กเล็กตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ พบว่าผู้ปกครองมีทัศนคติในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับสูง และพัชรี ศรีชัย ( 2545 ) ศึกษาความรู้เจตคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กต่อการป้องกันโรคฟันผุในกลุ่มเด็กอายุ 3 – 5 ปี ในเขตรับผิดชอบ สถานีอนามัยตำบลดงใหญ่ ตำบลดงใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่พบว่าผู้ปกครอง มีทัศนคติในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับสูง และสอดคล้องกับการศึกษา ของประภาภรณ์ ลาภสาร ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กอายุ 3 – 5ปี ของผู้ปกครอง ตำบลโพนทอง กิ่งอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา พบว่าส่วนใหญ่มีทัศนคติ อยู่ในระดับปานกลาง และพัชรี ศรีชัย ( 2545 ) ศึกษาความรู้เจตคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพ ช่องปากของเด็กต่อการป้องกันโรคฟันผุในกลุ่มเด็กอายุ 3 – 5 ปี ในเขตรับผิดชอบ สถานีอนามัย ตำบลดงใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่มีเจตคติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากและการป้องกันโรคฟันผุในระดับสูง พฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับปานกลางจำนวน 61 คน คิดเป็นร้อยละ 61 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ประภาภรณ์ ลาภสาร ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กอายุ 3 – 5 ปี ของผู้ปกครอง ตำบลโพนทอง กิ่งอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา พบว่าพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับปานกลาง และชาญ สุขกาย (2546 : 46) ได้ทำการศึกษาความรู้และการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพช่องปากที่เกี่ยวกับการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 – 5 ปี ของผู้ปกครอง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานีอนามัยดอนชุมช้าง ตำบลโนนทองหลาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบว่าพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับปานกลาง  
ข้อเสนอแนะ : 1. จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับดี ระดับทัศนคติปานกลางและระดับการปฏิบัติปานกลาง ซึ่งขัดแย้งกับการออกตรวจสุขภาพช่องปากเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบว่าเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีฟันผุถึง 75 คนซึ่งถือว่าเยอะมากควรให้ผู้ปกครองมีความตระหนักและใส่ใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ 2. ควรมีการตรวจฟันเด็กทุก 3 เดือน และรายงานผลการตรวจฟันให้ผู้ปกครองทราบ โดยการจัดการประชุมผู้ปกครองปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3. ควรให้ครูพี่เลี้ยงมีส่วนร่วมในการกระตุ้นพฤติกรรมในการดูแลทันตสุขภาพของเด็ก ก่อนวัยเรียน โดยมีการสอนและฝึกแปรงฟันแบบง่ายๆให้เด็ก  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง